วันอาทิตย์ที่ 26 เมษายน พ.ศ. 2552

คิมหันต์ ภูกระดึง...ตราตรึงมนต์เสน่ห์ “ป่าปิด”

คิมหันต์ ภูกระดึง...ตราตรึงมนต์เสน่ห์ "ป่าปิด"
โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์ 22 เมษายน 2552 13:00 น.
น้ำตกขุนพอง ไฮไลท์แห่งป่าปิด
       "ครั้งหนึ่งในชีวิต เราคือผู้พิชิตภูกระดึง" (1,288 เมตร)
       
       พลันที่เห็นข้อความนี้ที่ปรากฏเด่นหราบนหลังแป "ตะลอนเที่ยว"รู้สึกหายเหนื่อยเป็นปลิดทิ้ง เพราะนี่คือสิ่งประทับตราว่าเรามาถึงบนยอดภูกระดึงแล้ว
       
       ต่อจากนี้ต่อไปจะเป็นการเดินเท้าแบบชิลล์ ชิลล์ บนทางราบจากหลังแปไปยังศูนย์บริการนักท่องเที่ยววังกวางอีกประมาณ 3 กิโลเมตร เพื่อให้เราได้พักผ่อนเอาแรงในการออกตะลุยเที่ยวภูกระดึงต่อไปในวันรุ่งขึ้น

ทิวสน ดงเฟิน ในเส้นทางป่าปิดช่วงแรก
       สำหรับการขึ้นภูกระดึงครั้งนี้ แม้จะเป็นกลางฤดูร้อนที่กรุงเทพฯร้อนระยับ ทั้งสภาพอากาศและเหตุบ้านการเมือง แต่อากาศบนภูกระดึงกลับเย็นสบาย แถมยังเย็นยะเยือกในบางช่วงด้วยสายลมที่พัดแรงจนต้นสนสะท้าน คนสะทกสะท้อน
       
       "ภูกระดึงมันต้องเที่ยวหน้าหนาวสิ ถึงจะสวย ไปหน้าร้อน มันจะมีอะไรให้ดูล่ะ" กัลยาณมิตรหลายคนทักกับเราก่อนไป
       
       จริงอยู่ เสน่ห์อันแรงกล้าของภูกระดึงนั้นอยู่ช่วงหน้าหนาวที่มีคนขึ้นไปเที่ยวกันเพียบ แต่ในช่วงฤดูร้อน ภูกระดึงก็มีเสน่ห์แห่งคิมหันตฤดูให้ขึ้นไปค้นหาอยู่ไม่น้อย โดยเฉพาะ"เส้นทางสายป่าปิด" มณีแห่งไพรพฤกษ์บนภูสูงที่มากไปด้วยธรรมชาติงดงามชวนค้นหา

ดอกกระเจียวข้างทาง
       ป่าปิด เป็นพื้นที่พิเศษเขตป่าดงดิบที่มีความอุดมสมบูรณ์ทางธรรมชาติสูงมากทั้ง พืชพรรณ สัตว์ป่า ลำธาร น้ำตก ด้วยเหตุนี้ทางอุทยานแห่งชาติจึงเปิดให้นักท่องเที่ยวเข้าเที่ยวชมป่าปิดในระยะทางประมาณ 15 กม.ได้เฉพาะในฤดูร้อน โดยต้องมีเจ้าหน้าที่อุทยานฯเป็นผู้นำทาง ทั้งนี้ก็เพื่อไม่ให้หลงป่าและช่วยดูแลความปลอดภัย ซึ่งการเข้าป่าปิดในครั้งนี้เราได้พี่"สงวน ขวัญมาก" เป็นเจ้าหน้าที่นำทาง
       
       เห็นนามสกุลแบบนี้ เวลาเข้าป่าไม่ต้องกลัวขวัญหนีดีฝ่อ เพราะพี่สงวนแกมีขวัญมากมายไว้คอยเติมเต็มคนที่ขวัญหลบลี้หนีหายไป ส่วนที่ไม่มากมายเหมือนขวัญก็คือคณะนักท่องเที่ยวผู้เข้าป่าปิด ที่ทริปนี้มีเพียงแค่ 5 คน(+1 ลูก) คือ "ตะลอนเที่ยว" พี่สงวน กับอีก 3 สาวนักท่องเที่ยวขาลุย (+1 ลูก คือลูกซองอุทยานฯที่พี่สงวนปกไว้ป้องกันอันตราย) เท่านั้นเอง

