วันพุธที่ 22 เมษายน พ.ศ. 2552

หั่นเงินประกันสุขภาพ 4.8 หมื่นล้าน! "มาร์ค" รับศก.วูบลึก "-5"

วันที่ 22 เมษายน พ.ศ. 2552 ปีที่ 32 ฉบับที่ 11365 มติชนรายวัน


หั่นเงินประกันสุขภาพ 4.8 หมื่นล้าน! "มาร์ค"รับศก.วูบลึก"-5"


รบ.ตัดงบ 53" 2 แสนล."ลงทุนหด 25% ส่งออกมี.ค.ลบ 23%-มูดี้ส์ลดจีดีพีไทย



ครม.ปรับลดงบฯปี"53" 2 แสนล้าน" งบฯประกันสุขภาพถ้วนหน้าเจอหั่นหนัก ตัดทิ้ง 4.8 หมื่นล. รายหัวขอ 2.7 พัน ได้แค่ 2.4 พันบาท/คน วงเงินลงทุนปีหน้าวูบ 25.6% ถึงขั้นจำใจเลื่อนโครงการเอสเอ็มแอลออกไปก่อน "กรณ์"ยันไม่กระทบโอกาสฟื้นตัว และความเป็นอยู่ประชาชน ตัวเลขส่งออก มี.ค.ทรุดติดลบ 23.1%

@ ครม.หั่นวงเงินงบ53" 2แสนล้าน"

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี แถลงผลการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อบ่ายวันที่ 21 เมษายน ที่ทำเนียบรัฐบาลว่า ครม.พิจารณาตัวเลขการเติบโตและรายได้ของรัฐบาล โดยได้ปรับลดกรอบวงเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2553 ที่ตั้งใจตั้งไว้ที่ 1.9 ล้านล้านบาท เหลือ 1.7 ล้านล้านบาท คือปรับลดลง 2 แสนล้านบาท เพื่อให้การขาดดุลงบประมาณอยู่ที่ 3.5 แสนล้านบาท ซึ่งจะอยู่ในกรอบของกฎหมายและอยู่ในกรอบที่คิดว่าสามารถรักษาวินัยการคลังเอาไว้ได้ โดยได้แจ้งให้กับทุกกระทรวงให้ทราบ เพราะในอีก 2 สัปดาห์จะนำรายละเอียดของงบประมาณมาให้ ครม.ให้ความเห็นชอบก่อนนำส่งสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งจะชัดเจนว่าส่วนที่ถูกตัดออกไปนั้นจะเป็นส่วนไหน อย่างไร พร้อมๆ กันนั้นเวลาสองสัปดาห์ก็จะได้ดูว่าแผนกระตุ้นเศรษฐกิจรอบสอง หากโครงการต่างๆ ไม่สามารถเข้ามาอยู่ในงบประมาณปี 2553 ได้จะใช้แหล่งเงินไหน ซึ่งกระทรวงการคลังจะนำเสนอมาในวันเดียวกัน

@ รับอัตราการเติบโตอาจ -4/-5

นายอภิสิทธิ์กล่าวถึงอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจปีนี้ว่า คงต้องพิจารณาอีกครั้ง แต่โดยรวมก็น่าจะต้องปรับลดลงจากเดิม ซึ่งเคยประมาณการกันว่าอาจจะเป็นศูนย์ ถึง -1 หรือ -2 ตอนนี้ก็เชื่อว่าจะมาอยู่ที่ -2 ถึง -4 หรือถึง -5 ก็ได้ ผู้สื่อข่าวถามว่า หากการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจลดลงถึง -4 หรือ -5 นั้น จำเป็นจะต้องมีมาตรการกระตุ้นเพิ่มเติมอีกหรือไม่ นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า ก็ยังจะต้องไปทำรายละเอียดการกระตุ้นเศรษฐกิจรอบสองอีก แต่ทั้งนี้ก็มีข้อจำกัดด้วยว่าหากจะกระตุ้นมากกว่านั้นก็มีคำถามว่าแหล่งเงินมาจากไหน และต้องดูในกรอบของหนี้สาธารณะไม่ให้โตเกินไป ซึ่งเคยคาดการณ์เอาไว้เองว่าหนี้สาธารณะนั้นในที่สุดอาจจะต้องขึ้นไปถึงร้อยละ 60 กว่าๆ ก็จะต้องให้ยืนอยู่ตรงนั้น เพราะไม่สามารถให้ไปไกลกว่านั้นได้

นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศไทยนั้นส่วนหนึ่งก็ขึ้นอยู่กับต่างประเทศด้วย ตอนนี้สัญญาณก็ยังสับสนอยู่ เพราะบางช่วงก็เริ่มมีข่าวดีในบางประเทศ แต่บางช่วงก็มีปัญหา แม้แต่ตลาดหลักทรัพย์ในต่างประเทศก็ยังผันผวนมาก

