วันพฤหัสบดีที่ 16 เมษายน พ.ศ. 2552

โชว์วิจัยพัฒนาท้องถิ่น ผลงานวิชาการชาวราชภัฏ

วันที่ 16 เมษายน พ.ศ. 2552 ปีที่ 19 ฉบับที่ 6713 ข่าวสดรายวัน


โชว์วิจัยพัฒนาท้องถิ่น ผลงานวิชาการชาวราชภัฏ


คัคนานต์ ดลประสิทธิ์ รายงาน




จากการประชุมวิชาการระดับชาติของมหาวิทยาลัยราชภัฏ ครั้งที่ 1 เรื่องการวิจัยพัฒนาท้องถิ่น เพื่อแผ่นดินไทย ที่ฮอลล์ 9 อิมแพ็ค อารีน่า เมืองทองธานี เมื่อวันที่ 1-5 เม.ย.ที่ผ่านมา

เมื่อขึ้นบันไดเลื่อนไปยังชั้น 2 ของฮอลล์ 9 ก็ต้องตาโตกับความอลังการกับการจัดโครงการ

บริเวณโซนด้านหน้า เป็นการจำลองน้ำตกนั้น ได้รับความสนใจจากประชาชนเป็นจำนวนมาก และเมื่อเดินเข้ามาก็จะพบนิทรรศการส่วนที่ 1 ซึ่งเป็นการนำเสนอผลการวิจัย การแสดงนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในแนวคิด "วิจัยแห่งภูมินทร์ เกื้อกูลถิ่น แผ่นดินไทย" กับรางวัลผู้นำโลกด้านทรัพย์สินทางปัญญาจากองค์การทรัพย์สินทางปัญญาโลกนิทรรศการ

ส่วนที่ 2 เป็นนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ ในหัว "พระเมตตาต่อมหาวิทยาลัยราชภัฏ" ถัดมาจะเป็นนิทรรศการส่วนที่ 3 เป็นนิทรรศการแสดงผลงานวิจัย 5 เมือง ได้แก่ การปฏิรูปการศึกษาเพื่อท้องถิ่น การพัฒนาวิสาหกิจชุมชนเพื่อการพึ่งตนเอง การจัดการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนโดยท้องถิ่น การพัฒนาธุรกิจอาหารท้องถิ่นสู่ครัวโลก การจัดการทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมโดยท้องถิ่น

สำหรับนิทรรศการส่วนที่ 4 เป็นนิทรรศการจากมหาวิทยาลัยราชภัฏทั้ง 40 แห่ง แสดงงานวิจัยเพิ่มเติม จำหน่ายสินค้าท้องถิ่น หลักสูตรต่างๆ ของมหาวิทยาลัย แบ่งออกเป็น 1.กลุ่มรัตนโกสินทร์ ภายใต้แนวคิด ขนบธรรมเนียมและอารายะ ที่สืบสานวัฒนธรรมไทย จากรุ่นสู่รุ่น 2.กลุ่มภาคกลาง 3.กลุ่มภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 4.กลุ่มภาคเหนือ 5.กลุ่มภาคใต้

และนิทรรศการส่วนที่ 5 เป็นนิทรรศการแสดงผลงานวิจัยของนักศึกษา จาก 40 แห่งทั่วประเทศ

ส่วนนิทรรศการส่วนที่ 6 หอเกียรติยศ (Hall of Fame) นำเสนอเรื่องราวบุคคลสำคัญ ที่เป็นศิษย์เก่าและศิษย์ปัจจุบัน สร้างชื่อเสียง ประสบความสำเร็จในหน้าที่การงาน ทุกสาขาอาชีพ



