วันพุธที่ 22 เมษายน พ.ศ. 2552

ทำไมฝรั่งถึงเรียนภาษาไทยได้เร็วจัง?

วันที่ 22 เมษายน พ.ศ. 2552 ปีที่ 32 ฉบับที่ 11365 มติชนรายวัน


ทำไมฝรั่งถึงเรียนภาษาไทยได้เร็วจัง?


โดย โกวิท วงศ์สุรวัฒน์



ผู้เขียนบังเอิญไปธุระที่โรงเรียนเสนาธิการทหารบก ในกรมยุทธศึกษาทหารบก ที่อยู่ใกล้ๆ กับสถานีรถไฟสามเสนเมื่อไม่กี่วันนี้ มีโอกาสได้รู้จักกับนายทหารอเมริกันคนหนึ่งชื่อ พ.ต.เจมส์ จอนสัน อายุ 32 ปี เป็นนักเรียนนายทหารแลกเปลี่ยนจากสหรัฐอเมริกาผู้กำลังเรียนหลักสูตรเสนาธิการทหารบกอยู่

ระหว่างที่พูดคุยกันอยู่นั้นก็มีคนเดินมาแซวว่า พ.ต.เจมส์ผู้นี้อ่านภาษาไทยได้คล่องและอ่านหนังสือภาษาไทยมากกว่าใครๆ เสียอีก

ผู้เขียนก็เลยหัวเราะแล้วผสมโรงไปด้วยว่าผู้เขียนมีข้อเขียนสั้นๆ ที่เขียนให้ชาวต่างชาติไม่ว่าชาติใดก็อ่านไม่ออกหรอก จึงเป็นเรื่องเฮฮาให้ทดลองกันเลย ซึ่งข้อเขียนดังกล่าวคือ

"โคลงเรือเรือโคลงเพราะโคลง"

ปรากฏว่า พ.ต.เจมส์อ่านได้สบาย ทำเอาผู้เขียนหน้าแตกไปเลย และยิ่งแปลกใจหนักขึ้นไปอีกเมื่อทราบว่าผู้พันเจมส์คนนี้เรียนภาษาไทยก่อนมาเมืองไทยเพื่อศึกษาในโรงเรียนเสนาธิการทหารบกไทยเพียง 10 เดือนเท่านั้น

ผู้เขียนจึงเชิญ พ.ต.เจมส์มาที่บ้านในอีกวันหนึ่งด้วยความอยากรู้ว่า "ทำไมฝรั่งถึงเรียนภาษาไทยได้เร็วจัง" ทั้งๆ ที่ภาษาไทยยากกว่าภาษาอังกฤษตั้งเยอะแยะ ไม่ต้องดูอื่นไกลแค่เปรียบเทียบพยัญชนะกับสระก็เห็นได้ชัดคือ ภาษาอังกฤษมีพยัญชนะ 21 ตัว และสระเพียง 5 ตัว ในขณะที่ภาษาไทยมีพยัญชนะตั้ง 44 ตัว และมีสระอีกถึง 32 ตัว แถมยังมีวรรณยุกต์อีก 4 ตัว แต่มีถึงห้าเสียง

ที่สำคัญคือ พ.ต.เจมส์เรียนภาษาไทยเพียง 10 เดือนแล้วมานั่งเรียนในโรงเรียนเสนาธิการทหารบกมาฟังการบรรยายเป็นภาษาไทยล้วน แถมผู้พันเจมส์ยังถามคำถามและแสดงความคิดเห็นเป็นภาษาไทยมากกว่านายทหารนักเรียนคนไทยทั้งหมดอีกด้วย ซึ่งนักเรียนนายทหารที่เป็นคนไทยก็เหมือนกับคนไทยทั่วไปคือ นั่งเรียนไปเฉยๆ ไม่ค่อยถามหรือแสดงความคิดเห็นแต่อย่างใด

ผู้เขียนมีความหังที่จะหาประโยชน์จากการสนทนาเพื่อที่จะได้ความกระจ่างว่าทำไมคนไทยจึงเรียนภาษาอังกฤษไม่ได้เรื่องสักทีทั้งๆ ที่ตะบี้ตะบันเรียนกันมาตั้ง 12-16 ปีมาแล้วทั้งนั้น

ผู้พันเจมส์บอกผมว่าการเรียนภาษาไทยของเขานั้นอยู่ที่การฟังเป็นหลัก เขาจะเปิดอินเตอร์เน็ตฟังข่าวสารของเมืองไทยเป็นภาษาไทยและเปิดทิ้งไว้ทั้งวันเพื่อที่จะจับจังหวะการพูดการออกเสียงภาษาไทย ซึ่งภาษาไทยก็เหมือนกับภาษาอื่นๆ ทั่วโลก กล่าวคือ การพูดหรือการอ่านออกเสียงนั้นในทุกภาษาจะมีช่องว่างระหว่างการพูดและการอ่านแม้ว่าภาษาไทยจะเขียนติดกันเป็นพืดไปเลยก็ตาม แต่เมื่อพูดหรืออ่านแล้วจะมีช่องเว้นวรรคเป็นจังหวะอยู่เสมอ

