วันพฤหัสบดีที่ 16 เมษายน พ.ศ. 2552

ต้องเตรียมคนพันธุ์อาร์

วันที่ 16 เมษายน พ.ศ. 2552 ปีที่ 32 ฉบับที่ 11359 มติชนรายวัน


ต้องเตรียมคนพันธุ์อาร์


คอลัมน์ โลกสองวัย

โดย บางกอกเกี้ยน



วันนี้น่าจะมีควันหลงหลังสงกรานต์ บางคนอาจจะหยุดงานต่อเนื่องอีก 2 วัน วันนี้กับพรุ่งนี้ ก็จะได้วันหยุดติดต่ออีก 2 วัน คือวันเสาร์และวันอาทิตย์ รวมวันหยุดเป็น 9 วัน สบายแฮ

ระหว่างเทศกาลสงกรานต์ไม่ว่าจะ 7 วันอันตรายหรือไม่ วันนี้จะมีจำนวนผู้ประสบอุบัติเหตุถึงเสียชีวิตและบาดเจ็บไปเท่าไหร่ คงต้องทราบไว้ด้วยว่าบางคนปลอดภัยปลอดโปร่ง แม้มีเหตุขัดข้องจากเครื่องยนต์กลไก แต่ก็ได้รับความช่วยเหลือจากน้องหนูคนพันธุ์อาร์ (R) ชาวอาชีวศึกษาทั้งหลายที่ตั้งเต๊นท์ตามรายทางช่วยตรวจสอบเครื่องยนต์ทั้งจากรถยนต์และจักรยานยนต์ พร้อมเครื่องมือและอะไหล่

การเตรียมความพร้อมที่ว่า เกิดมาตั้งแต่สมัยอาจารย์วีระศักดิ์ สมบัติ เป็นอธิบดีกรมอาชีวศึกษา และเลขาธิการสำนักงานการอาชีวศึกษา ถึงอาจารย์เฉลียว อยู่สีมารักษ์ เลขาธิการคนปัจจุบันที่สานต่อเจตนารมณ์ให้น้องหนูพันธุ์อาร์ได้ปฏิบัติการทำประโยชน์แก่สังคมในห้วงสงกรานต์

วันนี้ วิทยาลัยอาชีวศึกษาปรับเปลี่ยนหลักสูตรจากประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) และวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) ขึ้นไปถึงระดับปริญญาตรี และสูงกว่าปริญญาตรีแล้ว ดังนั้น เปิดภาคเรียนใหม่ปีนี้ หากน้องหนูคนใดผิดหวังจากการเข้าเรียนในมหาวิทยาลัยตามต้องการ ก็อาจหันเบนเข็มทิศชีวิตไปศึกษาในทางช่าง และทางวิชาชีพ ในส่วนของการปฏิบัติ ซึ่งเรียนถึงระดับปริญญาตรี ดีกว่าไปแกร่วเรียนสายวิชาการที่ตัวเองอาจไม่ถนัด

ทุกวันนี้ วิทยาลัยอาชีวศึกษามีหลายสาขาวิชาชีพ และมีอยู่ทั่วประเทศ ทุกจังหวัด การเรียนการสอนของวิทยาลัยอาชีวศึกษา เป็นการเรียนการสอนภาควิชาการและภาคปฏิบัติพร้อมกันไป บางวิชามีชั่วโมงเรียน สหกิจศึกษา คือเรียนภาควิชาการในชั้นเรียน และเรียนพร้อมกับการปฏิบัติงานในโรงงาน หรือบริษัท แล้วแต่ว่าเป็นงานอะไร ซึ่งไม่ใช่การฝึกงานตามที่ผู้เรียนปีที่สามปีที่สี่ของมหาวิทยาลัยต้องออกไปฝึกงาน 1 ภาคเรียน หรือ 1 ปี จึงจะสำเร็จการศึกษา

