วันศุกร์ที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2552

"โอฬาร ไชยประวัติ" สับรัฐบาล ตีโจทย์เศรษฐกิจไม่แตก-ขาดนโยบายสินเชื่อ

 
วันที่ 30 เมษายน พ.ศ. 2552 ปีที่ 32 ฉบับที่ 4101

"โอฬาร ไชยประวัติ" สับรัฐบาล ตีโจทย์เศรษฐกิจไม่แตก-ขาดนโยบายสินเชื่อ


ในงาน Open House หลักสูตรปริญญาโท/เอก มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เมื่อวันที่ 27 เม.ย.ที่ผ่านมา ดร.โอฬาร ไชยประวัติ อดีตรองนายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจ ได้กล่าวปาฐกถาพิเศษ "ทางเลือกธุรกิจไทยในวิกฤตเศรษฐกิจโลก" แต่เนื้อหาที่นำเสนอจะเป็น "ทางเลือกของรัฐบาลไทยในวิกฤตเศรษฐกิจโลก" มากกว่า

เพราะประเด็นที่หยิบยกขึ้นมา คือ มาตรการและการดำเนินนโยบายฟื้นฟูเศรษฐกิจของรัฐบาลสหรัฐอเมริกากับจีน รวมถึงผลของมาตรการที่มีประสิทธิผล ซึ่ง ดร.โอฬารเสนอว่า สิ่งที่รัฐบาลสหรัฐและจีนทำนั้น เป็นสิ่งที่รัฐบาลไทยควรศึกษาและพัฒนา หรือ "copy and develop" เพื่อนำมาปรับใช้ฟื้นฟู เศรษฐกิจไทย โดยเฉพาะ "นโยบาย สินเชื่อ" ที่ไทยยังไม่ดำเนินการอย่างชัดเจนเหมือน 2 ประเทศที่ทำและมีผลต่อการ ฟื้นเศรษฐกิจได้ค่อนข้างเร็วกว่าการใช้จ่ายภาครัฐ

รัฐบาลสหรัฐ-เฟดทุ่มใช้จ่ายอุ้ม ศก.

โดยสหรัฐซึ่งเป็นต้นตอการตกต่ำของเศรษฐกิจทั่วโลกนั้น ดร.โอฬารกล่าวว่า สหรัฐเริ่มต้นแก้ปัญหาด้วยการ "ซ่อมงบดุล" ของสถาบันการเงิน ด้วยเม็ดเงิน 700,000 ล้านดอลลาร์ ในสมัยจอร์จ ดับเบิลยู. บุช เป็นประธานาธิบดี จากนั้นส่งต่อมาที่รัฐบาลสมัยบารัก โอบามา ที่ใช้จ่ายเงินกระตุ้นเศรษฐกิจ 787,000 ล้านดอลลาร์ แต่มีนโยบายลดภาษีช่วยเหลือประชาชน 200,000 ล้านดอลลาร์ เท่ากับเม็ดเงินที่ใช้จ่ายจริงๆ คือ 587,000 ล้านดอลลาร์ และจะมีผลต่อเศรษฐกิจในช่วง 18 เดือนนับจาก 1 เม.ย.ที่ผ่านมา

ขณะที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ออกมาตรการเสริมด้วยการอัดฉีดสภาพคล่อง 700,000 ล้านดอลลาร์ให้ธนาคารพาณิชย์ โดยการซื้อตราสารของธนาคาร ที่หนุนหลังโดยสินเชื่อที่อยู่อาศัย (mortgage-backed security) เพื่อให้ธนาคารพาณิชย์มีสภาพคล่องเงินสดสามารถปล่อยสินเชื่อได้

"นโยบายจากการซ่อมงบดุลและให้สภาพคล่องธนาคารพาณิชย์ปล่อยสินเชื่อใหม่ เรียกว่าเป็นนโยบายปรับโครงสร้างธนาคารพาณิชย์ที่ล้มละลายให้หายล้มละลาย และทำให้ธนาคารพาณิชย์ที่หายจากการล้มละลายสามารถปล่อยสินเชื่อได้ ที่สำคัญรัฐบาลสหรัฐมีการใช้จ่ายที่ตรง เป้าหมายชัดเจนคือ ภาคอสังหาริมทรัพย์กับรถยนต์ ซึ่งได้รับผลกระทบจากวิกฤตการเงินและเศรษฐกิจของสหรัฐมากที่สุด จึงถือเป็นแนวทางที่ถูกต้อง" ดร.โอฬารกล่าว

จีนเน้นนโยบายสินเชื่อเห็นผลเร็ว

ส่วนรัฐบาลจีนมีนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจเม็ดเงิน 4 ล้านล้านหยวน หรือ 585,000 ล้านดอลลาร์ โดยเงิน 1 ใน 3 หรือจำนวน 1.95 แสนล้านดอลลาร์ จะเป็น รายจ่ายโดยตรงของรัฐบาล และที่เหลือ 3.90 แสนล้านดอลลาร์ ใช้อัดฉีดให้ธนาคารพาณิชย์ปล่อยสินเชื่อ โดยเริ่มปฏิบัติตั้งแต่ต้นปีจนถึงขณะนี้ หรือช่วง 3 เดือน ที่ผ่านมาพบว่ายอดสินเชื่อธนาคารพาณิชย์เพิ่มขึ้นมาก และกระตุ้นการจ่ายและลงทุนในประเทศเพิ่มขึ้นด้วย ซึ่งมีผลต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ โดยไตรมาสแรก การเติบโตทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) เพิ่มขึ้น 6.1%