ผู้สื่อข่าวถามว่า มีปัจจัยอะไรบ้างที่ทำให้รัฐบาลต้องปรับการประมาณการความเติบโตทางเศรษฐกิจลดลง นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า มีหลายปัจจัยที่เห็นได้ชัด ไม่ว่าจะเป็นผลกระทบต่างๆ จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะการท่องเที่ยวที่กระทบโดยตรง ส่วนอื่นๆ ก็จะมีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคและนักลงทุน ซึ่งทุกปัจจัยทำให้ต้องประมาณการลดลง มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ทำมาคงไม่สูญเปล่า เพราะถ้าไม่ได้ทำอะไร อาจจะหนักกว่านี้ แต่สถานการณ์ขณะนี้มันรุนแรงขึ้น รัฐบาลก็ต้องแก้ไขปัญหาไป

@ เล็งอัดฉีดมาตรการกู้ท่องเที่ยว

นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า ที่ประชุม ครม.ยังเห็นชอบให้เดินหน้าแก้ไขปัญหาเรื่องการท่องเที่ยว โดยประเด็นแรกเรื่องการลดค่าธรรมเนียมเรื่องวีซ่า เรื่องแลนด์ดิ้งฟรี และค่าเช่าอุทยานก็ได้ต่ออายุไปเป็น 1 ปี ประเด็นที่สอง คือเร่งรัดในส่วนของงบประมาณที่เคยอนุมัติไว้ในการช่วยเหลือเยียวยาผู้ประกอบการการท่องเที่ยวที่ได้รับ ผลกระทบจากเหตุการณ์ทางการเมืองต่างๆ ประการที่สาม คือได้มอบให้กระทรวงการคลังไปปรับปรุงในส่วนของโครงการที่เกี่ยวข้องกับสินเชื่อ เพราะพบว่าที่ผ่านมามีการใช้สินเชื่อน้อยมาก ซึ่งก็ต้องปรับปรุงหลักเกณฑ์ต่างๆ เพื่อให้ได้ใช้เงินตรงนี้ให้มากขึ้น และประการสุดท้าย จะมีการทำความเข้าใจกับต่างประเทศเพื่อให้เห็นถึงความปลอดภัยของการเข้ามาท่องเที่ยว ก็จะดำเนินการแก้ไขปัญหาและชี้แจงผ่านกลไกต่างๆ นอกจากนี้ในสัปดาห์หน้าจะมีมาตรการต่างๆ เพิ่มเติมเข้ามาให้ ครม.พิจารณาอีก

ในส่วนของการหดตัวของรายได้การท่องเที่ยวนั้น นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า มีตัวเลขจากการประมาณการของสมาคมต่างๆ ซึ่งก็ถือว่าได้ปรับลดลงมาก แต่ก็ได้ไล่ตามตัวเลขจนพบว่าตั้งแต่ช่วงสงกรานต์เป็นต้นมาก็จะเห็นได้ชัดว่า มีการยกเลิกและคนเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวลดลงไปมาก ผู้สื่อข่าวถามว่า ครม.ได้พิจารณาผลกระทบจากการประกาศใช้ พ.ร.ก.บริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินหรือไม่ นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า ครม.ไม่ได้หารือกันเพิ่มเติม เพราะทราบดีอยู่ว่าขณะนี้เหลือทางเจ้าหน้าที่ที่จะรายงานกลับมาว่าปัญหาที่อยากไปคลี่คลายแก้ไขก่อนได้เดินหน้าไปตามเป้าหมายแล้ว

@ บ.ประกันภัยเมินคณะทัวร์มาไทย

นายวัชระ กรรณิการ์ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีแถลงผลการประชุม ครม.ว่า ระหว่างการประชุมเรื่องการแก้ปัญหาวิกฤตการท่องเที่ยว นายวีระชัย วีระเมธีกุล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีได้แจ้งที่ประชุมว่า นอกจากปัญหาเรื่องการแจ้งเตือนความปลอดภัยให้กับนักท่องเที่ยวของประเทศต่างๆ ที่มีผลให้นักท่องเที่ยวชะลอการเดินทางมาประเทศไทยแล้ว ยังมีปัญหาเรื่องบริษัทประกันภัยในต่างประเทศไม่ยอมรับทำประกันภัยให้คณะทัวร์ที่มาท่องเที่ยวในประเทศไทยด้วย มีรัฐมนตรีหลายคนเสนอทางแก้ว่าอาจใช้วิธีให้บริษัทประกันภัยในประเทศไทยเป็นผู้รับประกันแทน หากไม่ยอมก็อาจให้รัฐบาลรับประกันให้ด้วย ส่วนความเสียหายหรือความปลอดภัยด้านชีวิตและทรัพย์สินต้องหารือในรายละเอียดอีกครั้ง

นายวัชระกล่าวอีกว่า ที่ประชุมเห็นชอบข้อเสนอของนายชุมพล ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เรื่องขอความร่วมมือให้หน่วยงานราชการงดการจัดอบรมหรือการสัมมนาในต่างประเทศ โดยเปลี่ยนมาจัดในประเทศแทน และปรับแผนการกระตุ้นเศรษฐกิจในส่วนของการท่องเที่ยว ในมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจรอบ 2 วงเงิน 1.56 ล้านล้านบาท ในเรื่องที่เกี่ยวกับการพัฒนาการท่องเที่ยวจำนวน 1.6 หมื่นล้านบาท ให้กระทรวงการท่องเที่ยวฯจัดทำแผนการฟื้นฟูเอง โดยไม่ต้องร่วมกับหน่วยงานอื่น

@ งบฯประกันสุขภาพ8.9หมื่นล.