ดอกไม้ดินริมทาง
       เอาล่ะ เมื่อชาวคณะพร้อมทั้งเสบียง(น้ำ ข้าวห่อ ขนมขบเคี้ยว ฯ) พร้อมทั้งอุปกรณ์(กล้องถ่ายรูป ถุงเท้ากันทาก หมวก ผ้าขาวม้า ฯ) และพร้อมทั้งใจ(ใจที่พร้อมจะลุยและเปิดรับสิ่งใหม่ๆที่จะได้พบเจอ) การเดินทางก็เริ่มขึ้นจากศูนย์บริการฯเดินไปตามเส้นทางท่องเที่ยวภูกระดึงปกติสู่องค์พระพุทธเมตตา ซึ่งเราแวะหยุดสักการะเอาฤกษ์เอาชัย ก่อนจะต่อไปยังน้ำตกธารสวรรค์ ที่พวกเราไม่แวะ หากแต่เลือกเดินแยกออกจากเส้นทางปกติเข้าสู่เส้นทางป่าปิดข้างทางลงน้ำตก
       
       ป่าปิดช่วงแรกนี้เดินสบาย ไม่รกทึบ สองข้างทางมีดงเฟินหนาแน่นสีเขียวแจ่มขึ้นดักทักทาย ควบคู่ไปกับดงเฟินมีดงเอนอ้าต้นเล็กใหญ่ขึ้นเรียงรายให้ดอกสีสดชมพูอมม่วงตัดเด่นกับผืนป่าเขียว ตามพื้นดินนอกจากดงหญ้าแล้ว หากใช้สายตาสอดส่องก็จะเห็นดอกกระเจียวสีม่วงแดง สีชมพูอ่อน สีขาวนวล ขึ้นแซมอยู่ประปราย ขณะที่ลึกเข้าไปเป็นทิวสนยืนต้นตั้งตระหง่านใบโบกปลิวพลิ้วไหวไปตามสายลมที่พัดโชยและกระโชกเป็นระยะๆ

ทิวสนดอนมน
       ใครที่คิดว่ามาเดินป่าหน้าแล้ง จะเจอแต่ความแล้งร้อน ต้นไม้แห้งเหี่ยว แต่ที่ป่าปิดบนภูกระดึงไม่มีภาพเช่นนั้น ส่วนหนึ่งคงเป็นเพราะฝนชะช่อมะม่วง ฝนสงกรานต์ ที่เพิ่งจะซาเม็ดไปไม่นาน ขณะที่อีกส่วนหนึ่งซึ่งเป็นส่วนสำคัญในการสร้างสีเขียวชอุ่มและสร้างความชุ่มฉ่ำชื่นร่มรื่นครึ้มให้กับผืนป่าปิดแห่งนี้ก็คือความอุดมสมบูรณ์ตามธรรมชาติในตัวของมันเอง
       
       "ทิวสนข้างหน้าเรียกว่า"ดอนมน" เป็นทิวสนที่สวยที่สุดบนภูกระดึง เพราะมีลำต้นสูงเรียวทรงสวยงาม ยามที่หมอกลงดอนมนจะสวยงามมาก"

กระรอกวิ่งเริงร่าบนต้นสน
       พี่สงวนชี้ให้ดูทิวสนดอนมนที่แม้ยามไม่มีหมอกก็ดูยืนต้นสูงสวยเท่ห์เก๋ไปอีกแบบ ก่อนที่แกจะอธิบายเพิ่มว่า คำว่า"ดอน"ภาษาถิ่นนั้นหมายถึง พื้นที่ที่มีต้นไม้ขึ้นเป็นหย่อมๆ ส่วนคำว่า"มน" แกไม่มีคำตอบให้
       
       งานนี้ "ตะลอนเที่ยว" ไม่ขอคาดเดาความเป็นดอนมน แต่ขอบอกว่าดอนมนนั้น ถ้าใครได้มาเยือนช่วงหมอกขาวโพลนก็จะต้อง"มนต์"พื้นที่แห่งนี้แบบถอนตัวไม่ขึ้นแน่นอน
       
       พ้นดอนมนไป เราเจอสนต้นใหญ่ต้นหนึ่ง ข้างบนมีคู่กระรอกดำ วิ่ง-กระโดดไล่หยอกล้อกันดูสบายอุรา นี่ถ้าคู่รักคิดจะหยอกล้อกันเหมือนกระรอก เราว่าบริเวณนี้เหมาะไม่น้อย เพราะมีทั้งแนวเขาและสนต้นใหญ่ๆอันร่มรื่นให้หญิงสาววิ่งร้องเพลงไปแอบหลบอยู่ตามต้นสนให้ชายหนุ่มไล่ตามหากันเป็นที่สนุกสนานประมาณหนังอินเดียยังไงยังงั้น