ผศ.ศิริวัฒน์ สุนทโรทก จากมหาวิทยาลัยราชภัฏพระนคร (มรภ.พระนคร) กล่าวถึงแนวคิดในการทำสวนสาธารณะขยะ ว่า ที่มรภ.พระนคร มีขยะเยอะมาก ทำให้เกิดปัญหาทางสิ่งแวดล้อม ก็อยากแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมโดยเสริมสร้างสิ่งแวดล้อมใหม่พร้อมกับสร้างบรรยากาศที่ดีในมหาวิทยาลัย จึงได้แยกประเภทของขยะ โดยจะคัดแยกขยะที่สามารถทำไปขายได้ เพื่อนำมาเป็นต้นทุนในการผลิต ซึ่งเมื่อคัดแยกขยะเรียบร้อยแล้ว ได้ทุนจำนวน 6 หลัก

ส่วนขยะที่ไม่สามารถจะขายได้นั้น เช่น ถุง พลาสติก กระดาษ หลอด เป็นต้น ก็นำมาทำเป็นศิลปะ โดยการนำขยะมาตกแต่ง ปรับปรุงภูมิทัศน์ เช่น การสร้างสวนหย่อมภายในบ้าน โรงเรียน มหาวิทยาลัย โรงพยาบาลด้วยขยะ ซึ่งการสร้างสวนหย่อมนั้นจะประกอบด้วย น้ำตก ทางเดิน หิน หรือแม้กระทั่งรูปปั้นสัตว์ต่างๆ เป็นต้น



ทั้งนี้ การทำสวนสาธารณะนั้นจะใช้กระดาษ 1 ส่วน ปูนซีเมนต์ 3 ส่วน มาผสมผสานกัน โดยภายในนั้นจะประกอบด้วยขยะต่างๆ เช่น ถุง พลาสติก กระดาษ หลอด เป็นต้น เพื่อรองพื้นหรือปูพื้น แล้วอัดให้แน่น เมื่ออัดขยะแน่นแล้ว ก็จะเทปูนซีเมนต์ราดทับลงไปให้ได้ตามรูปทรงที่ต้องการ เพิ่มความแข็งแรง ทนทาน จากนั้นก็ใช้มือหรืออุปกรณ์ ปั้นเป็นรูปแบบต่างๆ และขัดผิว เพื่อให้มีความเรียบ รวมทั้งพ่นสี เพิ่มความสวยงาม

ผศ.ศิริวัฒน์ กล่าวต่อว่า การนำผลงานวิจัยของมหาวิทยาลัยราชภัฏทั้ง 40 แห่งออกมาแสดงนั้น นับว่าเป็นสิ่งที่ดี เพราะแต่ละมหาวิทยาลัยจะมีสิ่งที่โดดเด่นโดยเฉพาะ ซึ่งคนที่เข้ามาชมก็เกิดไอเดีย แล้วสามารถนำออกไปใช้ได้จริง ทั้งนี้ เมื่อมาดูผลงานของแต่ละแห่งแล้ว ก็อาจจะกลับไปบูรณาการ ผสมผสาน ให้ผลงานวิจัยมีประสิทธิภาพเพิ่มมากขึ้น นอกจากนี้ การทำวิจัยนั้นสามารถนำปัญหาที่เกิดจากรอบตัวเรา มาทำเป็นงานวิจัยได้ เมื่อเราทำงานวิจัยเสร็จแล้ว เราสามารถแก้ไขปัญหาต่างๆ ได้ ขณะเดียวกัน การทำวิจัยนั้นยังเป็นการกระตุ้นให้ครูอาจารย์ได้คิดอยู่ตลอดเวลา ไม่มีการหยุดนิ่ง