นายศุภชัย ใจสมุทร รองโฆษกสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงผลการประชุม ครม.ว่า ครม.เห็นชอบข้อเสนองบประมาณสำหรับงานหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า(โครงการ30บาท รักษาทุกโรค) ประจำปีงบประมาณ 2553 ตามมติอนุมัติความเห็นของสำนักงบประมาณ ดังนี้ 1.อนุมัติอัตราเหมาจ่ายรายหัว สำหรับงานหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าประจำปีงบประมาณ 2553 วงเงินรวม 89,322.26 ล้านบาท แบ่งเป็น งบฯกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ จำนวน 47,239,700 คน วงเงิน 84,791.366 ล้านบาท เฉลี่ยอัตราเหมาจ่ายรายหัวเท่ากับ 2,406.32 บาทต่อคน

นายศุภชัยกล่าวว่า งบประมาณสำหรับให้บริการผู้ป่วยติดเชื้อเอชไอวีและผู้ป่วยเอดส์ 138,000 คน วงเงิน 2,770 ล้านบาท งบประมาณให้บริการทดแทนไต สำหรับผู้ป่วยไตวายเรื้อรังระยะสุดท้าย จำนวน 9,454 คน วงเงิน 1,455 ล้านบาท งบประมาณให้บริการควบคุม ป้องกัน และรักษาโรคเรื้อรัง เบาหวาน และความดันโลหิตสูง วงเงิน 304 ล้านบาท สำหรับงบประมาณส่งเสริมการจัดบริการสาธารณสุข ครม.เห็นควรระงับ เนื่องจากเป็นภารกิจและความรับผิดชอบของส่วนราชการที่เกี่ยวข้องในการขอรับการสนับสนุนงบประมาณ

@ แฉสธ.เจอหั่นออก "4.8หมื่นล้าน"

รายงานข่าวจากที่ประชุม ครม.แจ้งว่า เดิมงบประมาณสำหรับงานหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ที่นายวิทยา แก้วภราดัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวง (รมว.) สาธารณสุข ในฐานะประธานกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ได้เสนอของบฯไว้ 137,390.33 ล้านบาท แต่ปรากฏว่าในที่ประชุม ครม.ได้ตัดสินใจหั่นงบประมาณ ออก 48,068.07 ล้านบาท โดยอนุมัติแค่ 89,322.26 ล้านบาท โดยตัดงบประมาณของกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติในทุกส่วน เนื่องจากสำนักงบประมาณพิจารณาแล้วเห็นว่าในปี 2553 มีข้อจำกัดเรื่องกรอบวงเงินงบประมาณที่ต่ำกว่าปี 2552 กอปรกับมีภาระงบประมาณที่จำเป็นต้องจัดสรรให้ตามนโยบายของรัฐบาลที่เพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก เช่นเดียวกับสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ที่เสนอให้ปรับลดงบประมาณที่เสนอมาในหลายเรื่อง โดยเฉพาะงบฯบริหารจัดการที่เสนอขอเพิ่มถึงร้อยละ 171.66

@ รายหัวขอ 2.7 พันได้แค่ 2.4 พัน/คน

ข่าวแจ้งว่า สำหรับข้อเสนอของบประมาณที่ไม่ได้รับการสนองตอบจาก ครม.มีดังนี้
1.งบฯเหมาจ่ายรายหัวสำหรับงานหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าของประชาชนจำนวน 47.2 ล้านคน เสนอของบฯ 127,902.44 ล้านบาท เพื่อจัดสรรเป็นงบฯอุดหนุนรายหัว 2,707.52 บาท/คน แต่ได้รับการอนุมัติเพียง 84,791.36 ล้านบาท เหลือเป็นงบฯอุดหนุนรายหัวเพียง 2,406.32 บาท/คน
2.งบประมาณสำหรับให้บริการผู้ป่วยติดเชื้อเอชไอวีและผู้ป่วยเอดส์จำนวน 1.38 แสนคน เสนอของบฯ 2,915.63 ล้านบาท แต่ได้รับการอนุมัติ 2,770.85 ล้านบาท
3.งบประมาณสำหรับให้บริการควบคุม ป้องกัน และรักษาโรคเรื้อรัง เบาหวาน และความดันโลหิตสูง เสนอของบฯ 1,079.38 ล้านบาท แต่ได้รับการอนุมัติเพียง 304.59 ล้านบาท
4.งบประมาณสำหรับส่งเสริมการจัดบริหารสาธารณสุข เสนอของบฯ 1,742.34 ล้านบาท แต่ถูก ครม.สั่งระงับ เนื่องจากเห็นว่าเป็นภารกิจและความรับผิดชอบของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) อยู่แล้ว

