วันพุธที่ 22 เมษายน พ.ศ. 2552

มหัศจรรย์ "สาคู" พืชรักษ์น้ำ พิชิตโลกร้อน

วันที่ 22 เมษายน พ.ศ. 2552 ปีที่ 32 ฉบับที่ 11365 มติชนรายวัน


มหัศจรรย์ "สาคู" พืชรักษ์น้ำ พิชิตโลกร้อน


โดย พนิดา สงวนเสรีวานิช




บริเวณคลองลำชาน ที่เห็นลักษณะคล้ายต้นจากคือ ต้นสาคู
สาคูไส้หมู สาคูข้าวเหนียวเปียก สาคูถั่วดำ สาคูเปียกมะพร้าวอ่อน ฯลฯ

คนไทยเรารู้จัก "สาคู" มานานนัก ตั้งแต่สมัยคุณปู่คุณย่าโน่น โดยใช้แป้งสาคูปรุงเป็นอาหารทั้งคาวและหวานหลากชนิด โดยเฉพาะขนมหวานอย่าง สาคูไส้หมู กินแนมกับผักกาดหอมกับพริกขี้หนูเม็ดเล็กๆ อีกสักเม็ด หรือจะเป็นสาคูข้าวเหนียวเปียก สาคูถั่วดำ ราดด้วยหัวกะทิ เค็มๆ มันๆ กินกันเพลินหมดถ้วยไม่รู้ตัว

สาคูให้คาร์โบไฮเดรตมากกว่าข้าวถึง 10 เท่า ฉะนั้นจึงทำหน้าที่ทดแทนข้าวได้สบายมาก

อย่างเมื่อตอนสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่บ้านเมืองอยู่ในภาวะคับขัน ประชาชนอยู่กันอย่างยากลำบากแทบไม่มีกิน ก็ได้สาคูนี่แหละที่เป็นฮีโร่ ใช้เป็นอาหารหลักแทนข้าว เพราะสามารถทำเป็นอาหารได้มากมาย รวมทั้งเส้นก๋วยเตี๋ยว

นอกจากอาหารอร่อยนานาชนิดแล้ว "สาคู" ยังเป็นพืชที่ให้ประโยชน์มากมายไม่แพ้มะพร้าวหรือกล้วยหรือไผ่ นั่นคือแทบทุกส่วนของมันสามารถนำมาทำประโยชน์ได้ทั้งสิ้น

ยกตัวอย่าง ใบสาคู สานเป็นตับจากใช้มุงหลังคา สานเป็นฝาบ้าน ทำฝ้าเพดาน ทำเป็นเสื่อ หรือจะให้เข้ากับอากาศร้อนๆ ก็ทำเป็นพัด ใช้โบกคลายร้อน ซ้ำมอดก็ยังไม่กินอีกต่างหาก

สาคู (sago palm) เป็นพืชตระกูลปาล์ม ที่มีบทบาทสำคัญในฐานะพืชหลักในพื้นที่ชุ่มน้ำ ขึ้นกระจายอยู่ตามฝั่งคลอง หนอง พรุ

มีวงจรชีวิตราว 14-15 ปี ขยายพันธุ์ด้วยหน่อ พออายุได้ 14 ปีเศษ มันจะออกดอกแตกยอดเป็นลักษณะเขากวาง อันเป็นสัญญาณของการมาถึงที่สุดแห่งชีวิต ชาวบ้านจะรู้ทันทีว่าได้เวลาของการโค่นต้นสาคูนำแป้งที่ได้มาใช้ประโยชน์แล้ว เพราะถ้าปล่อยไว้นานกว่านั้นสาคูต้นนั้นจะใช้ไม่ได้แล้ว

แต่ความมหัศจรรย์ของต้นสาคูยังไม่หมดเพียงเท่านั้น ถ้าพิจารณาในแง่ของสิ่งแวดล้อม สาคูถือเป็นฮีโร่สีเขียว ที่มีบทบาทสำคัญในการรักษ์น้ำ