ผศ.เทวี สวรรยาธิปัติ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยราชภัฏหมู่บ้านจอมบึง (มร.มจ.) กล่าวว่า ในวันนี้ได้นำผลงานวิจัย เรื่อง จากโอ่งสู่การเรียนรู้กับมหาวิทยาลัยราชภัฏหมู่บ้านจอมบึง ออกมาจัดแสดง ทั้งนี้ สาเหตุนำโอ่งออกมาจัดแสดงนั้น เนื่องจากโอ่งเป็นสัญลักษณ์ของจังหวัดราชบุรี การปั้นโอ่งเริ่มตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 โดยคนจีนเป็นผู้ริเริ่มปั้นโอ่ง ซึ่งโอ่งของจังหวัดราชบุรีนั้นจะมีลวดลายเล้ง หรือมังกร ซึ่งชาวจีนระบุไว้ว่ามังกรคือสัตว์นำโชค ต่อมามีการพัฒนาโอ่งให้มีความทันสมัยอยู่เรื่อยๆ โดยการเพิ่มลวดลายและตกแต่งให้มีความสวยงามเพิ่มมากขึ้น ขณะเดียวกัน ชาวบ้านส่วนใหญ่ก็จะประกอบอาชีพปั้นโอ่ง

"จึงนับว่าเป็นการหยิบทรัพยากรของท้องถิ่น มาพัฒนาท้องถิ่นและนำความรู้สู่ท้องถิ่น นอกจากนี้ ลวดลายของโอ่งมังกรยังมีปรับแต่งให้เป็นภาพการ์ตูน เน้นความน่ารัก ให้อารมณ์สนุกสนาน โดยตัดทอนรายละเอียดของมังกร ให้มีรูปร่างอ้วนกลม แสดงถึงความอุดมสมบูรณ์ มือขวาถือคบเพลิง แขนซ้ายงอลง มีแขนและขาที่มีกล้ามเนื้อ แสดงถึงความแข็งแรง มีสุขภาพที่ดี เช่น ตัวการ์ตูนป๊อปอายส์ เพื่อที่จะนำมาใช้เป็นสัญลักษณ์ของงานกีฬาราชบุรีเกมส์อีกด้วย"

ผศ.เทวี กล่าวต่อว่า การจัดแสดงผลงานวิจัยนี้ มีความตื่นตาตื่นใจ ไม่คิดว่าการจัดงานจะมีความพร้อม เนื่องจากมีมหาวิทยาลัยหลายแห่ง ซึ่งการจัดงานดังกล่าวเป็นการประกาศว่าเรามีผลงานอวดชาวโลกได้





อาจารย์ธรรม์ณชาติ วันแต่ง อาจารย์ประจำสาขาเทคโนโลยีการผลิต มหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบูรณ์ (มร.พช.) กล่าวว่า การจัดงานในวันนี้ถือว่าเป็นการโชว์ศักยภาพของมหาวิทยาลัยราชภัฏของแต่ละแห่ง ซึ่งที่ผ่านมาไม่ค่อยมีใครรู้ว่าแต่ละแห่งมีผลงานอะไรบ้าง ซึ่งในวันนี้ถือว่าเป็นเวทีแสดงผลงานทางด้านการศึกษา สิ่งแวดล้อมและนวัตกรรม ทั้งนี้ การจัดแสดงผลงานของมหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบูรณ์นั้นจะแบ่งเป็น 2 โซน คือ โซนการจัดแสดงผ้าบาติก ซึ่งอุทยานแห่งชาติเขาค้อ อ.เขาค้อ จ.เพชรบูรณ์ ส่วนใหญ่ชาวม้งจะประกอบอาชีพทำผ้าบาติกขาย ดังนั้น เราก็ช่วยในการสนับสนุน เนื่องจากผ้าบาติก สามารถนำไปเป็นของฝากได้ และสามารถส่งออกต่างประเทศได้

และโซนนวัตกรรมของมหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบูรณ์ จะมีเครื่องปอกข้าวหลาม เครื่องฝานขนุน เครื่องป่นขิง ซึ่งอุปกรณ์เหล่านี้ สามารถทุ่นแรงของชาวบ้านได้ ขณะเดียวกัน เครื่องเหล่านี้ยังได้รับรางวัลอีกด้วย

