วันพฤหัสบดีที่ 16 เมษายน พ.ศ. 2552

ห้องสมุดประชาชน ไม่ใช่สถานที่ของประชาชนไปอ่านหนังสือ

วันที่ 16 เมษายน พ.ศ. 2552 ปีที่ 32 ฉบับที่ 11359 มติชนรายวัน


ห้องสมุดประชาชน ไม่ใช่สถานที่ของประชาชนไปอ่านหนังสือ


คอลัมน์ สยามประเทศไทย

โดย สุจิตต์ วงษ์เทศ




"การอ่านเป็นวาระของชาติ" เป็นคำขวัญให้ความสำคัญการอ่าน ที่กระทรวงศึกษาธิการประดิษฐ์คิดค้นขึ้นมา แล้วโฆษณาผ่านสื่อต่างๆ

ขณะเดียวกัน สื่อต่างๆ พากันเสนอข่าวว่า คนไทยอ่านหนังสือน้อยกว่าคนชาติอื่นๆ บางคนไม่อ่านเลย

ถ้าการอ่านเป็นวาระของชาติ แต่ "ของชาติที่ไม่อ่าน" (หนังสือ) แล้วที่คิดคำขวัญให้เป็นวาระของชาติจะมีประโยชน์อะไร?

"การอ่านเป็นวาระของชาติที่ไม่อ่าน" คงมาจากหลายสาเหตุด้วยกันจนรวบรวมไม่หมด

มีอย่างหนึ่งที่เป็นเหตุสำคัญคือ "ห้องสมุด" เช่น "ห้องสมุดประชาชน" ที่กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) มอบให้สำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) ดูแลทั่วประเทศ

แต่ ศธ. และ กศน. จะรู้หรือไม่ว่า ห้องสมุด "ประชาชน" ไม่ใช่สถานที่ของ "ประชาชน" ไปอ่านหนังสือ หากเป็นของราชการที่อยู่ในอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาดของราชการ

ห้องสมุดประชาชนจึงไม่สนองความต้องการของประชาชนในท้องถิ่นนั้นๆ เพราะมุ่งแต่สนองความต้องการของ "นาย" ในกระทรวงทบวงกรมที่เป็นผลผลิต "ของชาติที่ไม่อ่าน"

เมื่อวงจรอุบาทว์เป็นอย่างนั้นเสียแล้ว ในห้องสมุดประชาชนก็ไม่มีหนังสือน่าอ่าน ถ้าจะมีอยู่บ้างก็เป็นหนังสือพ้นสมัยและล้าสมัย ไม่น่าอ่าน

หนังสือน่าอ่านจะมีน้อย แต่หนังสือไม่น่าอ่านจะมีมากเต็มไปหมด เพราะผู้อำนวยการที่ดูแลห้องสมุดหาหนังสือ "ราชการ" เล่มโตๆ มายัดให้เต็มชั้นหนังสือ เพื่อให้ "นาย" มาตรวจ จะได้ประจบสอพลอด้วยการแสดงประสิทธิภาพกับประสิทธิผลหลอกๆ ของตน

แต่ประชาชนชาวบ้านในชุมชนท้องถิ่นเสียโอกาสมหาศาล

ในที่สุด ประชาชนก็ไม่เข้าห้องสมุดประชาชน เพราะราชการไม่ได้ทำเพื่อสนองความต้องการของประชาชน แล้วประชาชนก็ไม่มีสิทธิไม่มีเสียงว่ากล่าวใดๆ เพราะห้องสมุดประชาชนไม่ใช่ของประชาชน แต่เป็นของราชการ และอยู่ในอำนาจราชการ

การอ่านจึงเป็นวาระของชาติที่ไม่อ่านด้วยประการฉะนี้

แต่กระทรวงศึกษาธิการก็ต้องพยายามต่อไปจนสุดใจขาดดิ้น ให้ประเทศไทยเป็น "ชาติที่อ่าน" อย่างสมภาคภูมิกับคำขวัญที่สู้คิดได้ว่า "การอ่านเป็นวาระของชาติ" (ที่อ่าน)

ที่จริงแล้ว กระทรวงศึกษาฯควรสร้างเครือข่ายไปยังผู้มี "ความรักและศรัทธาอ่าน-เขียน-เรียน-หนังสือ" ยกตัวอย่าง เช่น

คุณมกุฏ อรฤดี (บรรณาธิการบริหารสำนักพิมพ์ผีเสื้อ) ที่เสนอ "โครงการวิจัยระบบหนังสือหมุนเวียน" และ "การจัดห้องสมุดหนังสือดี 100 แห่งในเมืองหลวงกรุงเทพฯ"

นอกจากนี้ ยังมีคนอื่นๆ อีกมากทั้งอยู่ในกรุงเทพฯ และอยู่ต่างจังหวัดที่มีความรักและศรัทธาหนังสือกับห้องสมุด และยินดีร่วมมือทุกอย่างให้ห้องสมุดเป็นของประชาชน

แต่แล้วก็ต้องจำนนต่อความจริงที่ว่าบรรดา "นาย" ล้วนเป็นผลผลิตของ "ชาติที่ไม่อ่าน" จึงไม่สร้างเครือข่ายขอความร่วมมือให้เหนื่อยยาก ดังนั้น ประชาชนรอบๆ ห้องสมุดประชาชนต้องทนซวยไปทั้งปีทั้งชาติ

หน้า 21
http://www.matichon.co.th/matichon/view_news.php?newsid=01pra02160452&sectionid=0131&day=2009-04-16


Rediscover Hotmail®: Get e-mail storage that grows with you. Check it out.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

ผู้ติดตาม

คลังบทความของบล็อก

เกี่ยวกับฉัน

รูปภาพของฉัน
ต้องรู้เท่าทันในการรับรู้ข่าวสารจากทุกแหล่งข่าว/ FACT - Freedom Against Censorship Thailand กลุ่มเสรีภาพต่อต้านการเซ็นเซอร์แห่งประเทศไทย http://facthai.wordpress.com/