เบื้องลึก"กำลังรบ"สลายฝูงชน
![]() |
แต่ผลการปฏิบัติภารกิจอันสำคัญนี้ "ปราศจาก" การสูญเสียชีวิตของประชาชน "ด้วยน้ำมือทหาร"
แม้ว่าจะมีผู้บาดเจ็บจากเหตุการณ์ "สลายการชุมนุม" แต่ทุกอย่างเกิดขึ้นบนพื้นฐานที่เจ้าหน้าที่รัฐเคารพ "สิทธิมนุษยชน" โดยทหารจะปฏิบัติเพียงเพื่อ "ป้องกันตนเอง" และ "ยุติความรุนแรง"
และที่ถือเป็น "โล่ห์ป้องกัน" ในการปฏิบัติหน้าที่ของทหารครั้งนี้ คือ การเปิดโอกาสให้สื่อมวลชนติดตามเสนอภาพข่าวทุกขั้นตอน เพื่อสื่อให้ทั่วโลกเห็นและรับรู้ข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น
ถือเป็นการป้องกัน "เหตุไม่คาดฝัน" ที่จะถูกจุดเป็นประเด็นได้ในยุคสงครามข้อมูลข่าวสารที่มีทั้ง "ข่าวจริง" และ "ข่าวลือ"
ปฏิบัติการ "ยุติม็อบเพื่อชาติ" เป็นความสำเร็จของรัฐบาลและทหารทุกคนที่ออกมาปฏิบัติภารกิจสร้าง "ศรัทธากลับคืน" ให้กับรัฐบาลและกองทัพ หลังตกเป็น "โจ๊กเกอร์" จากเหตุม็อบบุกสถานที่ประชุมผู้นำอาเซียนที่ อ.พัทยา จ.ชลบุรี เป็นเหตุให้ "เวทีถกผู้นำ" ต้องยกเลิกและเลื่อนไปไม่มีกำหนด
![]() |
การปฏิบัติภารกิจสลายการชุมนุมของทหารครั้งนี้ นำบทเรียนจากเหตุการณ์ "พฤษภาทมิฬ" มาปรับใช้ทบทวน "ความผิดพลาด" ในอดีต นอกจากนี้ ภายหลังเหตุการณ์ "พฤษภาทมิฬ" กองทัพได้จัดฝึกกำลังทหาร "เน้นยุทธวิธี" การปราบปราม ควบคุม และสลายฝูงชน ในทุกหน่วยของกองทัพ โดยตั้งเป็น "กองร้อยปราบจลาจล" แต่ภายหลังให้เปลี่ยนชื่อเป็น "กองร้อยรักษาความสงบ"
ทั้งนี้ สำหรับกำลังทหารที่ใช้ในการ "ยุติการชุมนุม" ในช่วง 13-14 เมษายนที่ผ่านมา กองทัพใช้กำลังทั้งสิ้นประมาณ 40 กองร้อย โดยเน้นกำลังทหารของกองทัพภาคที่ 1 และกำลังหลักใน กทม. อาทิ กำลังทหารจากกองพลที่ 1 รักษาพระองค์ (พล.1 รอ.),มณฑลทหารบกที่ 11,มณฑลทหารบกที่ 14,กำลังของกองพลทหารราบที่ 2 รักษาพระองค์ (ร.2 รอ.) จ.ปราจีนบุรี สนับสนุนส่งกำลังกองพันทหารราบที่ 2 กรมทหารราบที่ 12
กำลังจากหน่วยบัญชาการป้องกันภัยทางอากาศ (นปอ.),กำลังจากกองพลทหารม้าที่ 2 รักษาพระองค์ (พล.ม.2 รอ.),กองพลทหารราบที่ 9 (พล.ร.9) จ.กาญจนบุรี สนับสนุนกำลังกองพันทหารราบที่ 3 กรมทหารราบที่ 9,กำลังหน่วยเคลื่อนที่เร็ว (อาร์ดีเอฟ) จากกรมทหารราบที่ 31 รักษาพระองค์ (ร.31 รอ.) และหน่วยแทรกซึมจากหน่วยบัญชาการสงครามพิเศษ (นสศ.) จ.ลพบุรี
![]() |