เส้นทางลุยป่าหญ้าคา
       ความร่นรื่นของทิวสนก็มีให้อาศัยร่มเงากันได้ไม่นาน เพราะสภาพป่าปิดช่วงกลางที่เจอต่อไปนั้นเป็นป่าหญ้าคากว้างไกลที่ไม่มีร่มเงาใดๆให้หลบพักพิง แต่ทว่ากลับไม่ร้อนอย่างที่คิด เพราะตลอดทางมีสายลมพลิ้วพัดช่วยระดับคลายร้อนอยู่ตลอดเวลา
       
       พี่สงวนพาพวกเราเดินโลดลิ่วไปในดงป่าหญ้าคา ก่อนจะไปหยุดยังเพิงผาเพื่อพักเหนื่อย ดื่มน้ำท่า และชื่นชมกับวิวทิวทัศน์อันงดงามกว้างไกลในบริเวณนี้
       
       "โน่น...ภูหอ" พี่สงวนชี้ชวนให้ดูภูเขาสามเหลี่ยมหัวตัดที่เห็นลิบๆเป็นเงารางๆเบื้องหน้า ก่อนวาดมือไปยังแนวสันเขาฝั่งตรงข้าม
       
       "นั่น...กำแพงเมืองจีน"
       
       ภาพที่เห็นเบื้องหน้ายามนี้แม้เป็นแนวเขา แต่"ตะลอนเที่ยว" เดาได้ไม่ยากว่า กำแพงเมืองจีนมันก็คือแนวหินธรรมชาติสีดำที่ทอดตัวเป็นสันเป็นแนวเรียบยาวหายไปในแนวป่า มีลักษณะเป็นดังแนวกำแพงธรรมชาติชวนมอง

เก็บภาพกำแพงเมืองจีน(แนวหินสีดำ)เป็นที่ระลึก
       จากจุดชมกำแพงเมืองจีนเส้นทางตัดหายลงไปในหุบเขาเบื้องล่าง ซึ่งช่วงนี้นอกจากป่าหญ้าคาสูงท่วมหัวแล้ว ยังมีหินธรรมชาติก้อนยักษ์รูปร่างแปลกตาให้ชมและให้พักหลบแดดกันอยู่หลายจุด
       
       พ้นป่าหญ้าคาไปเราเผชิญกับสภาพป่าดิบอันรกทึบ ทางช่วงนี้มีความชื้นสูง ระหว่างทางมีดอกไม้ดิน เห็ดใหญ่น้อย มอส เฟิน และขี้ช้างกองโตจำนวนมากแทรกแซมให้ชมกันเป็นระยะๆ ส่วนที่มีเป็นสีสันให้ชาวคณะได้ตื่นเต้นไปตลอดทางก็คือ"ทาก"ตัวดูดเลือดกลางผืนป่าที่ส่ายหัวกระดึ๊บๆเข้าหาพวกกันอย่างไม่เกรงอกเกรงใจ

หินใหญ่รูปร่างประหลาดในเส้นทางป่าหญ้าคา
       แม้ทุกคนจะใส่ถุงกันทาก แต่เท่าที่เห็นต่างก็โดนทากเล่นงานกันพอหอมปากหอมคอแบบให้รู้รสชาติของป่าปิด ซึ่งจากช่วงนี้เราไปหยุดแวะยัง"น้ำตกหงส์ทอง"น้ำตกสายเล็กๆที่มีน้ำใสไหลเย็นเป็นสายพอประมาณ ก่อนจะเดินหน้าต่อไปยังน้ำตกไฮไลท์ นั่นก็คือ"น้ำตกขุนพอง" ที่อยู่ห่างกันไม่กี่ร้อยเมตร
       
       พลันที่มาถึงยังน้ำตกขุนพอง ความเหนื่อยหายเป็นปลิดทิ้ง เพราะภาพน้ำตกเบื้องหน้านั้นมันสูงชัน ใหญ่โต มีสายน้ำตกใหญ่ 2 สายไหลขาวคู่ฟูฟ่องขนานกันลงมากระทบแอ่งน้ำเบื้องล่างเสียงอื้ออึงดูเพลินตาน่ายล สมดังน้ำตกที่ได้ชื่อสวยงามและยิ่งใหญ่ที่สุดบนภูกระดึง