@ งบฯลงทุนหดวูบร้อยละ 25.6

นายบัณฑูร สุภัควณิช ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ เปิดเผยว่า ครม.มีมติปรับลดวงเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2553 เหลือ 1.7 ล้านล้านบาท เพื่อให้สอดคล้องกับงบประมาณรายรับที่คาดว่าจะจัดเก็บได้ 1.35 ล้านล้านบาท ลดลงจากเดิม 1.51 ล้านล้านบาท ซึ่งจะทำให้ตัวเลขการขาดดุลงบประมาณลดลงจาก 3.9 แสนล้านบาท เหลือ 3.5 แสนล้านบาท เนื่องจากมีการประมาณการว่าเศรษฐกิจปีนี้จะชะลอลงมากกว่าเดิม แต่คาดว่าจะขยายตัวเป็น 2-3% ในปีหน้า

"รายจ่ายที่ลดลงส่วนใหญ่จะเป็นรายจ่ายประจำประเภทค่าจ้างที่ปรึกษา การอบรมดูงานในต่างประเทศ และจะเลื่อนโครงการเพิ่มศักยภาพหมู่บ้าน (เอสเอ็มแอล) ออกไปก่อน ซึ่งจะช่วยประหยัดเงินได้ 3 หมื่นล้านบาท ขณะที่เงินเดือนข้าราชการยังเพิ่มขึ้นตามปกติ ส่วนงบฯลงทุนโครงการใหม่จะผลักภาระไปใช้กับการกู้เงินแทน" นายบัณฑูรกล่าว

นายบัณฑูรกล่าวว่า ได้ปรับลดงบประมาณรายจ่ายลง 251,700 ล้านบาท หรือลดลง 12.9% เมื่อเทียบกับงบประมาณปี 2552 โดยเป็นการปรับลดรายจ่ายประจำเหลือ 1,330,235.1 ล้านบาท ลดลง 81,147.3 ล้านบาท หรือลดลง 5.7% รายจ่ายลงทุนเหลือ 307,000 ล้านบาท ลดลง 122,961.8 ล้านบาท หรือลดลง 25..6% รายจ่ายชำระคืนต้นเงินกู้ 62,764.9 ล้านบาท ลดลง 911.2 ล้านบาท หรือ 1.4% ซึ่งไม่ได้เปลี่ยนแปลงจากเดิมที่เคยอนุมัติไว้และยังไม่มีรายการขอตั้งงบประมาณรายจ่ายเพื่อชดใช้เงินคงคลังเหมือนเดิม

ขณะที่การจัดสรรงบประมาณให้กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) นายบัณฑูรกล่าวว่า ได้ปรับปรุงให้สอดคล้องกับประมาณการรายได้ที่ลดลงเช่นกัน โดยปีงบประมาณ 2553 รัฐจะจัดสรรเงินอุดหนุนให้กับ อปท. 148,000 ล้านบาท และประมาณการรายได้ของ อปท. ทั้งที่จัดเก็บเองและรัฐบาลจัดเก็บให้และแบ่งให้อีก 201,100 ล้านบาท รวมเป็นรายได้ของ อปท. 349,100 ล้านบาท คิดเป็น 25.86% เทียบกับรายได้สุทธิของรัฐบาล เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจาก 25.82% ในงบประมาณปี 2522

@ "กรณ์"ยันหั่นงบฯไม่กระทบปชช.

นายกอร์ปศักดิ์ สภาวสุ รองนายกรัฐมนตรี ด้านเศรษฐกิจ กล่าวว่า การปรับลดงบประมาณ รายรับรายจ่ายดังกล่าวยังอยู่ในกรอบกฎหมายการบริหารหนี้สาธารณะที่มีเพดานทั้งหมด 390,211 ล้านบาท หรือ 20% ของงบรายจ่ายประจำปี ซึ่งการกำหนดขาดดุลงบประมาณ 3.5 แสนล้านบาท ก็เพื่อให้เหลือช่องทางปรับตัวได้อีก 4 หมื่นล้านบาท

นายกรณ์ จาติกวณิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า รัฐบาลยืนยันว่าการปรับลดงบประมาณรายจ่าย จะไม่กระทบกับความเป็นอยู่ของประชาชนและกระทบกับโอกาสในการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ และจะไม่ให้กระทบกับนโยบายที่เคยประกาศไปก่อนหน้า ทั้งโครง การลงทุน 1.5 ล้านล้านบาท โครงการเรียนฟรี และเงินช่วยเหลือคนชรา แต่จะต้องหาแหล่งเงินนอกงบประมาณมาทดแทน โดยจะเสนอรายละเอียดอีกครั้งในการประชุม ครม.อีก 2 สัปดาห์

"การกำหนดเพดานหนี้สาธารณะต่อจีดีพี ไม่ได้มีกฎหมายกำหนด เพียงแต่เป็นการกำหนดกรอบที่เคร่งครัดมาตั้งแต่ปี 2541-2542 โดยมติ ครม. เดิมสูงถึง 65% ก่อนจะปรับเหลือ 50% การขยายเพดานก็สามารถทำได้ตามความจำเป็นและภาวะเศรษฐกิจที่เปลี่ยนไป เพราะหากเทียบกับหลายๆ ประเทศจะเห็นว่า ไทยเป็น 1 ในไม่กี่ประเทศที่ยังมีความมั่นคงการคลังสูงที่สุด" นายกรณ์กล่าว