เมื่อใดเราจับจังหวะของการพูดและการอ่านได้แล้วก็จะฟังภาษานั้นๆ ได้สะดวกขึ้น

คุณเจมส์บอกผมว่าเขาต้องดูละครน้ำเน่าแบบละครหลังข่าวช่วงค่ำระหว่างเรียนภาษาไทย ซึ่งมีอัดเป็นซีดีไว้ขายเยอะแยะที่อเมริกาเพราะจำเป็นต้องเรียน "ภาษาหัวใจ" ด้วย

ภาษาหัวใจคือภาษาที่เกี่ยวกับใจนั่นเอง เช่น ชอบใจ เสียใจ ดีใจ ฯลฯ ตลอดจนที่เกี่ยวข้องกับอารมณ์ ความรู้สึก เช่น รัก ชัง หมั่นไส้ (อันนี้คุณเจมส์ยังไม่ค่อยเข้าใจนัก เพราะคนต่างชาติต่างภาษาจะลึกซึ้งถ่องแท้กับความหมั่นไส้อันเป็นนิสัยประจำชาติของคนไทยนั้นหายากมาก)

ภาษาหัวใจที่คุณเจมส์อ้างถึงนี้มักไม่ค่อยมีในหนังสือเรียนหรอก อ้อ! มีอีกอย่างที่น่ารู้ น่าขำมากๆ คือหน้าข่าวกีฬาในหนังสือพิมพ์รวมทั้งรายงานข่าวกีฬาทางโทรทัศน์ด้วยที่สร้างความพิศวงงงงันให้กับคุณเจมส์จนทุกวันนี้ โดยเฉพาะชื่อทีมฟุตบอลทั่วโลกในข่าวกีฬาของไทย กล่าวคือ ทีมโสร่ง ทีมลอดช่อง ทีมโสมแดง-โสมขาว ทีมอิเหนา ทีมโรตี ฯลฯ นี่เฉพาะของเพื่อนบ้านในทวีปเอเชียนะ

ส่วนทีมฟุตบอลในยุโรปที่ทำเอาคุณเจมส์แทบสิ้นศรัทธาเรียนภาษาไทยเลยครับ โดยเขาหยิบหนังสือพิมพ์สยามกีฬาที่ลูกชายของผู้เขียนซื้อมาวางอยู่บนโต๊ะขึ้นมาชี้ให้ดูหัวข้อข่าวซึ่งมีดังนี้

เลติเซีย รับเคยมีเซ็กซ์กับ โด้ ยกยอดชายตัวจริง

ผีพิจารณารีไทร์เสื้อเบอร์ 11 ของ กิ๊กส์

ม้าลายฟอร์มบู่ คิเอโวไล่เสมอ โรมาเฉือน 2-1

เรือใบ เสียบแทนหงส์ล่าตัว เอโต เสริมคม

ฯลฯ

ผู้เขียนก็ปลอบใจคุณเจมส์ว่าผู้เขียนเองทั้งๆ เป็นไทยก็มีปัญหาเรื่องข่าวกีฬาภาษาไทยเหมือนกัน โดยเฉพาะทีมฟุตบอลเยอรมันคือ ทีม "บาร์เยิน-มิวนิค" เนื่องจากหากอ่านตามแบบเยอรมันก็ต้องเป็น "บาร์เยิน-มึนเช่น" เพราะบาร์เยินเป็นชื่อแคว้น ส่วนมึนเช่นเป็นชื่อเมือง แต่ถ้าจะเอาแบบอังกฤษผู้ที่หากออกเสียงของภาษาอื่นไม่ถนัดก็จะเปลี่ยนชื่อเสียเลย เช่น แคว้นบาร์เยินนี้อังกฤษจะเรียกว่าแคว้นบาวาเรีย ส่วนเมืองมึนเช่นนั้นอังกฤษเรียกว่ามิวนิค ดังนั้น ถ้าเรียกแบบอังกฤษก็ควรจะเป็นทีม "บาวาเรีย-มิวนิค" สำหรับคนไทยนั้นมั่วก็เลยเรียกแบบไทยคือ "บาร์เยิน-มิวนิค" ให้ทั้งคนเยอรมันและคนอังกฤษงงทั้งคู่ก็แล้วกัน

เฮ้อ! ขนาดภาษาไทยยากๆ อย่างนี้ฝรั่งอย่างคุณเจมส์ยังเรียนแค่ 10 เดือน คำถามอยู่ที่ว่า "แล้วคนไทยที่จบมหาวิทยาลัยทั้งหลายที่เรียนภาษาอังกฤษ (ที่ง่ายกว่าภาษาไทย) กันคนละ 16 ปี ทำไมจึงพูดและฟังภาษาอังกฤษไม่รู้เรื่อง?"

แปลกดีนะ!


หน้า 6
http://www.matichon.co.th/matichon/view_news.php?newsid=01act04220452&sectionid=0130&day=2009-04-22

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

ผู้ติดตาม

คลังบทความของบล็อก

เกี่ยวกับฉัน

รูปภาพของฉัน
ต้องรู้เท่าทันในการรับรู้ข่าวสารจากทุกแหล่งข่าว/ FACT - Freedom Against Censorship Thailand กลุ่มเสรีภาพต่อต้านการเซ็นเซอร์แห่งประเทศไทย http://facthai.wordpress.com/