การเรียนในห้องเรียนควบไปกับการเรียนในโรงงาน ที่เรียกว่าสหกิจศึกษา นับเป็นความร่วมมือที่ดีเยี่ยมระหว่างสภาการอุตสาหกรรม หอการค้าไทย และบรรดาโรงงานกับบริษัทห้างร้านที่รับนักศึกษาจากอาชีวศึกษา มหาวิทยาลัยราชภัฏ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล นำวิชาความรู้ที่เรียนในห้องเรียนเข้าไปใช้ในห้องทำงาน ทั้งยังได้รับค่าแรงตามชั่วโมงทำงาน และคะแนนในการสอบอีกด้วย

ระบบนี้ นิยมในประเทศสาธารณรัฐเยอรมนี คงเนื่องมาจากประเทศเยอรมนีเป็นประเทศอุตสาหกรรมที่ผลิตเครื่องจักรเครื่องกลหนัก จำเป็นต้องใช้แรงงานฝีมือจำนวนมาก ดังนั้น โรงงานขนาดใหญ่ของประเทศนี้จึงต้องการแรงงานค่อนข้างมาก และส่วนใหญ่เป็นแรงงานหมุนเวียน การเรียนวิชาเกี่ยวกับการช่าง วิศวกรรมจึงต้องเรียนไปฝึกงานไป สำเร็จการศึกษาแล้ว เขาไม่ให้ปริญญาตรี แต่ให้ใบผ่านการฝึกงานในโรงงาน เทียบ เท่าปริญญาตรี บางแห่งเทียบเท่าปริญญาโท โดยเฉพาะโรงงานที่ผลิตเครื่องจักรกลขนาดใหญ่ เช่น เครื่องพิมพ์หนังสือพิมพ์ รถยนต์ เป็นต้น

ประเทศไทยแม้ไม่ได้เป็นประเทศอุตสาหกรรมหนัก แต่ก็เป็นประเทศอุตสาหกรรมแปรรูปที่มีกำลังการผลิตเพื่อส่งออกไม่น้อย เช่น การผลิตอาหารกระป๋อง เป็นต้น นอกจากนั้นยังมีโรงงานประกอบชิ้นส่วน เช่น โรงงานประกอบรถยนต์จำนวนมาก จึงจำเป็นต้องสรรหาแรงงานฝีมือมารอบรับการผลิต

บางแห่งที่มีลักษณะของอุตสาหกรรม เช่น เครือซีพี ยังต้องเปิดโรงเรียนของตัวเองขึ้น ผลิตพนักงานขายให้กับเครือซีพี ชื่อโรงเรียนปัญญาภิวัฒน์ เป็นสถาบันสอนทั้งระดับ ปวช. ปวส. และปริญญาตรี

ถึงวันนี้ ประเทศไทยในยุคที่เศรษฐกิจตกต่ำเป็นยุคแห่ง "แฮมเบอร์เกอร์ ดีซีส" ซึ่งน่ากลัวยิ่งกว่ายุค "ต้มยำกุ้ง ดีซีส" เสียอีก เพราะเที่ยวนี้เศรษฐกิจมีผลกระทบไปทั่วโลก และอย่างรวดเร็ว หากผู้กุมอำนาจรัฐไหวตัวทัน เร่งผลิตนักศึกษาเพื่อออกไปปฏิบัติหน้าที่ในโรงงานอุตสาหกรรมเป็นการเตรียมการไว้ล่วงหน้า เมื่อถึงเวลาที่ประเทศต้องการแรงงานฝีมือ ก็จะได้ระดมสรรพกำลังบรรดามีทันท่วงที

เรื่องอย่างนี้ อย่าประมาทไปเลยเชียว


หน้า 21
http://www.matichon.co.th/matichon/view_news.php?newsid=01pra03160452&sectionid=0131&day=2009-04-16


Windows Live™: Life without walls. Check it out.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

ผู้ติดตาม

คลังบทความของบล็อก

เกี่ยวกับฉัน

รูปภาพของฉัน
ต้องรู้เท่าทันในการรับรู้ข่าวสารจากทุกแหล่งข่าว/ FACT - Freedom Against Censorship Thailand กลุ่มเสรีภาพต่อต้านการเซ็นเซอร์แห่งประเทศไทย http://facthai.wordpress.com/