@ ยังหวังเศรษฐกิจไทยพลิกเป็นบวก

สำหรับวงเงินขาดดุลงบประมาณ 3.5 แสนล้านบาท และเหลือเพดานอยู่เพียง 4 หมื่นล้านบาทนั้น นายกรณ์กล่าวว่า มั่นใจว่าเพดานการขาดดุลดังกล่าวจะเพียงพอในการดูแลเศรษฐกิจ "รายรับมีโอกาสปรับลดลงมาก จากเดิมคาดว่าจะจัดเก็บพลาดเป้า 2.3 แสนล้านบาท แต่เมื่อเกิดความรุนแรงช่วงสงกรานต์จะพลาดเป้าเพิ่มอีก 5 หมื่นล้านบาท จึงปรับให้สะท้อนความจริงมากขึ้น" รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังกล่าว

สำหรับการประมาณการทางเศรษฐกิจ นาย กรณ์กล่าวว่า เดิมสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) คาดการณ์ว่าจีดีพีปีนี้จะติดลบ 2-3% แต่หลังเกิดเหตุวุ่นวายช่วงสงกรานต์ หลายสำนักมองว่าจีดีพีจะติดลบเพิ่ม 1-2% จึงคาดว่าจีดีพีปีนี้อาจติดลบถึง 4-5% ซึ่งจะกระทบต่อการว่างงานด้วย โดยจีดีพีที่ลดลง 2% อาจทำให้ว่างงานเพิ่มขึ้นถึง 500,000 คน อย่างไรก็ตาม ขณะนี้เริ่มมีสัญญาการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจขึ้นในหลายประเทศ จึงคาดว่าจะทำให้เศรษฐกิจไทยดีขึ้นในไตรมาส 4 และอาจจะพลิกกลับเป็นบวกได้ในปีหน้า แต่ต้องขึ้นกับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจต่างๆ ด้วย

@ ไฟเขียวช็อตเทิร์มฟาซิลิตี้2แสนล.

นายศุภรักษ์ ควรหา รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงผลประชุม ครม.ว่า ที่ประชุมมีมติเห็นชอบให้กระทรวงการคลังจัดทำข้อตกลงการจัดเตรียมวงเงินสำรองเพื่อให้รัฐวิสาหกิจกู้ หรือช็อตเทิร์ม ฟาซิลิตี้ วงเงินไม่เกิน 200,000 ล้านบาท กับธนาคารพาณิชย์ 6 แห่ง ที่จะปล่อยสินเชื่อให้ คือ ธนาคารกรุงเทพ วงเงิน 58,000 ล้านบาท กรุงไทย 50,000 ล้านบาท ไทยพาณิชย์ 40,000 ล้านบาท กสิกรไทย 25,000 ล้านบาท นครหลวงไทย 20,000 ล้านบาท และทหารไทย 6,500 ล้านบาท ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ โดยคิดอัตราดอกเบี้ยที่ 0.85% บวกส่วนต่าง 1.30-2.40% ขึ้นอยู่กับระดับความน่าเชื่อถือของรัฐวิสาหกิจ และสัดส่วนการค้ำหรือไม่ค้ำประกันของกระทรวงการคลัง

นายศุภรักษ์กล่าวว่า ที่ประชุมยังเห็นชอบให้กระทรวงการคลังจัดสรรวงเงินกู้ช็อตเทิร์ม ฟาซิลิตี้ แก่รัฐวิสาหกิจที่ได้รับการบรรจุไว้ในแผนการบริหารหนี้สาธารณะแล้วได้ตามความเหมาะสม และอนุมัติให้กระทรวงการคลังสามารถปรับเปลี่ยนรายชื่อรัฐวิสาหกิจที่อยู่ในข้อเสนอให้สอดคล้องกับการปรับแผนบริหารหนี้สาธารณะประจำปีนั้นๆ รวมทั้งเจรจาในอัตราดอกเบี้ยและเงื่อนไขการกู้เงินจากธนาคารพาณิชย์ทั้ง 6 แห่งด้วย

@ เผย16แห่งเบิกจ่ายงบต่ำเป้าหมาย

รายงานข่าวจากทำเนียบรัฐบาลแจ้งว่า การประชุม ครม.ครั้งนี้กระทรวงการคลังได้รายงานผลสรุปการเบิกจ่ายงบประมาณของภาครัฐ ประจำปี 2552 ว่า ส่วนราชการและรัฐวิสาหกิจมีการเบิกจ่ายแล้ว 827,384 ล้านบาท หรือ 45.09% ของวงเงินงบประมาณ จำนวน 1,835,500 ล้านบาท โดยรายจ่ายประจำ เบิกไปแล้ว 704,806 ล้านบาท จากวงเงิน 1,480,734 ล้านบาท ส่วนรายจ่ายลงทุน เบิกจ่ายได้ 122,578 ล้านบาท จากวงเงิน 354,266 ล้านบาท

