วันพฤหัสบดีที่ 16 เมษายน พ.ศ. 2552

ถึงเวลารัฐบาลผ่าทางตันเกษตรไทย

วันที่ 16 เมษายน พ.ศ. 2552 ปีที่ 32 ฉบับที่ 11359 มติชนรายวัน


ถึงเวลารัฐบาลผ่าทางตันเกษตรไทย


โดย อนันต์ ดาโลดม นายกสมาคมพืชสวนแห่งประเทศไทย




เทศกาลสงกรานต์ที่ผ่านมา บริษัท ห้าง ร้าน ต่างๆ ได้หยุดทำงานกันชั่วคราวเพื่อเปิดโอกาสให้พนักงานได้เดินทางกลับคืนสู่ถิ่นลำเนาบ้านเกิดของแต่ละคน

แต่ดูเหมือนว่าหลายคนอาจเป็นช่วงเวลาที่ต้องพักผ่อนยาวด้วยเงื่อนไขของการถูกเลิกจ้าง

และอีกจำนวนหนึ่งไม่สามารถแบกรับภาระรายจ่ายในขณะที่รายได้ถูกลดลงจากภาวะเศรษฐกิจโลกชะลอตัวจนกระทบต่อเศรษฐกิจไทยให้ถดถอยตาม โดยประเมินกันว่าปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจครั้งนี้จะทำให้แรงงานในภาคอุตสาหกรรมปี 2552 อาจตกงานในระดับล้านคน

อย่างไรก็ตาม ที่น่าเศร้าใจมากกว่านั้น แรงงานเหล่านี้เมื่อกลับคืนสู่ถิ่นชนบทจะหันไปพึ่งพาภาคเกษตร ด้วยการกลับไปทำไร่ ไถนา ทำสวน เลี้ยงสัตว์ ทำประมง เหมือนเช่นอดีตที่ผ่านมาก็ดูจะลำบากมากขึ้นกว่าเดิม เพราะมีปัญหามากมายเช่นกันไม่ว่าปัญหาภัยแล้งหรือราคาผลผลิตตกต่ำ เป็นต้น

นโยบายของทุกรัฐบาลที่แถลงต่อรัฐสภาต่างก็ให้ความหวังกับภาคเกษตรกรไทยทุกครั้งเช่นเดียวกัน แต่ข้อเท็จจริงที่ผ่านมา นโยบายเหล่านั้นก็แค่การให้ความหวังลมๆ แล้งๆ ไม่ปรากฏผลในทางปฏิบัติเท่าใดนัก

ดังนั้น เพื่อให้นโยบายด้านการเกษตรของรัฐบาลหรือที่ปรากฏอยู่ในแผนพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติบรรลุผลทางปฏิบัติ รัฐบาลปัจจุบันควรจะจัดตั้งคณะทำงานจัดทำยุทธศาสตร์และมาตรการในการแก้ไขปัญหาและพัฒนาการเกษตรอย่างยั่งยืน ซึ่งประกอบด้วย

ระยะสั้นสำหรับการช่วยเหลือภาคการเกษตรในภาวะวิกฤตเศรษฐกิจ

ผลพวงจากวิกฤตเศรษฐกิจจะมีผลต่อราคาสินค้ามากกว่าปริมาณ โดยเฉพาะเกษตรที่พึ่งพิงการส่งออกได้แก่ ยางพารา จะเป็นปัญหาสุดเพราะอุตสาหกรรมรถยนต์ลดกำลังผลิต อ้อย (น้ำตาล) ไก่เนื้อ ข้าว รวมถึงผลไม้ โดยเฉพาะทุเรียน มังคุด ลำไย เป็นต้น รัฐบาลสามารถช่วยเหลือและลดระดับความรุนแรงของปัญหาได้โดย