น้ำตกหงส์ทอง
       น้ำตกขุนพอง เพี้ยนมาจากภาษาถิ่นว่า"ขุนฟอง" มีต้นทางจากลำธารหลายสายไหลมารวมกัน ก่อกำเนิดเป็นสายน้ำตกสวยงามก่อนจะไหลลงพื้นล่างเป็นลำน้ำพองต่อไป
       
       น้ำตกขุนพอง ไม่ได้มีเสน่ห์เฉพาะน้ำตกเท่านั้น แต่ยังมีองค์ประกอบอื่นๆเสริมเติมแต่งในความงามด้วย ไม่ว่าจะเป็นแนวโขดหิน สภาพพื้นป่าโดยรอบ ซึ่งหากมองย้อนหลังกลับออกมาก็จะเป็นวิวทิวทัศน์ของแนวเขาผืนป่าในเบื้องล่าง นอกจากนี้ที่หน้าตัวน้ำตกยังมีต้นเมเปิ้ลสูงใหญ่ตั้งตระหง่านพัดพลิ้วไหวใบสามแฉกไปตามแรงลม

เห็ดดอกโต
       ช่วงปลายหนาวเมเปิ้ลบนภูกระดึงจะพร้อมใจกันเปลี่ยนสีใบจากเขียวเป็นแดงสด ทำให้น้ำตกขุนพองดูสวยสดงดงามด้วยฉากหน้าเมเปิ้ลแดง จุดโฟกัสตัวน้ำตก และฉากหลังผืนป่า แผ่นฟ้า นับเป็นความงามชั้นเทพที่ต่อให้มีเงินเป็นหมื่นเป็นแสนล้านก็เนรมิตความงามแบบนี้ไม่ได้
       
       วันนั้นเราใช้เวลาอยู่ที่น้ำตกขุนพองราวชั่วโมงกว่าๆ ทั้งกินข้าว ดื่มน้ำท่า ถ่ายรูป พักผ่อน จนเวลาเยื้องย่างเข้ายามบ่ายก็ได้เวลาออกเดินทางต่อไป

ป่าปิด บางช่วงต้องปีนป่าย
       การเข้าป่าปิดในครั้งนี้ ถือว่าโชคอยู่กับเรา เพราะนอกจากฝนจะไม่ตกแล้ว(ก่อนหน้านั้นบนภูกระดึงมีฝนตกต่อเนื่องติดต่อกันหลายวัน) ฟ้ายังเป็นใจสวยใสแจ่ม ทำให้การเดินป่า การถ่ายรูป ต่างเป็นไปด้วยดี
       
       นอกจากนี้โชคดีอีกอย่างที่เข้าข้างเราเป็นพิเศษก็คือในจุดชวนชมจุดสุดท้ายที่พี่สงวนบอกว่า "จะพาไปดูกล้วยไม้ป่า"โดยจากน้ำตกขึ้นพองเดินลัดเลาะธารน้ำไปไม่ไกล เราก็ได้พบกับเอื้องม่อนไข่กลีบใบสีขาว เกสรและไส้กลางสีเหลืองเข้มสด ชวนจินตนาการให้นึกถึงไข่ต้ม บานชูช่อห้อยระย้าอยู่ 3 จุด ให้พวกเราได้ชื่นชมความงามในบริเวณใกล้เคียงกัน

เอื้องม่อนไข่ บานรับลมแล้ง
       จุดแรกบาน 1 กอโดดๆบนโขดหินใหญ่กลางทาง ให้พวกเราได้ชื่นชม ถ่ายรูปกันพอหอมปากหอมคอ
       
       จุดที่ 2 บานเกือบ 10 กอ อยู่ริมทางดูขาว+เหลือง ตัดกับสีเขียวสดของแมกไม้บริเวณนั้น
       
       และจุดสุดท้าย อยู่ห่างจากจุดที่สองไปไม่ไกล ที่นี่พอไปถึง พวกเราอดตื่นตะลึงกับเอื้องม่อนไข่เกือบ 30 กอ ที่พร้อมใจกันบานชูช่อสีขาวสดไส้ในเหลืองสดเข้ม บานชูช่ออวดผืนป่าให้แต่ละคนได้อึ้ง ทึ่ง ปลื้ม กันโดยถ้วนทั่วหน้า
       