สำหรับการเบิกจ่ายงบประมาณจำแนกตามหน่วยงาน พบว่ามีหน่วยงานที่เบิกจ่ายต่ำกว่าเป้าหมาย 16 หน่วยงาน จาก 25 หน่วยงาน ได้แก่ จังหวัด กระทรวงพลังงาน กระทรวงคมนาคม กระทรวงวัฒนาธรรม กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงกลาโหม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงยุติธรรม สำนักนายกรัฐมนตรี กระทรวงการต่างประเทศ ส่วนราชการไม่สังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี กระทรวงการคลัง

ข่าวแจ้งว่า หน่วยงานที่เบิกจ่ายต่ำกว่าเป้าหมาย 3 อันดับแรก ได้แก่ จังหวัด วงเงินงบประมาณ 18,279.46 ล้านบาท เบิกจ่ายได้ 12.07% ต่ำกว่าเป้าหมาย 31.97% กระทรวงพลังงาน วงเงินงบประมาณ 2,315.49 เบิก จ่าย 20.21% ต่ำกว่าเป้าหมาย 23.83% และกระทรวงคมนาคม วงเงินงบประมาณ 70,693.89 เบิกจ่าย 22.75% ต่ำกว่าเป้าหมาย 21.29% ที่ประชุมจึงกำหนดให้รัฐมนตรีต้นสังกัดเร่งรัดหน่วยงานของตนเบิกจ่ายให้ได้ตามเป้า และให้ส่วนราชการพิจารณาปรับแผน การฝึกอบรม และประชุมสัมมนาให้แล้วเสร็จภายใน เดือนมิถุนายนนี้ เพื่อแก้ไขการเบิกจ่ายที่ล่าช้า

@ สบน.ปรับแผนการกู้เงินในปท.

นายพงษ์ภาณุ เศวตรุนทร์ ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) กล่าวถึงกรณี ครม.อนุมัติวงเงินกู้เพื่อรองรับกรณีรายจ่ายสูงกว่ารายได้วงเงิน 9.4 หมื่นล้านบาทว่า สบน.ได้ปรับแผนการกู้เงินในประเทศของรัฐบาลประจำปีงบประมาณ 2552 จาก 525,860 ล้านบาท เป็น 619,859 ล้านบาท โดยปรับปรุงแผนการกู้เงินในไตรมาส 3 ปีงบประมาณ 2552 ในส่วนการประมูลพันธบัตรรัฐบาลใหม่ โดยวงเงินจะเพิ่มขึ้นจาก 9.45 หมื่นล้านบาท เป็น 1.015 แสนล้านบาท ส่วนการออกพันธบัตรในไตรมาส 4 จะปรับใหม่ คาดว่าจะมีวงเงินประมาณ 99,500 ล้านบาท

@ "มาร์ค"รับปากช่วยท่องเที่ยว

ทั้งนี้ ก่อนการประชุม ครม.จะเริ่มขึ้น ในช่วงเช้านายชุมพล ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา นำคณะสภาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย เข้าพบนายกรัฐมนตรี ที่ห้องธำรงนาวาสวัสดิ์ ชั้น 3 อาคารสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ทำเนียบรัฐบาล เพื่อเสนอแนวทางแก้ไขวิกฤตอุตสาห กรรมท่องเที่ยว 3 มาตรการ รวม 17 ข้อ ได้แก่ มาตรการกระตุ้นการเดินทางท่องเที่ยวของนักท่องเที่ยวต่างประเทศและในประเทศ รวม 11 ข้อ อาทิ ให้รัฐบาลจัดให้มีการประชุมอาเซียนบวก 3 และบวก 6 ขึ้นใหม่โดยเร็วที่สุด ขยายระยะเวลาของมาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยวที่ได้อนุมัติไว้แล้วออกไปอีก อย่างน้อยจนถึงสิ้นปี มาตรการยกเลิกค่าธรรมเนียมวีซ่านักท่องเที่ยว การลดค่าแลนด์ดิ้ง ฟรี ของสายการบิน

นายอภิสิทธิ์ได้กล่าวภายหลังการรับฟังข้อเสนอว่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวฯ จะเสนอการขยายมาตรการการกระตุ้นการท่องเที่ยวต่อที่ประชุม ครม. และมาตรการอะไรในข้อเสนอวันนี้ หากไม่เกี่ยวพันให้หน่วยงานอื่นจะต้องมาประเมินให้ความเห็นผลกระทบต่างๆ ก็คงจะสามารถเห็นชอบได้ แต่คงไม่ครอบคลุมทั้ง 17 ข้อ

@ รับจัดอาเซียน +6 พัทยาอีก"ยาก"