1. ลดต้นทุนการผลิตของเกษตรกร

-รัฐบาลควรพิจารณาลดดอกเบี้ยเงินกู้ให้กับเกษตรกรและสถาบันเกษตรกร เช่น สหกรณ์การเกษตร กลุ่มเกษตรกร เพราะดอกเบี้ยเงินกู้ที่ผ่านทางธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) แม้ในยามปกติอยู่ที่ 7.5-9.5% ต่อปี ถือเป็นอัตราที่สูงมากเมื่อเทียบกับญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ไต้หวัน อเมริกา และสหภาพยุโรป ซึ่งรัฐบาลชดเชยส่วนต่างของดอกเบี้ยที่ลดให้เกษตรกรให้แก่ ธ.ก.ส.ปีละประมาณ 20,000-30,000 ล้านบาท ซึ่งน้อยมากเมื่อเทียบกับงบประมาณที่ใช้ในการรับจำนำสินค้าเกษตรและไม่สามารถแก้ไขปัญหาการทุจริตได้

-จัดหาปัจจัยการผลิตราคาถูกให้แก่เกษตรกร เช่น ปุ๋ยเคมี อาหารสัตว์ ผ่านทางสหกรณ์การเกษตร หรือลูกค้า ธ.ก.ส. โดยรัฐกำหนดมาตรการและจัดการบริหารเพื่อป้องกันการรั่วไหลทุจริต

2. เพิ่มการจ้างงานในชนบทและภาคเกษตรด้วยการลงทุนโครงการพัฒนาแหล่งน้ำและระบบชลประทาน

-รัฐบาลสมัย พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ได้ใช้งบประมาณในการแก้ไขปัญหาราคาสินค้าเกษตร ด้วยการรับจำนำข้าวเปลือก มันสำปะหลัง ลำไย ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ เป็นเงินหลายแสนล้านบาทเป็นการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า เงินจำนวนมหาศาลเหล่านี้สามารถนำไปสร้างและพัฒนาโครงการชลประทานครอบคลุมพื้นที่การเกษตรได้ทั้งประเทศ ดังนั้น วิกฤตเศรษฐกิจปัจจุบันการพัฒนาระบบโครงการชลประทานจะก่อให้เกิดการจ้างงาน กระจายรายได้สู่ชนบทในภาคการเกษตร และเป็นการลงทุนที่ก่อให้เกิดประโยชน์ในชนบทแบบยั่งยืน สามารถแก้ไขปัญหาภัยแล้ง ซึ่งประเทศไทยมีลุ่มน้ำหลักถึง 25 ลุ่มน้ำ จากเหนือจรดใต้และห้วย หนอง คลอง บึง กระจายอยู่ทั่วประเทศ นับว่าไทยอุดมสมบูรณ์ด้วยทรัพยากรน้ำแต่ก็ประสบภัยแล้งมากสุดประเทศหนึ่งเพราะขาดการบริหารจัดการที่ดี

3. การฝึกอบรม พัฒนาเกษตรกร

-โอกาสนี้ รัฐบาลควรเพิ่มทักษะและฝึกอบรมเกษตรกรให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ให้มีความพร้อมทั้งวิทยาการด้านการผลิตและการตลาดเหมือนกับโครงการฝึกอบรมที่รัฐบาลลงทุนให้กับภาคอุตสาหกรรม บริการและท่องเที่ยว

4. จัดสรรงบประมาณกระตุ้นภาคเกษตร

-รัฐบาลมิควรจะละเลยในการจัดสรรงบประมาณสำหรับภาคการเกษตรเช่นเดียวกับงบฯกระตุ้นภาคอุตสาหกรรม บริการและท่องเที่ยว เพื่อเกษตรกรคือคนส่วนใหญ่ของประเทศ

การนำเงินนับแสนล้านบาทในการรับจำนำพืชผลทางการเกษตรที่ผ่านมา ผลประโยชน์ไม่ได้ตกถึงมือเกษตรกรเท่าที่ควร เกษตรกรส่วนใหญ่จึงยังรู้สึกว่ารัฐบาลทอดทิ้ง

