วันพุธที่ 22 เมษายน พ.ศ. 2552

ท่องเที่ยวไทย โอกาสในวิกฤตซ้อนวิกฤต?

วันที่ 22 เมษายน พ.ศ. 2552 ปีที่ 32 ฉบับที่ 11365 มติชนรายวัน


ท่องเที่ยวไทย โอกาสในวิกฤตซ้อนวิกฤต?


โดย มิ่งสรรพ์ ขาวสอาด สถาบันศึกษานโยบายสาธารณะ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่



คงเป็นที่แน่นอนแล้วว่า จนถึงสิ้นปีนี้ภาคเศรษฐกิจท่องเที่ยวไทยซึ่งเป็นแม่ห่านไข่ทองคำตัวเดียวที่เหลืออยู่ของประเทศไทยได้ถูกเชือดไปเรียบร้อยแล้ว สำหรับปีนี้การที่เรามีเหตุการณ์ไม่สงบในบ้านเมืองถึง 2 ครั้งใน 5 เดือน รวมทั้งข่าวร้ายอื่นๆ ที่ตามมานับเป็นการตอกฝาโลงของการท่องเที่ยวไปจนสิ้นไฮ ซีซั่น (Hi season) หน้าทีเดียว

ส่วนอนาคตในปี 2553 นั้นก็คงขึ้นกับการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง ถ้ายังเป็นรถไฟเหาะตีลังกาอย่างที่ผู้สื่อข่าวต่างประเทศให้สมญา การท่องเที่ยวคงต้องจำศีลกันไปอีกนาน

สำหรับมาตรการเฉพาะหน้าน่าจะเป็นการสร้างดีมานด์สำหรับคนไทย (ถ้าไม่มีการปิดถนนทั่วประเทศอีก) การออกโรดโชว์ หรือไปให้ความมั่นใจต่างชาติไม่น่าจะมีผลสักเท่าไหร่ เพราะข่าวที่ออกไปทั่วโลกเป็นหลักฐานที่นานาชาติเชื่อถือมากกว่าคำพูดของตัวแทนรัฐบาลไทยเสียอีก

เอาเงินที่เตรียมไว้ทำโรดโชว์นั้นมากระตุ้นการท่องเที่ยวในประเทศจะดีกว่า

เช่นออกคูปองส่วนลด เช่น ซื้อคูปอง 5,000 บาท ใช้กับโรงแรม ร้านค้าได้ 8,000 บาท กรณีนี้โรงแรม ร้านค้า ก็ต้องร่วมรายการด้วย

อย่างไรก็ดี เช็คหรือคูปองจะมีปัญหาด้านความยุติธรรมว่าใครควรจะได้ ใครควรได้ก่อน สู้มาตรการต่อไปไม่ได้ กล่าวคือ ให้เด็กประถมปลายทุกคนได้ท่องเที่ยวให้รู้จักประวัติศาสตร์ท้องถิ่นของตน

งานนี้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในจังหวัดท่องเที่ยวหลักโดยเฉพาะ อบจ.ต้องเป็นเจ้าภาพ ควรใช้เงินรายได้มาสนับสนุนเด็กให้ศึกษาหาความรู้เกี่ยวกับท้องถิ่นของตน

ส่วนกระทรวงศึกษาธิการเป็นเจ้าภาพให้เด็กมัธยมทุกคนได้ไปเที่ยวชมอุทยานประวัติศาสตร์และอุทยานทางธรรมชาติ

วิธีการนี้เป้าหมายชัดเจน จัดการง่าย มีองค์กรเจ้าภาพ รัฐแจกคูปองต่อหัวให้โรงเรียนแล้วโรงเรียนเรียกประมูลบริษัทที่ให้เงื่อนไขดีที่สุด

ส่วนเจตนาดีที่จะนำคนแก่ไปเที่ยวอย่างที่กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาคิดจะทำนั้นจัดการค่อนข้างยาก และมีปัญหามาก เช่น คนแก่คนไหนจะได้ไป แก่แค่ไหนถึงจะไปได้ แก่แค่ไหนถือว่าแก่เกินไปไปเที่ยวไม่ได้ ฯลฯ แถมยังมีปัญหาการดูแลสุขภาพ เพราะคนแก่กระดูกเริ่มพรุนแล้วหกล้มไปกระดูกหักเป็นท่อนๆ จะลำบากเสียเปล่าๆ