อาจารย์ดรุณี เจริญทรัพย์ อาจารย์ประจำสาขาวิชาศิลปกรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏเทพสตรี (มรท.) กล่าวว่า การจัดงานนี้ก็ได้ความคิดที่หลากหลาย รวมทั้งได้ดูผลงานของมหาวิทยาลัยราชภัฏของแต่ละแห่ง เมื่อได้องค์ความรู้จากมหาวิทยาลัยราชภัฏของแต่ละแห่ง สามารถพัฒนาผลงานวิจัยของตัวเอง ไปสู่ชุมชนท้องถิ่นอย่างแท้จริงได้ สำหรับงานวิจัยที่นำมาจัดแสดงจะเน้นทรัพยากรของท้องถิ่น คือ ดินสอพอง โดยจะนำดินสอพองมาทำเครื่องประดับและเครื่องสำอาง ที่ทำมาจากดินสอพองล้วนๆ ทั้งนี้งานวิจัยดังกล่าวสามารถช่วยเหลือชุมชนและท้องถิ่นได้ อย่างไรก็ตาม อยากให้มีการจัดแสดงงานวิจัย 2 ครั้ง แบ่งเป็นช่วงต้นปีและสิ้นปี เพื่อที่อาจารย์จะได้ผลิตงานวิจัยชิ้นใหม่ออกมาแสดง ให้มีการอัพเดตอยู่ตลอดเวลา ไม่ล้าหลัง



ขณะที่ผู้เข้าชมนั้นก็มีความสนใจเช่นกัน เริ่มด้วย นายวสันต์ สมากาล อายุ 33 ปี อาชีพพนักงานบริษัทแห่งหนึ่งย่านสีลม บอกว่า จบการศึกษาที่มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา ที่มาในครั้งนี้เพราะมีเพื่อนชักชวน ประกอบกับมีความสนใจ เพราะการจัดโครงการประชุมวิชาการระดับชาติของมหาวิทยาลัยราชภัฏ ครั้งที่ 1 เรื่องการวิจัยพัฒนาท้องถิ่น เพื่อแผ่นดินไทยนั้น ถือว่าเป็นครั้งแรกของชาวมหาวิทยาลัยราชภัฏ

นายวสันต์ กล่าวด้วยว่า ดังนั้นการมาในวันนี้ก็ถือว่าเราก็เป็นส่วนหนึ่งของมหาวิทยาลัยราชภัฏเช่นกัน โดยส่วนตัวมีความภาคภูมิใจกับผลงานที่ออกมาสู่สายตาประชาชน ซึ่งเราก็ทำได้ไม่แพ้มหาวิทยาลัยอื่นๆ ที่เป็นยอดนิยม เมื่อเดินเข้ามาภายในงานก็มีความรู้สึกว่า อลังการมาก ไม่ว่าจะเป็นการจัดนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ หรือแม้กระทั่งนิทรรศการแสดงผลงานวิจัย 5 เมือง ได้แก่ การปฏิรูปการศึกษาเพื่อท้องถิ่น การพัฒนาวิสาหกิจชุมชนเพื่อการพึ่งตนเอง การจัดการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนโดยท้องถิ่น การพัฒนาธุรกิจอาหารท้องถิ่นสู่ครัวโลก การจัดการทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมโดยท้องถิ่น แสดงให้เห็นว่ามหาวิทยาลัยราชภัฏสามารถพัฒนาทรัพยากรในท้องถิ่นมาสู่ชุมชน รวมทั้งมีนิทรรศการจากมหาวิทยาลัยราชภัฏทั้ง 40 แห่ง ที่แสดงงานวิจัยเพิ่มเติมและจำหน่ายสินค้าท้องถิ่น

น.ส.ชมพูนุช ชัยรัตนะ อายุ 32 ปี อาชีพรับราชการ กล่าวว่า หากพูดถึงสถาบันราชภัฏ เกิดขึ้นมานานแล้ว โดยภาพรวมจะมองว่ามหาวิทยาลัยราชภัฏยังเป็นชั้น 2 อยู่ เมื่อเทียบเท่ากับมหาวิทยาลัยชั้นนำ แต่ตอนนี้ขึ้นชื่อว่าเป็นมหาวิทยาลัยราชภัฏแล้ว ก็ได้พัฒนาตัวเองให้เทียบเท่ากับมหาวิทยาลัยชั้นนำของประเทศ