อย่างที่ อำเภอนาโยง จังหวัดตรัง โดยเฉพาะที่ คลองลำชาน ต.ทุ่งกระบือ อ.ย่านตาขาว จ.ตรัง ที่นี่เป็นเสมือนห้องแล็บกลางแจ้งเพื่อการวิจัยเรื่องสาคู

(ซ้ายบน) พิศิษฐ์ ชาญเสนาะ นายกสมาคมหยาดฝน (ขวาบน) ผิวสาคูลอกออกมาใช้สานเป็นเสื่อ (ซ้ายล่าง) แอ่งน้ำในคลองลำชาน ห้องเรียนธรรมชาติศึกษาป่าสาคู (ขวาล่าง) ศูนย์การเรียนรู้ระบบนิเวศป่าสาคู


เราลงไปดูการจัดการทรัพยากรน้ำที่อำเภอนาโยง จังหวัดตรัง ได้พบกับกลุ่มชาวบ้านที่ทำงานโยงใยกันเป็นเครือข่าย ช่วยกันดูแลจัดการทรัพยากรในชุมชนร่วมกัน

พิศิษฐ์ ชาญเสนาะ นายกสมาคมหยาดฝน ซึ่งเข้ามาทำงานร่วมกับชาวบ้านในแถบนี้มานานกว่า 10 ปี เล่าว่า ที่อำเภอนาโยง จังหวัดตรัง เป็นพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความอุดมสมบูรณ์ น้ำดี ดินดี และมีความหลากหลายทางชีวภาพสูง

แต่เดิมตามลำคลองจะมีต้นสาคูขึ้นอยู่ทั่วไป ลำคลองเหล่านั้นไม่ลึก เมื่อได้รับน้ำจากเทือกเขาบรรทัดก็จะไหลบ่าผ่านเหมืองไส้ไก่เข้านาและปักดำได้ ทำให้พื้นที่ชุ่มน้ำดำรงอยู่ เมื่อกระแสการพัฒนาหลั่งไหลเข้ามา โดยมุ่งที่การพัฒนาทางด้านเศรษฐกิจเป็นหลัก มีการส่งเสริมเกษตรกรรมแผนใหม่ ทำให้การทำนาของชาวบ้านแถบนี้ได้รับผลกระทบทั้งการใช้สารเคมีชนิดต่างๆ ที่ทำให้สัตว์น้ำหลายชนิดลดลง

สิ่งสำคัญคือ การพัฒนาแหล่งน้ำ ที่มุ่งการขุดลอกคลองและการจัดระบบชลประทาน ทำให้คลองหลายแห่งกลายสภาพเป็นเพียงคลองระบายน้ำ

ป่าสาคู ซึ่งแท้จริงแล้วเป็นตัวซับน้ำ แต่ถูกมองว่าเป็นต้นไม้ไร้ประโยชน์ เกะกะขวางทางน้ำไหล จึงถูกลอกทิ้งไปเสียมาก ด้วยเหตุนี้พอถึงฤดูแล้งน้ำก็แห้งขอด ทำนาไม่ได้

"เราคุยเรื่องนี้มานานแล้วว่า พื้นที่ที่มีน้ำคลอง ที่มีสาคู แทนที่จะขุดลอก เราก็รักษาสาคูไว้ เพราะสาคูให้ประโยชน์เยอะ สามารถเอามาสกัดเป็นเอทานอลได้ สาคูไม่ต้องใส่ปุ๋ยไม่ต้องใส่ยา พอต้นใหญ่ต้นแก่ล้ม ตัวด้วงเข้าไปไข่ ชาวบ้านก็เก็บไปขายได้อีก นั่นคือทำให้ระบบคลองสมบูรณ์

