วันอาทิตย์ที่ 26 เมษายน พ.ศ. 2552

ลัดฟ้า ดูงาน SMEs ยุโรป บทเรียนสานต่อ...นวัตกรรม

 
วันที่ 23 เมษายน พ.ศ. 2552 ปีที่ 32 ฉบับที่ 4099

ลัดฟ้า ดูงาน SMEs ยุโรป บทเรียนสานต่อ...นวัตกรรม



เป็นโครงการศึกษาดูงานในต่างประเทศที่โฟกัสไปที่ 3 ประเทศ คือ อังกฤษ เดนมาร์ก และสวีเดน ถึงแนวทางการพัฒนาเอสเอ็มอีให้เกิดมูลค่าเพิ่มด้านนวัตกรรมเพื่อนำมาเป็นแนวทางในการจัดตั้งศูนย์ระบบนวัตกรรมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (ศรนว) ในประเทศไทย โดยการเดินทางในครั้งนี้ ประกอบไปด้วยผู้แทนจากกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม สำนักวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมฯ และตัวแทนจากผู้ประกอบการเอสเอ็มอี

นายวิเชียร เชิดชูตระกูลทอง นายกสมาคมส่งเสริมผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม กล่าวว่า โดยสาระของการดูงานในครั้งนี้เป็นการต่อยอดในกระบวนการพัฒนาการเอสเอ็มอีทางด้านนวัตกรรมที่ตนมองว่ายังมีอีกหลายอย่างที่บ้านเรายังทำได้ไม่ครบกระบวน โดยเฉพาะการพัฒนาเอสเอ็มอี ไปในแนวของการสร้างนวัตกรรม

ซึ่งเมื่อเรามองการพัฒนาแนวนวัตกรรมทุกหน่วยงานจะพุ่งไปที่สำนักนวัตกรรมแห่งชาติ หรือ สนช.เพียงแห่งเดียว แต่การพัฒนาด้านนวัตกรรมไม่ใช่เพียงแค่หน่วยงานหนึ่งหน่วยงานใดเท่านั้น ต้องมีความชัดเจนและมีองค์กรที่เกี่ยวข้องกับนวัตกรรมอีกจำนวนมาก ที่สามารถสนับสนุนให้เอสเอ็มอีเกิดการสร้างนวัตกรรมในหลายส่วนด้วยกัน

โมเดลของ 3 ประเทศดังกล่าวจึงเกิดแง่มุมคิดในการพัฒนา เอสเอ็มอีในหลายมุมมอง

3 จุดเด่นการพัฒนาเอสเอ็มอี

สามประเทศมีจุดเด่นของการพัฒนาเอสเอ็มอีที่แตกต่างกัน สวีเดนจะมีหน่วยงานสำคัญคือ Vinova คล้ายกับ NIA สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติของไทยที่จะให้ทุนเอสเอ็มอีในการทำอินโนเวชั่นและคลัสเตอร์ในการผลักดัน และมีทูตนวัตกรรมในการเชื่อมโยงสร้างเครือข่ายในแต่ละประเทศที่เกี่ยวข้อง เนื่องจากสวีเดนมีเอสเอ็มอีจำนวนน้อยเขาจึงต้องพยายามผลักดันเพื่อสร้างให้เกิดเอสเอ็มอีจำนวนมากๆ

ส่วนเดนมาร์กจะมี 3 กระทรวง กระทรวงวัฒนธรรม อุตสาหกรรม และกระทรวงพาณิชย์ โดยมีดีไซน์เป็นตัวเชื่อมโยงและผลักดันและลิงก์กับหน่วยงานอื่นๆ และมีนโยบายในการสนับสนุนเอสเอ็มอีที่เป็นระบบ มีแผนอย่างชัดเจน ภายใน 5-10 ปี

สำหรับอังกฤษจะมีกระทรวงต่างประเทศที่แข็งแรง เป็นหน้าบ้าน เป็นยี่ปั๊ว พัฒนาและส่งออกนวัตกรรมรวมทั้งรับข้อมูลข่าวสารพัฒนา เนื่องจากว่าอังกฤษเองมีเอสเอ็มอีกว่าสี่ล้านราย ดังนั้นกระทรวงต่างประเทศจึงต้องมีระบบที่แข็งแกร่ง

สมาคมเน้นมองการพัฒนายั่งยืน

จุดเด่นของการพัฒนาเอสเอ็มอีใน 3 ประเทศนั้น นายวิเชียร เชิดชูตระกูลทอง นายกสมาคมส่งเสริมผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม กล่าวว่า มีสิ่งที่แตกต่างจากเมืองไทยตรงที่หน่วยงานที่ส่งเสริมนวัตกรรมใน 3 ประเทศนี้มีหลายหน่วยงานที่สามารถมาเชื่อมโยงกันได้และมีการพัฒนา ตั้งแต่เอสเอ็มอีท้องถิ่นจนกระทั่งระดับประเทศ โดยมีการพัฒนาต่อเนื่อง มีการให้ทุนต่อเนื่องยาวนานถึง 10 ปี ในขณะที่เมืองไทยมีการให้ปีต่อปี ทำให้ไม่ต่อเนื่อง