หากคิดจะให้คนแก่ไปเที่ยวก็ควรสนับสนุนให้ลูกหลานนำไปเที่ยวจะปลอดภัยกว่า ซึ่งกระทรวงการท่องเที่ยวฯ ควรทำตั๋วลูกกตัญญูให้ส่วนลดพิเศษ 50% สำหรับครอบครัวที่พาบุพการีไปเที่ยวทุกรายการ (ร่วมกับบริษัทขนส่ง ที่พัก ร้านอาหาร ที่เข้าร่วมโครงการ)

ส่วนมาตรการลดภาษีหรือเงินกู้คงเป็นมาตรการที่ไม่มีประสิทธิภาพเท่าไหร่ เพราะหากไม่มีดีมานด์ก็ไม่รู้จะกู้ไปทำอะไร แต่ที่รัฐควรให้ความสนใจ คือ การให้กู้เพื่อขยายกิจการด้านการฝึกอบรมด้านโรงแรมและการท่องเที่ยวให้แก่ประเทศลุ่มแม่น้ำโขง

รัฐควรใช้เงินที่ให้ความช่วยเหลือประเทศ ลาว เขมร เวียดนาม เป็นการฝึกอบรมการท่องเที่ยวในและโดยโรงแรมไทย การที่เรามักจะโม้ว่า เราเป็นฮับ (Hub) ในลุ่มแม่น้ำโขง เราควรฉวยโอกาสนี้ส่งคนตกงานที่ฝึกแล้วหรือยกกิจการไปเสียมเรียบ ซึ่งท่องเที่ยวกำลังบูมอย่างสุดสุด หรือเวียดนามซึ่งกำลังขาดการจัดการมากที่สุด

ในระยะยาว การท่องเที่ยวของไทยก็อาจจะประสบกับปัญหาการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างที่สำคัญคือ ปัญหาโลกร้อนหรือปัญหาการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ เช่น ฤดูกาลเปลี่ยนไป อุณหภูมิเปลี่ยนไป จำนวนวันที่อุณหภูมิเพิ่มมากขึ้น ปริมาณน้ำฝนลดลง เกิดพายุรุนแรงขึ้น และถี่ขึ้น ฯลฯ เสน่ห์หรือความดึงดูดใจด้านท่องเที่ยว เช่น ทิวทัศน์ ความงาม ความเย็นของอากาศ ความหลากหลายทางชีวภาพลดลง และปะการังฟอกขาว ปรากฏการณ์เหล่านี้จะทำให้แหล่งท่องเที่ยวบางแห่งลดความน่าดึงดูดใจ

นี่ยังไม่นับรวมถึงโอกาสที่กิจการท่องเที่ยวบางประเภทจะถูกบังคับให้ลดการใช้คาร์บอน บางทวีปจะเริ่มบังคับให้สายการบินทุกสายการบินลดคาร์บอนหรือซื้อคาร์บอนเครดิตจากกิจกรรมที่ลดคาร์บอนได้ ทำให้ต้นทุนการใช้พลังงาน และการใช้ทรัพยากรอย่างฟุ่มเฟือย (เช่น การใช้น้ำในโรงแรม) สูงขึ้น

ภาวะโลกร้อนจะปิ้งแม่ห่านทองคำของเราอย่างไร ที่ประชุมเพื่อจัดทำแผนแม่บทเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศซึ่งสำนักงานโยบายและแผนทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม (สผ.) ได้มอบหมายให้สถาบันศึกษานโยบายสาธารณะ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เป็นผู้ศึกษา ได้จัดประชุมที่โรงแรมมิราเคิล แกรนด์

คุณภราเดช พยัฆวิเชียร อดีตผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ได้ฟันธงว่าภาคท่องเที่ยวและภาคเกษตรจะเป็นสองภาคเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบจากโลกร้อนมากที่สุด

ที่ประชุมยังได้รับเกียรติจาก ดร.อานนท์ สนิทวงศ์ ณ อยุธยา ซึ่งเป็นเกจิเรื่องโลกร้อน มาเผยแพร่ข้อมูลว่าโลกร้อนจะส่งผลกระทบต่อแม่ห่านไข่ทองคำอย่างแน่นอน เพราะการท่องเที่ยวเป็นภาคที่อ่อนไหวต่อโลกร้อนมาก กิจกรรมหลายกิจกรรมกลายเป็นกิจกรรมที่ไม่น่าอภิรมย์ เมื่ออุณหภูมิสูงขึ้น แห้งแล้งขึ้น เช่น ไต่เขา และเที่ยวน้ำพุร้อน เป็นต้น ส่วนกิจกรรมที่อาศัยน้ำจะดีขึ้นถ้าฝนชุกขึ้น เช่น ล่องแก่ง หรือเที่ยวน้ำตก แต่ถ้าฝนมากไปก็เป็นอันตราย ถ้าแล้งไปก็ไม่มีคนเที่ยว