ในช่วง 20 ปีที่ผ่านมานากุ้งขยายตัวมาก พื้นที่ป่าชายเลน สวนยางพารา ถูกเอาไปทำเป็นพื้นที่บ่อกุ้ง พอล้มเหลวก็ทิ้งร้าง มาช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาบริษัทใหญ่ก็เข้ามาเช่าทำต่อ ขณะที่ชาวบ้านหมดทุนแล้ว ต้องสูญเสียที่ดิน ต้องขายบ้าน

(ซ้ายล่าง) ต้นสาคู (ขวาล่าง) ล่องเรือชมความสมบูรณ์ของปากน้ำ


ปัญหาคือ นากุ้งร้าง ที่เกิดขึ้นเป็นพื้นที่ที่ไม่เกิดผลผลิต ทีนี้ทางราชการบางแห่งก็ส่งเสริมให้ถมบ่อกุ้งแล้วปลูกปาล์มน้ำมัน แต่หากบ่อกุ้งอยู่ในเขตป่าเลนเก่า ก็เหมือนเราไปเปลี่ยนสภาพของป่าชายเลนเป็นสวน ทางหยาดฝนจึงพยายามบอกให้ชาวบ้านฟื้นฟูบ่อกุ้ง ซึ่งถ้าดินไม่เสียมากก็สามารถปลูกต้นจากได้ เป็นการเชื่อมโยงพื้นที่ตรงนี้กลับเข้าสู่ระบบนิเวศใหญ่

ส่วนพื้นที่ไหนที่ยังมีป่าสาคูอยู่ เราก็รณรงค์ให้ช่วยกันรักษาสาคูไว้ ถ้าทำชลประทานแบบพื้นบ้านก็สามารถมีน้ำใช้ตลอดไป อย่าทุ่มลงไปที่พืชเศรษฐกิจอย่างเดียว" นายกสมาคมหยาดฝนบอก

ที่มาที่ไปของการศึกษาวิจัยเรื่องสาคูนั้น พิศิษฐ์บอกว่าเริ่มจากการทำงานด้านการจัดการทรัพยากรลุ่มน้ำ โดยใช้ลุ่มน้ำปะเหลียนเป็นลุ่มน้ำแห่งการเรียนรู้ เป็นลุ่มน้ำแห่งทดลองมา 10 กว่าปีแล้ว

แต่...แค่ชายฝั่งอย่างเดียวไม่พอ ต้องเชื่อมกับแม่น้ำด้านบนด้วยจึงจะมีความมั่นคง จึงชวนชาวประมงทำงานขับเคลื่อนในส่วนของต้นน้ำ ร่วมงานกับในส่วนพื้นที่ชุ่มน้ำจืด และต่อไปถึงชาวสวนที่อยู่แถบควนแถบเขา ต้นน้ำลำธาร เพื่อปกป้องระบบนิเวศในภาพรวม ทำให้เกิดความสมบูรณ์มั่นคงต่อเนื่อง

โดยมีคนดูแลต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ มีเครือข่ายผู้หญิง เครือข่ายจัดการทรัพยากร และต่อไปจะมีเครือข่ายของเยาวชนและโรงเรียนต่างๆ

พิศิษฐ์บอกว่า หลังจากที่สมาคมหยาดฝนลงมาทำการวิจัยเกี่ยวกับ "สาคู" พบประโยชน์มหาศาลของป่าสาคู ไม่เพียงแค่การใช้แป้งจากลำต้นทำเป็นอาหาร ใช้ใบมุงหลังคา

แต่ป่าสาคูยังเป็นที่พักพิงเป็นแหล่งอาหารของสัตว์น้ำจำนวนมาก เช่น ปลาตูนา ซึ่งเป็นปลาหายาก ปลาขี้ขม ซึ่งเป็นปลาพื้นถิ่นปักษ์ใต้ รสชาติอร่อยมาก จะอาศัยอยู่ในน้ำที่สะอาดและที่น้ำไหล มีมากแถวตรัง พัทลุง สตูล ฯลฯ ขณะเดียวกันระบบรากของต้นสาคูยังเป็นตัวกรองน้ำให้ใสสะอาดตลอดเวลา