"ที่ผ่านมามหาวิทยาลัยราชภัฏไม่ค่อยมีงานวิจัยออกมาจัดแสดง ส่วนมากจะจัดแสดงแบบกระจัดกระจาย ซึ่งการจัดแสดงในครั้งนี้ถือว่าเป็นปรากฏการณ์ที่ดี และยังเป็นการเปิดเวที ให้มหาวิทยาลัยราชภัฏทั้ง 40 แห่ง โชว์ศักยภาพ ซึ่งรูปแบบในการจัดงานนั้นยังคงความเป็นท้องถิ่น ซึ่งในจุดนี้ถือว่าประสบความสำเร็จ การหยิบทรัพยากรของท้องถิ่นมาทำงานวิจัย สามารถใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ให้เป็นประโยชน์ ซึ่งมีความแตกต่างจากมหาวิทยาลัยชั้นนำของประเทศ"

น.ส.อภัตญา เสลาหอม อายุ 21 ปี นักศึกษา ให้ความเห็นว่า ได้รู้เรื่องงานวิจัยของแต่มหาวิทยาลัยราชภัฏทั้ง 40 แห่ง รู้ถึงวัฒนธรรม ขนบธรรมเนียม ประเพณี และอาหารของทั้ง 4 ภาค ซึ่งการจัดงานนี้ถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี อย่างน้อยการจัดงานก็สามารถแสดงให้เห็นว่ามหาวิทยาลัยราชภัฏ มีศักยภาพเทียบเท่ากับมหาวิทยาลัยชั้นนำของประเทศ

ผศ.ดร.ช่วงโชติ พันธุเวช อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา (มรภ.สส.) กล่าวว่า ภาพโดยรวมจากการจัดโครงการประชุมวิชาการระดับชาติของมหาวิทยาลัยราชภัฏ ครั้งที่ 1 เรื่องการวิจัยพัฒนาท้องถิ่น เพื่อแผ่นดินไทย ถือว่ามีความประสบความสำเร็จอย่างมาก ซึ่งงานนี้ทำให้รู้ว่ายังมีประชาชนให้การยอมรับในตัวของมหาวิทยาลัยราชภัฏ ครั้งนี้ถือว่าเป็นการเริ่มต้นไปในทิศทางที่ดี การดำเนินการทุกอย่างย่อมมีปัญหา ซึ่งปัญหาที่เกิดขึ้นนั้น เราจะกลับมาปรับปรุงและพัฒนาให้ดียิ่งขึ้นต่อไป รวมทั้งข้อคิดเห็นหรือข้อเสนอแนะต่างๆ เราจะมีการพัฒนาให้งานมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

การโชว์ผลงานวิจัยครั้งที่ 1 จบไปแล้ว จากนี้ก็ต้องรอพบกับงานครั้งที่ 2 ในปีต่อไป

หน้า 21
http://www.matichon.co.th/khaosod/view_news.php?newsid=TUROamIyd3dNVEUyTURRMU1nPT0=&sectionid=TURNd013PT0=&day=TWpBd09TMHdOQzB4Tmc9PQ==




Rediscover Hotmail®: Get quick friend updates right in your inbox. Check it out.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

ผู้ติดตาม

คลังบทความของบล็อก

เกี่ยวกับฉัน

รูปภาพของฉัน
ต้องรู้เท่าทันในการรับรู้ข่าวสารจากทุกแหล่งข่าว/ FACT - Freedom Against Censorship Thailand กลุ่มเสรีภาพต่อต้านการเซ็นเซอร์แห่งประเทศไทย http://facthai.wordpress.com/