ดร.อานนท์ยังพบอีกว่า ภาคเหนือที่อาศัยอากาศเย็นเป็นจุดขายมีผลกระทบมากกว่าภาคอื่นๆ ส่วนภาคใต้วันฝนตกจะยาวนานขึ้น ส่วนพังงา ตรัง กระบี่ วันฝนตกจะลดลง ฤดูกาลท่องเที่ยวอันดามันตอนล่างจะยาวขึ้น เพราะมรสุมจะหมดเร็วขึ้น

ในสถานการณ์ที่โลกร้อนขึ้นเราจะทำอย่างไร สำหรับกิจกรรมท่องเที่ยวจะมีความเสี่ยงในระดับสูงมาก ดังนั้น ประเด็นยุทธศาสตร์ที่เร่งด่วน ก็คือ การให้ความรู้แก่ผู้ประกอบการเพื่อพัฒนากิจกรรมทดแทน และกิจกรรมที่รองรับภาวะโลกร้อนได้ เช่น การเที่ยวชมถ้ำแทนการชมน้ำพุร้อน และหามาตรการการปรับตัวต่างๆ เช่น ปรับเวลาเข้าชมแหล่งท่องเที่ยวเป็นตอนเย็น เช่น ตั้งแต่เวลา 16.00-18.00 น. เป็นต้น ตลอดจนฉกฉวยโอกาสของธุรกิจใหม่ กรีนโลจิสติคส์ และ "การท่องเที่ยวลดโลกเฮี้ยว"

สำหรับนักท่องเที่ยวแล้วมีทางเลือกในการปรับตัวเข้ากับปัญหาโลกร้อนได้ง่ายก็เพียงเปลี่ยนสถานที่ท่องเที่ยว แต่สำหรับผู้ประกอบการในแหล่งท่องเที่ยวแล้วโอกาสปรับตัวนับว่าน้อยกว่า แต่ก็ยังดีกว่าไม่คิดไม่ทำเลย

คุณภราเดชย้ำว่า เราต้องปรับกระบวนทัศน์ในการวางแผนดำเนินการพัฒนาสินค้าและการตลาดด้วยวิธีใหม่ ต้องสร้างมาตรการท่องเที่ยวลดโลกร้อน ในระดับภูมิภาคเพื่อจะได้ไม่ต้องไปซื้อของต่างประเทศ และต้องทำวิจัยเสริมให้หาเทคโนโลยีที่เหมาะสม การพึ่งตัวเอง การใช้วัสดุท้องถิ่น พลังงานทดแทน การลดการบำบัดของเสียด้วยสารเคมี

พัฒนากิจกรรมที่เหมาะกับความร้อนที่เป็นกิจกรรมในร่ม เช่น โยคะร้อน เป็นต้น

ผู้เขียนยังมีความเชื่อมั่นว่า ภาคเศรษฐกิจท่องเที่ยวจะยังอยู่คู่ประเทศไทยไปอีกนานไม่ว่าจะมีวิกฤตซ้อนวิกฤตอีกกี่ครั้ง แต่วิธีประกอบกิจการอาจจะต้องเปลี่ยนไป จะต้องมีโครงสร้างเล็กลงหรือยืดหยุ่นมากขึ้น

โอกาสใหม่ๆ เกิดขึ้นได้เสมอ ยิ่งเงื่อนไขเดิมเปลี่ยนแปลงไปมากเท่าไหร่ โอกาสใหม่ก็เกิดขึ้นมากเท่านั้น เมื่อเราผ่านพ้นวิกฤตคราวนี้ เราจะมีอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแข็งแรงที่สุดในเอเชีย

คนที่รู้ก่อน แก้ไขก่อน เห็นโอกาสก่อน ก็คือคนที่อยู่รอดในที่สุด สู้สู้!!

หน้า 6

http://www.matichon.co.th/matichon/view_news.php?newsid=01act03220452&sectionid=0130&day=2009-04-22

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

ผู้ติดตาม

คลังบทความของบล็อก

เกี่ยวกับฉัน

รูปภาพของฉัน
ต้องรู้เท่าทันในการรับรู้ข่าวสารจากทุกแหล่งข่าว/ FACT - Freedom Against Censorship Thailand กลุ่มเสรีภาพต่อต้านการเซ็นเซอร์แห่งประเทศไทย http://facthai.wordpress.com/