"เราต้องระมัดระวัง กรณีที่พัทยาถ้ารัฐบาลยืนยันว่าจะจัดการประชุมอาเซียนบวก 3 บวก 6 ที่พัทยา เรียนตรงๆ ว่ายากมาก เพราะในวันนี้ แม้จะยืนยันว่าจะจัดการประชุมในประเทศไทยก็ต้องใช้ความพยายามอย่างสูงมาก ที่จะให้ผู้นำประเทศคู่เจรจาในส่วนของบวก 3 บวก 6 ที่ไม่ค่อยมีความคุ้นเคยกับสภาพหลายอย่างในภูมิภาคของเราและมีมาตรฐานการรักษาความปลอดภัยที่สูงมาก ได้กลับมาเมืองไทยในระยะเวลาอันสั้น เพราะสิ่งที่เขาเห็นที่พัทยาเป็นเรื่อง ที่ทำให้เขาคิดหนัก แต่ผมจะไม่ลดละความพยายาม แต่ถ้าจะจัดการประชุมที่พัทยาอีกคงจะยากมาก เพราะหากจัดการประชุมแล้วเจอเหตุการณ์การชุมนุมขึ้นอีกก็จะไม่มีข้อแก้ตัวอีก" นายอภิสิทธิ์กล่าว

นายกฯกล่าวว่า ข้อเสนอทั้งหมดในวันนี้จะพิจารณาดำเนินการเท่าที่จะทำได้ โดยในส่วนของมาตรการที่จะเป็นภาระกับด้านการคลังมากขึ้นจะต้องพิจารณาให้รอบคอบ เพราะจะมีปัญหาที่ตามมาในเรื่องการจัดเก็บรายได้ ที่ปีนี้คาดว่าจะต่ำกว่าเป้าหมายไม่ต่ำกว่า 2 แสนล้านบาท ซึ่งจะส่งผลให้งบประมาณในปีหน้าที่เคยตั้งไว้จะต้องปรับลดงบประมาณลงมาประมาณ 2 แสนล้านเช่นกัน

@ บัวแก้วเสนอจัดประชุมที่ภูเก็ต

ภายหลังประชุม ครม. นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า ขณะนี้กระทรวงการต่างประเทศกำลังสอบถามไปยังประเทศที่เกี่ยวข้อง แต่เบื้องต้นหากจะจัดขึ้นในเดือนพฤษภาคม จะติดปัญหาที่ประเทศอินเดียกำลังจะเปลี่ยนแปลงรัฐบาล เนื่องจากกำลังเลือกตั้งและอยู่ในช่วงรัฐบาลรักษาการ ซึ่งในเดือนพฤษภาคมน่าจะมีผลการเลือกตั้งออกมา แต่ยังคงตั้งรัฐบาลไม่เสร็จ นอกจากนั้นก็จะมีอีก 2 ประเทศที่ติดเรื่องงบประมาณ ดังนั้นจึงต้องดูช่วงเวลา และจะเสนอเรื่องสถานที่ให้ประเทศต่างๆ พิจารณาด้วยว่าจะเห็นพ้องต้องกันหรือไม่ เพื่อให้ทุกฝ่ายสบายใจและมั่นใจ เข้าใจว่าขณะนี้กระ ทรวงการต่างประเทศกำลังพิจารณา จ.ภูเก็ต อยู่

ผู้สื่อข่าวถามว่า มั่นใจว่าจะสามารถจัดประชุมรอบนี้สำเร็จหรือไม่ นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า ก็ต้องทำเต็มที่ เพราะเป็นหน้าที่ของรัฐบาล ส่วนระยะเวลาในการจัดนั้น นายสุรินทร์ พิศสุวรรณ เลขาธิการอาเซียน และหลายประเทศอยากให้จัดขึ้นเร็วเพื่อหารือเรื่องการเงิน โดยเฉพาะกรณีที่ธนาคารโลกและกองทุนการเงินระหว่างประเทศมีสินเชื่อใหม่และกติกาใหม่ในการปล่อยสินเชื่อ จึงอยากจะดูว่าภูมิภาคอาเซียนจะใช้ประโยชน์ได้อย่างไร ซึ่งหลายฝ่ายก็มองค่อนข้างตรงกันว่าน่าจะจัดประชุมให้ได้ภายในเดือนมิถุนายน เพื่อประโยชน์ในการเร่งรัดความเห็นพ้องต้องกันเกี่ยวกับแหล่งเงินทุนที่จะนำมาพัฒนาและแก้ปัญหาวิกฤตของภูมิภาค จากนั้นจะมีการประชุมอีกครั้งในเดือนกรกฎาคม ซึ่งเป็นการประชุมระดับรัฐมนตรีต่างประเทศ และประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนครั้งที่ 15 ในเดือนตุลาคม "หากจัดประชุมไม่ได้จะกระทบกับผลประโยชน์ของภูมิภาค โดยประเทศไทยก็จะได้รับผลกระทบเพิ่มเติมอีก" นายกฯกล่าว

@ พณ.แถลงส่งออกมี.ค.ลบ 23.1%

นายศิริพล ยอดเมืองเจริญ ปลัดกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า การส่งออกเดือนมีนาคมปีนี้ มีมูลค่า11,556 ล้านเหรียญสหรัฐ เทียบกับเดือนมีนาคม 2551 ติดลบ 23.1% ทั้งนี้ การส่งออกเดือนมีนาคมลดลงในทุกหมวดสินค้า โดยสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรติดลบ 20.6% สินค้าอุตสาหกรรมติดลบ 21.6% และสินค้าอื่นๆ ติดลบ 32%