สะท้อนถึงนโยบายที่มีประสิทธิผล โดยเฉพาะนโยบายสินเชื่อที่มุ่งไปที่ภาครถยนต์ อสังหาริมทรัพย์ และส่งให้ตลาดหุ้นฟื้นขึ้นมา ทำให้คาดการณ์กันว่า จีดีพี ในปีนี้ที่ตั้งเป้าไว้ 8% น่าจะเป็นไปได้ หากเป็นเช่นนั้นจริงก็อาจเป็นโอกาสของการส่งออกไทยไปจีน โดยเฉพาะสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมบางตัว

แนะรัฐเร่งทำนโยบายสินเชื่อเสริม

สำหรับประเทศไทย ดร.โอฬารระบุว่า รัฐบาลมีแต่นโยบายการใช้จ่ายที่เป็นงบประมาณกลางปี 2552 วงเงิน 116,900 ล้านบาท ที่จะมีผลต่อเศรษฐกิจในอีก 6 เดือนข้างหน้านับจาก 1 เม.ย.ที่ผ่านมา แต่ยังไม่มีนโยบายสินเชื่อที่ชัดเจนออกมา ที่เป็นห่วงมากสุด คือไม่มีแนวคิดเรื่องการลงทุนภาคเอกชน ทำให้ส่วนเชื่อมโยงการกระตุ้นเศรษฐกิจขาดหายไป เพราะฉะนั้นต้องมีนโยบายการลงทุนภาคเอกชนเพิ่มเติมที่ชัดเจน และมีการไฟแนนซ์การลงทุนเพิ่มเติมจากระบบสินเชื่อ โดยอาจมีการช่วย ค้ำประกันความเสี่ยงของระบบธนาคาร นี่เป็นโจทย์ที่รัฐบาลต้องตีให้แตกและควร เร่งทำ พร้อมมีนโยบายชัดเจนว่าจะให้ธนาคารพาณิชย์ปล่อยสินเชื่ออะไรบ้าง

"โดยเฉพาะนโยบายสินเชื่อควรทำด่วนที่สุดเพื่อเสริมนโยบายการใช้จ่ายภาครัฐ เพราะจีนพิสูจน์แล้วว่าหลังจากเน้นนโยบายสินเชื่อมา 3 เดือนแรกของปีนี้จีนก็ฟื้นแล้ว ประเทศไทยไม่มีปัญหาระบบสถาบันการเงิน ก็น่าจะเอื้อให้ปล่อยสินเชื่อได้"

ดร.โอฬารระบุว่า การฟื้นฟูเศรษฐกิจจำเป็นต้องมีนโยบายที่สมบูรณ์และคิดให้เป็นระบบและสื่อสารออกไปให้ชัดเจน

"แต่ถ้าคิดไม่ออกก็บินไปปักกิ่งและวอชิงตัน ดี.ซี. เพื่อไป "copy and develop" ของเขา เช่น นโยบายสินเชื่อโดยเฉพาะสินเชื่ออสังหาริมทรัพย์และรถยนต์ ไม่ควรปล่อยให้กลไกตลาดทำงานเอง เพราะกว่าจะได้ผลอีกนาน ที่สำคัญควรมีการดำเนินการให้ปล่อยสินเชื่อตามทิศทางของนโยบายรัฐบาล จะใช้ธนาคารของรัฐเป็นเครื่องมือก็ได้"

มาตรการดูแลภาคอสังหาริมทรัพย์ก็ควรผ่อนปรนหลักเกณฑ์การกู้ ซึ่งธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ควรเข้ามาดูแลเรื่องหลักเกณฑ์ต่างๆ และรัฐช่วยหาแหล่งเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ ส่วนอุตสาหกรรมรถยนต์ รัฐบาลกู้เงินระยะยาว ซึ่งขณะนี้พันธบัตรรัฐบาล 10 ปี ผลตอบแทนอยู่ที่ 3.4% แล้วนำไปปล่อยกู้ต่อให้ธนาคารของรัฐเช่นกรุงไทย ในอัตราดอกเบี้ย 5-6% เพื่อปล่อยกู้ให้กับผู้ที่ต้องการซื้อรถยนต์อัตราดอกเบี้ย 8% ผ่อนจ่าย 5 ปีแบบลดเงินต้น-ลดดอกเบี้ย

"การจะมีนโยบายที่สมบูรณ์ได้ธนาคารกลางและรัฐบาลต้องไม่ขัดกันเอง จำเป็นต้องประสานงานกันเหมือนกรณีรัฐบาลสหรัฐกับเฟด และรัฐบาลจีนกับธนาคารกลางจีนถึงจะดำเนินการได้ เพราะนโยบายอัตราดอกเบี้ยตอนนี้ไม่มีผลแล้ว จำเป็นต้องใช้มาตรการอื่นมาช่วย เช่น มาตรการ quantitative easing ที่ธนาคารกลางทุกประเทศเริ่มนำมาใช้ เป็นต้น" ดร.โอฬารกล่าว

หน้า 15
http://www.matichon.co.th/prachachat/prachachat_detail.php?s_tag=02fin03300452&day=2009-04-30&sectionid=0206


Windows Live™ SkyDrive™: Get 25 GB of free online storage. Check it out.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

ผู้ติดตาม

คลังบทความของบล็อก

เกี่ยวกับฉัน

รูปภาพของฉัน
ต้องรู้เท่าทันในการรับรู้ข่าวสารจากทุกแหล่งข่าว/ FACT - Freedom Against Censorship Thailand กลุ่มเสรีภาพต่อต้านการเซ็นเซอร์แห่งประเทศไทย http://facthai.wordpress.com/