ซึ่งการคัดเลือกเอสเอ็มอีที่จะมาพัฒนาจะต้องมีขั้นตอนส่งเสริมตั้งแต่เป็น เอสเอ็มอีในท้องถิ่นจนสามารถเชื่อมโยงในต่างประเทศต่อไป

กสอ.ย้ำ อย่าหลงทางนวัตกรรม

จากการศึกษาดูงานในครั้งนี้ นายปราโมทย์ วิทยาสุข อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กล่าวว่า การทำอินโนเวชั่น ไม่ได้หมายความว่าเน้นในเรื่องเทคโนโลยีอย่างเดียว ที่สวีเดน และเดนมาร์กเมื่อก่อนก็เข้าใจเช่นนั้น แต่จริงๆ แล้วเรื่องอินโนเวชั่นมันไม่ได้มีความหมายแค่ผลิตภัณฑ์ใหม่ หรือการพัฒนาทางเทคโนโลยีใหม่เท่านั้น

ผู้เชี่ยวชาญที่นั่นได้มีการสำรวจเอสเอ็มอีหลายพันบริษัท แต่ปรากฏว่า คนที่สำเร็จมีอยู่น้อย โดยเฉพาะ

บริษัทใหญ่ๆ ส่วนบริษัทเล็กๆ มีมากกว่าครึ่งที่อยู่รอดได้เพราะมีขั้นตอนการทำงาน โดยใช้ประสบการณ์ทำงาน และจากการทำงานนำไปพัฒนาตัวเอง มีการพูดคุยกับลูกค้า ก็จะพัฒนาเป็นอินโนเวชั่นเป็น การทำสองอย่างประกอบกันไป ทำให้เกิดการพัฒนา บริษัทเล็กๆ จึงอยู่ได้

ในอังกฤษ "ดีไซน์แอนด์ลอนดอน" มีการนำเอาแนวความคิดของนักวิจัยกับ นักศึกษาให้ทำงานร่วมกัน โดยจัดเป็นหลักสูตรในมหาวิทยาลัย เป็นหลักสูตรของการเรียนหลักสูตรอินโนเวชั่น เปิดมาได้ 2 ปี ยังมีอนาคตอีกไกล

หน่วยงานในฝัน

อีกโครงการหนึ่งที่จะต้องมีการผลักดันต่อก็คือ ศูนย์ระบบวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (ศรนว) ซึ่งจะเป็นศูนย์ที่สนับสนุนการทำนวัตกรรมสำหรับเอสเอ็มอีโดยเฉพาะ เนื่องจากที่ผ่านมาการเข้าไปศึกษารูปแบบของนวัตกรรมจะเป็นโอกาสของบริษัทใหญ่ที่มีการพัฒนาอย่างเป็นระบบ แต่สำหรับเอสเอ็มอีกลับมีน้อยมาก ศูนย์นี้จึงตั้งเพื่อพัฒนาส่งเสริมและสนับสนุนนวัตกรรมสำหรับเอสเอ็มอีโดยเฉพาะ อาทิ นวัตกรรมผลิตภัณฑ์และบริการ นวัตกรรมการออกแบบ นวัตกรรมธุรกิจ ฯลฯ

โดยบทบาทของศูนย์จะเน้นไปที่การพัฒนามัลติเอสเอ็มอี หรือพาร์ตเนอร์ชิป ที่ต้องอาศัยการสร้างนวัตกรรมร่วมกับสถานเอกอัครราชทูต ศูนย์นวัตกรรม มีการเชื่อมโยงกับสถานทูตไทยในลอนดอนและที่อื่นๆ ลิงก์กลับมาที่ศูนย์ให้กับผู้ประกอบการอีกที

นอกจากนี้ยังเป็นศูนย์รวมข้อมูลสถิติเกี่ยวกับนวัตกรรมสำหรับเอสเอ็มอี สร้างฐานข้อมูลและวิเคราะห์เซ็กเตอร์ใหม่ๆ ที่จะทำให้เอสเอ็มอีจากต่างประเทศ สามารถเข้ามาดำเนินธุรกิจในไทย รวมทั้งของไทยที่จะออกไปทำธุรกิจในต่างประเทศอีกด้วย

โครงการดังกล่าวจะมีการนำเสนอผ่าน สสว.ในปีงบประมาณ 2553 นี้

หน้า 48
http://www.matichon.co.th/prachachat/prachachat_detail.php?s_tag=02biz01230452&day=2009-04-23&sectionid=0214
 


Windows Live™ Hotmail®:…more than just e-mail. Check it out.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

ผู้ติดตาม

คลังบทความของบล็อก

เกี่ยวกับฉัน

รูปภาพของฉัน
ต้องรู้เท่าทันในการรับรู้ข่าวสารจากทุกแหล่งข่าว/ FACT - Freedom Against Censorship Thailand กลุ่มเสรีภาพต่อต้านการเซ็นเซอร์แห่งประเทศไทย http://facthai.wordpress.com/