       นับเป็นความประทับใจส่งท้าย ที่หลังจากนั้นพวกเราก็เดินตัดลำธารเข้าสู่ป่าหญ้าคาเพื่อไปบรรจบกับเส้นทางเก่า ก่อนออกเดินเท้ากลับสู่จุดเริ่มต้น ทิ้งความชื่นมื่นไว้ในความอุดมสมบูรณ์และความหลากหลายทางชีวภาพของผืนป่าปิด ผืนป่าที่เป็นดังอัญมณีเม็ดงามแห่งภูกระดึง ซึ่งจำเป็นอย่างยิ่งที่มนุษย์จะต้องช่วยกันอนุรักษ์ความสมบูรณ์ของผืนป่าเหล่านี้ไว้ให้อยู่คู่โลกไปอีกนานเท่านาน
       
       *****************************************

ผาหล่มสัก
       อุทยานแห่งชาติภูกระดึง เป็นสถานที่ท่องเที่ยวขึ้นชื่อของ อ.ภูกระดึง จ.เลย การขึ้นสู่ภูกระดึงต้องเดินเท้าขึ้นเขาจาวที่ทำการอุทยานฯผ่านจุดต่างๆ ซำต่างๆไปถึงหลังแป ประมาณ 5.5 กม. แล้วต่อด้วยการเดินเท้า
       
       ภูกระดึง มีสถานที่น่าสนใจ อาทิ ผาหล่มสัก จุดชมพระอาทิตย์ตกอันงดงามเป็นเอกลักษณ์สถานที่ท่องเที่ยวไฮไลท์แห่งภูกระดึง ผานกแอ่น จุดชมพระอาทิตย์ขึ้นอันสวยงาม องค์พระพุทธเมตตาสิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่ภูกระดึง น้ำตกต่างๆ อาทิ น้ำตกวังกวาง น้ำตกเพ็ญพบ น้ำตกเพ็ญพบใหม่ น้ำตกโผนพบ เป็นต้น
       
       โดยสถานที่ท่องเที่ยวทั่วไปเปิดให้นักท่องเที่ยวขึ้นไปเที่ยวชมได้ 8 เดือนคือตั้งแต่ 1 ต.ค.-31 พ.ค. ของทุกปี ส่วนป่าปิดนั้นในรอบหลายปีที่ผ่านมาเปิดให้นักท่องเที่ยวเข้าได้ในหน้าร้อนคือช่วงเดือนเม.ย.และ พ.ค. เดิมป่าปิดสามารถเข้าไปเที่ยวน้ำตกผาน้ำผ่า น้ำตกที่สูงที่สุดบนภูกระดึงได้ แต่ปัจจุบันอุทยานฯได้ปิดเส้นทางนี้ไป
       
       ในปีนี้ ทางอุทยานฯได้ทดลองเปิดให้นักท่องเที่ยวเข้าป่าปิดได้ตั้งแต่ต้นเดือน ม.ค.- พ.ค. ซึ่งหากผลเป็นไปด้วยดี ปีหน้าก็จะทดลองเปิดให้นักท่องเที่ยวเข้าป่าปิดในช่วงเวลานี้อีก นอกจากนี้ปัจจุบันอุทยานฯภูกระดึง ถือเป็น 1 ใน 10 อุทยานฯที่จำกัดจำนวนนักท่องเที่ยว
       
       สำหรับผู้สนใจเที่ยวภูกระดึงสามารถสอบถามข้อมูลการเดินทาง สิ่งอำนวยความสะดวก และสถานที่ท่องเที่ยว ได้ที่ ศูนย์บริการนักท่องเที่ยวศรีฐาน อุทยานแห่งชาติภูกระดึง โทร. 0-4287- 1333 หรือ 0-4287-1458
       

        
       อ่านเรื่องที่เกี่ยวข้อง
        ข้อมูลอุทยานแห่งชาติภูกระดึง
       
ที่สุดแห่งภูกระดึง

       ภูกระดึง...ใกล้ใจ ไกลตีน
       ลูกหาบภูกระดึง : ฤาจะเหลือเพียงตำนาน
        8 เดือนบนภูกระดึง กับเสน่ห์ที่แตกต่าง
http://www.manager.co.th/Travel/ViewNews.aspx?NewsID=9520000044829


Rediscover Hotmail®: Now available on your iPhone or BlackBerry Check it out.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

ผู้ติดตาม

คลังบทความของบล็อก

เกี่ยวกับฉัน

รูปภาพของฉัน
ต้องรู้เท่าทันในการรับรู้ข่าวสารจากทุกแหล่งข่าว/ FACT - Freedom Against Censorship Thailand กลุ่มเสรีภาพต่อต้านการเซ็นเซอร์แห่งประเทศไทย http://facthai.wordpress.com/