นายดุสิต นนทะนคร ประธานกรรมการสภาหอการค้าไทย กล่าวหลังการประชุมหอการค้า ไทยว่า สถานการณ์ในประเทศขณะนี้แม้ดูเหมือนว่าสงบ แต่ยังมีสัญญาณความขัดแย้งอยู่ จึงอยากให้ภาครัฐทำทุกวิถีทางให้เกิดความสงบ ส่วนนักธุรกิจทั้งภูมิภาคและส่วนกลางจะดูแลตัวเองมากขึ้น "การที่รัฐจะจัดประชุมอาเซียน +3 และ +6 อีกครั้ง ที่ จ.ภูเก็ต ในช่วงกลางปีนี้ เห็นว่าเหมาะสมและเป็นเรื่องจำเป็นอย่างยิ่ง เป็นการแสดงให้เห็นว่าไทยมีความพร้อม เรื่องนี้หอการค้าฯพร้อมสนับสนุนเต็มที่ เพราะยิ่งการประชุมเกิดขึ้นเร็วเท่าไรจะเป็นผลดีต่อประเทศเมื่อนั้น" นายดุสิตกล่าว

ส่วนจีดีพีปีนี้นายดุสิตกล่าวว่า ต้องบอกว่าติดลบแน่นอน เพียงหวังว่าจะทำอย่างไรให้อยู่รอดให้ได้ หวังว่าในไตรมาส 3 และ 4 ทั่วโลกจะมีเงินมาสั่งซื้อสินค้าไทยมากขึ้น "ยอมรับว่ามีความกังวลเรื่องการเลิกจ้าง แต่ตัวเลขเป็นเท่าไรนั้นไม่มีการพูดคุยในที่ประชุมเพราะจะทำให้เกิดการบั่นทอนมากขึ้น" นายดุสิตกล่าว

@ มูดี้ส์ฯปรับลดจีดีพีไทยเป็น -4%

นายโธมัส เบิร์น รองประธานอาวุโส กลุ่มประเมินความเสี่ยงตราสารหนี้ของบริษัท มูดี้ส์ อินเวสเตอร์ เซอร์วิส เขียนรายงานประเมินสถานการณ์การเมืองไทย ให้กับผู้รับบริการของบริษัท ระบุว่าหากฝ่ายต่างๆ ทางการเมืองในไทยไม่สามารถบรรลุถึงข้อตกลงรอมชอมกันได้ สถาน การณ์ทางการเมืองก็อาจส่งผลในทางลบต่อพื้นฐานของหนี้สินของไทยได้ในระยะยาว รายงาน ของมูดี้ส์ชี้ว่า แม้ทหารจะช่วยเข้ามาควบคุมสถานการณ์ใน กทม.ไว้ได้ แต่การลอบสังหารเมื่อวันที่ 17 เมษายนที่ผ่านมาแสดงให้เห็นว่าสถานการณ์การเมืองไทยยังไม่นิ่งและเต็มไปด้วยอันตราย

มูดี้ส์ปรับประมาณการภาวะเศรษฐกิจไทยลดลงเป็น -4 เปอร์เซ็นต์ จากเดิมที่เคยประเมินไว้ว่า ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ในปีนี้จะอยู่ที่ -3 เปอร์เซ็นต์ ยิ่งวัฏจักรของความตึงเครียดและปั่นป่วนทางการเมืองดำเนินไปยาวนานเท่าใด ยิ่งจะส่งผลในทางลบต่อเศรษฐกิจของประเทศมากขึ้นเท่านั้น ความพยายามของรัฐบาลในการนำเอามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจมาใช้จะถูกเบียดออกไปให้ความสำคัญกับการสร้างเสถียรภาพทางการเมืองมากกว่า

ในขณะที่พื้นฐานหนี้ของไทยจะยังคงสามารถรองรับอาการช็อคจากภาวะถดถอยทั่วโลก และการชะลอการลงทุนจากต่างประเทศเอาไว้ได้ แต่มูดี้ส์ระบุว่าภาวะล่มสลายของความเชื่อมั่นของคนไทยด้วยกันเองจะนำไปสู่ภาวะเสื่อมทรุดของพื้นฐานหนี้ของประเทศได้ในที่สุด

หน้า 1

http://www.matichon.co.th/matichon/view_news.php?newsid=01p0103220452&sectionid=0101&day=2009-04-22

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

ผู้ติดตาม

คลังบทความของบล็อก

เกี่ยวกับฉัน

รูปภาพของฉัน
ต้องรู้เท่าทันในการรับรู้ข่าวสารจากทุกแหล่งข่าว/ FACT - Freedom Against Censorship Thailand กลุ่มเสรีภาพต่อต้านการเซ็นเซอร์แห่งประเทศไทย http://facthai.wordpress.com/