"สาคูขึ้นตามริมคลอง ระบบนิเวศสาคูมีทั้งพืชผักสมุนไพร กุ้งหอยปูปลา

"ใบจากต้นสาคูเมื่อแก่ร่วงหล่นลงน้ำ ทำให้น้ำมีสีเรื่อๆ แต่ไม่ทำให้น้ำเน่า ขณะเดียวกันก็ช่วยให้น้ำตกตะกอน และใส อันเป็นจุดเริ่มต้นของพรุ โดยที่ตะกอนที่ได้จะเป็นปุ๋ยสำหรับเลี้ยงต้นแม่"

นายกสมาคมหยาดฝน บอกอีกว่า เมื่อวิจัยถึงผลประโยชน์ของสาคูแล้ว จึงมีการตั้งคณะกรรมการคลองขึ้นมาดูแลจัดการ ทำให้ปัจจุบันมีจำนวนปลาเพิ่มมากขึ้น

"สาคูเป็นพืชในวัฒนธรรมของคนในแถบนี้ รวมไปถึงอินโดนีเซีย เป็นพืชที่ขึ้นในแถบศูนย์สูตร ตั้งแต่ทางใต้ชุมพรเรื่อยลงมาถึงมาเลเซีย อินโดนีเซีย ปาปัวนิวกินี

ที่มีมากสุดคือ อินโดนีเซีย มีมากถึง 6 ล้านไร่ อันดับ 2 คือ ปาปัวนิวกินี ส่วนไทยมีมากเป็นอันดับ 3 มีหมื่นกว่าไร่เท่านั้น น่าเสียดายที่บ้านเราไม่ค่อยมีคนรู้จักสาคูแล้ว ทั้งที่เมื่อก่อนสาคูเป็นพืชในชีวิตประจำวัน เป็นสัญลักษณ์ของชนบทในภาคใต้ด้วยซ้ำ ขณะที่ในต่างประเทศมีการทำวิจัยกันมากมาย เช่น ที่ญี่ปุ่น เนเธอร์แลนด์ ฯลฯ เกิดเป็นความร่วมมือขับเคลื่อนกันเป็นเครือข่ายใน 3 ประเทศ ระหว่างไทยกับมาเลเซียและอินโดนีเซีย

"สิ่งแวดล้อมในธรรมชาติถ้าเราจะใช้เราต้องมีความเคารพ ในฐานะที่ตัวธรรมชาติเป็นโครงสร้างหลักที่ทำให้เกิดความร่มเย็นของสรรพสิ่ง การที่จะให้ธรรมชาติอยู่อย่างมีดุลยภาพ อยู่อย่างมีความอุดมสมบูรณ์เท่าที่จะเป็นไปได้ เป็นเรื่องสำคัญ การใช้ทรัพยากรธรรมชาติต้องใช้อย่างระมัดระวัง" พิศิษฐ์บอก และว่า

การรณรงค์ให้ชาวบ้านรักษ์ป่าสาคู นอกจากจะเป็นการเชื่อมโยงระบบนิเวศจากภูเขาไปถึงปากแม่น้ำ ยังทำให้ชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมปกป้องทรัพยากรของเขาตลอดทั้งลำน้ำ

เป็นความมหัศจรรย์ของ "สาคู" ที่คนยังรู้จักกันน้อยมาก


หน้า 20
http://www.matichon.co.th/matichon/view_news.php?newsid=01pra01220452&sectionid=0131&day=2009-04-22

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

ผู้ติดตาม

คลังบทความของบล็อก

เกี่ยวกับฉัน

รูปภาพของฉัน
ต้องรู้เท่าทันในการรับรู้ข่าวสารจากทุกแหล่งข่าว/ FACT - Freedom Against Censorship Thailand กลุ่มเสรีภาพต่อต้านการเซ็นเซอร์แห่งประเทศไทย http://facthai.wordpress.com/