ข้อเสนอสำหรับระยะกลางและระยะยาว

1. จัดที่ทำกินให้เกษตรกร โดยเฉพาะผู้ซึ่งไม่มีที่ดินเป็นของตนเองหรือเกษตรกรราว 1 ล้านครอบครัว จากจำนวนเกษตรกร 5.7 ล้านครอบครัวให้สำเร็จ ควบคู่ไปกับการรักษาพื้นที่ทางการเกษตรปัจจุบันไม่ให้เปลี่ยนไปทำกิจกรรมอื่นโดยเฉพาะในเขตชลประทาน

2. จัดสร้างเขื่อน อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ กลาง และเล็ก เพื่อให้เกษตรกรมีน้ำใช้อย่างพอเพียงโดยคำนึงถึงทรัพยากรธรรมชาติ ป่าไม้ และระบบนิเวศวิทยา และผลกระทบต่อประชาชนในพื้นที่ให้น้อยที่สุด

3. พัฒนาระบบการวิจัยและพัฒนาหรือ R&D ด้วยการสร้างเทคโนโลยีสมัยใหม่ผสมผสานกับภูมิปัญญาแบบไทยๆ วิจัยพันธุ์พืชและกระจายพันธุ์ดีสู่เกษตรกร

4. นโยบายด้านราคาและมาตรการด้านการตลาด การแทรกแซงราคาพืชผลทางการเกษตรควรดำเนินการเท่าที่จำเป็นและต้องตกถึงมือเกษตรกร ไม่ทำลายกลไกตลาด ส่วนทางการตลาดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์และสถาบันเกษตรกรต้องมีบทบาทสำคัญในการเข้าไปมีส่วนร่วมพิจารณาในการกำหนดนโยบายและมาตรการราคาสินค้าเกษตรของกระทรวงพาณิชย์

5. การเจรจาข้อตกลงการค้าทั้งในระดับพหุภาคีและทวิภาคี หากการเจรจามีผลกระทบต่อภาคการเกษตร รัฐต้องให้ตัวแทนเกษตรกร องค์กรพัฒนาเอกชนหรือเอ็นจีโอมีส่วนร่วมในข้อคิดเห็น

6. นโยบายด้านสินเชื่อเพื่อการเกษตร รัฐบาลควรกำหนดอัตราดอกเบี้ยสำหรับภาคเกษตรใหม่ให้สอดคล้องกับประเทศอื่นๆ เนื่องจากไทยมีดอกเบี้ยในภาคเกษตรสูงมาก

7. ควรมีกฎหมายสำหรับการพัฒนาการเกษตรและสิ่งแวดล้อมโดยเฉพาะ มีผลบังคับใช้ 4-6 ปีเช่น สหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป

8. ผลักดันให้มีกฎหมายสภาการเกษตร เพื่อเป็นองค์กรที่เป็นตัวแทนของเกษตรกรและสถาบันการเกษตรทำหน้าที่เหมือนกับสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย

เป็นไปได้หรือไม่ ที่รัฐบาลจะสร้างความหวังให้กับภาคเกษตกรไทยที่มีนโยบายจะแก้ไขปัญหาเกษตรกรให้พ้นบ่วงจากวงจรความยากจน ความยากลำบากในการดำรงชีวิตที่สืบทอดกันมาหลายชั่วอายุคน....

หน้า 7
http://www.matichon.co.th/matichon/view_news.php?newsid=01act02160452&sectionid=0130&day=2009-04-16
 





Rediscover Hotmail®: Get e-mail storage that grows with you. Check it out.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

ผู้ติดตาม

คลังบทความของบล็อก

เกี่ยวกับฉัน

รูปภาพของฉัน
ต้องรู้เท่าทันในการรับรู้ข่าวสารจากทุกแหล่งข่าว/ FACT - Freedom Against Censorship Thailand กลุ่มเสรีภาพต่อต้านการเซ็นเซอร์แห่งประเทศไทย http://facthai.wordpress.com/