สำหรับแผนปฏิบัติการต้องสอดรับกับนโยบายที่คณะกรรมการอำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (กอฉ.) มอบหมายภารกิจให้ คือ 1.ดูแลพื้นที่ที่มีการกระทำผิดกฎหมาย 2.ควบคุมเหตุวุ่นวายทุกพื้นที่ เช่น ต้องเปิดเส้นทางจราจรในพื้นที่ซึ่งผู้ชุมนุมปิดถนน 3.ป้องกันเหตุวินาศกรรม และ 4.สลายการชุมนุม ทั้งนี้ มาตรการดำเนินการต้องปฏิบัติจากเบาไปหาหนัก
ส่วนขั้นตอนการสลายการชุมนุมในแต่ละจุดที่มีการประชิดกันนั้น กำลังทหารจะมีการแบ่งภารกิจ แบ่งเป็นชั้นชัดเจนในการเข้าสลายฝูงชน โดยแต่ละครั้งจะมีการตั้งแถวหน้ากระดาน แล้วค่อยเดินเข้าหาฝูงชน แบ่งเป็น "ด่านหน้า" จะมีทหารที่ถือโล่ห์และกระบอกเป็นอาวุธ
"ด่านรอง" เป็นทหารที่มีอาวุธปืนเอ็ม 16 ที่บรรจุ "กระสุนซ้อมรบ" หรือ "กระสุนแบงท์" ซึ่งจะยิงเมื่อมีความจำเป็นต้องป้องปรามกลุ่มผู้ชุมนุมที่วิ่งกรูเข้าประชิด
และ "ด่านหลัง" เป็นทหารที่มีอาวุธเอ็ม 16 บรรจุกระสุนจริง แต่การยิงทุกครั้งต้อง "ยิงขึ้นฟ้า" เพื่อใช้ข่มขวัญผู้ชุมนุมให้ล่าถอยกลับไป
ทั้งหมดคือกรอบของ "แผนและยุทธวิธี" ที่ผู้บังคับบัญชามอบหมายและทำความเข้าใจกับกำลังพล ส่วนขั้นตอนปฏิบัติจริงว่า "ผิดเพี้ยน" หรือ "ตรงตามหลัก" คงต้องให้ประชาชนเป็นผู้ตัดสินทั้งจากภาพข่าว ภาพถ่าย และประชาชนที่เฝ้าติดตามการทำงานของเจ้าหน้าที่ตลอดทั้งวันในแต่ละพื้นที่
ต้องถือว่าการปฏิบัติภารกิจของทหารครั้งนี้ "ลงเอยด้วยดี" และที่สำคัญคือ ความร่วมมือของแกนนำผู้ชุมนุมที่ "ยอมยุติการชุมนุม" ในสมรภูมิใหญ่ คือ "ทำเนียบรัฐบาล" ที่หากไม่ยอมยุติการชุมนุมในวันที่ 14 เมษายนที่ผ่านมา ก็ไม่แน่ว่าสงกรานต์ปีนี้อาจเป็น "สงกรานต์เลือด" และคงไม่เห็นภาพ "ความสำเร็จ" ของทหารและรัฐบาลหนนี้
สิ่งที่เกิดขึ้นกับประเทศไทยใน "ช่วง 3 วันอันตราย" ตั้งแต่วันที่ 12,13 และ 14 เมษายนที่ผ่านมา ถือเป็นบทเรียนสำคัญของคนไทยและหันหลังกลับมาดู "ความแตกแยก" ที่เกิดขึ้นเป็นสิ่งประชาชนคนไทยต้องการหรือไม่..
เพราะสงครามการเมืองแบบนี้ "คนที่แพ้" คือ "คนไทยทั้งชาติ" ...
หน้า 11
http://www.matichon.co.th/matichon/view_news.php?newsid=01pol02160452§ionid=0133&day=2009-04-16
Rediscover Hotmail®: Now available on your iPhone or BlackBerry Check it out.
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น