วันเสาร์ที่ 2 พฤษภาคม พ.ศ. 2552

มูลนิธิจักรพันธุ์ โปษยกฤต จัดสร้างพระพุทธรูปบูชาปางมารวิชัย

มูลนิธิจักรพันธุ์ โปษยกฤต จัดสร้างพระพุทธรูปบูชาปางมารวิชัย
ข่าววันที่ 1 พฤษภาคม 2552 แหล่งข่าวจาก สยามรัฐ

             หากกล่าวถึงศิลปินที่มีผลงานด้านจิตรกรรมทั้งแบบไทยประเพณี ศิลปะร่วมสมัย ที่มีเอกลักษณ์เป็นของตนเอง เชื่อว่าหลายคนคงนึกถึง อ.จักรพันธุ์ โปษยกฤต ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (จิตรกรรม) ซึ่งมีความเชี่ยวชาญเกี่ยวกับงานด้านนี้ ตลอดเวลาที่ผ่านมา อ.จักรพันธุ์ ได้ให้ความช่วยเหลือสังคม และองค์กรการกุศลต่างๆ เสมอมา ต่อมาปี พ.ศ.๒๕๔๖ อ.จักรพันธุ์ ได้ก่อตั้ง มูลนิธิจักรพันธุ์ โปษยกฤต ขึ้น และดำรงตำแหน่งประธานมูลนิธิ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อทำนุบำรุงศิลปะ และศาสนา ซึ่งได้ดำเนินงานไปแล้วหลายโครงการด้วยกัน คือ การเขียนภาพจิตรกรรมฝาผนังพระอุโบสถวัดตรีทศเทพวรวิหาร ตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๕๓๓ ปัจจุบัน และโครงการการเขียนจิตรกรรม   ฝาผนังพระอุโบสถวัดเขาสุกิม จังหวัดจันทบุรี ตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๕๔๗ ปัจจุบัน ซึ่งโครงการที่สองนี้มูลนิธิฯ เป็นผู้อุปถัมภ์ค่าใช้จ่ายทั้งหมด        

      ส่วนงานด้านส่งเสริม และอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรม มูลนิธิฯ ได้ดำเนินการโครงการจัดสร้างและแสดงหุ่นกระบอกเพื่ออนุรักษ์ฟื้นฟูศิลปะการแสดงของไทยแขนงนี้ ต่อเนื่องมาตั้งแต่ปีพ.ศ.๒๕๑๘  ตั้งแต่เรื่องพระอภัยมณี ตอนหนีนางผีเสื้อ, รามเกียรติ์ตอนนางลอย, สามก๊ก ตอนโจโฉแตกทัพเรือ ปัจจุบันคือ หุ่นกระบอกเรื่อง "ตะเลงพ่าย" ซึ่งเตรียมการและสร้างมาตั้งแต่ปีพ.ศ.๒๕๓๓ เพื่อเทิดทูนวีรกรรมของบูรพกษัตริย์และบรรพชนไทย ปัจจุบันได้เปิดให้ประชาชนชมการซ้อมได้ทุกวันอาทิตย์ปลายเดือน โดยไม่คิดค่าเข้าชม

                       เนื่องจากโครงการต่างๆ เหล่านี้ ตลอดจนโครงการอื่นๆ ที่ต้องทำในอนาคต จำเป็นต้องมีทุนสนับสนุนเพิ่มเติมต่อเนื่องอีกเป็นจำนวนมาก มูลนิธิฯ จึงได้จัดโครงการจัดสร้างพระพุทธรูปบูชาปางมารวิชัย "พระพุทธมหาปารมีนุภาพพิสุทธิ์อนุตตรสังคามวิชัย" (มีความหมายว่า พระพุทธเจ้าผู้ชนะสูงสุดเหนือสงครามมาร ด้วยพระพุทธานุภาพแห่งพระบารมีอันบริสุทธิ์ยิ่ง) ผลงานออกแบบและควบคุมการปั้น-หล่อของ อ.จักรพันธุ์ ที่ได้รับการยกย่องว่าเป็น ๑ ใน ๕๒ ช่างเอกแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ เพื่อระดมทุนในการเผยแผ่พระพุทธศาสนา ทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม พร้อมกันนี้ได้จัดพิธีทำบุญฉลองพระ และแถลงข่าวโครงการดังกล่าว โดยมี อ.จักรพันธุ์ โปษยกฤต และ วัลลภิศร์ สดประเสริฐ รองประธานมูลนิธิฯ ร่วมให้รายละเอียดของโครงการ ณ มูลนิธิจักรพันธุ์ โปษยกฤต เมื่อวันก่อน

             นอกจากนี้ยังมีโครงการที่จะสร้างพิพิธภัณฑ์ สำหรับรวบรวมผลงานของ อ.จักรพันธุ์ อาทิ งานจิตรกรรม ต้นฉบับแบบร่างจิตรกรรม ประติมากรรม ต้นฉบับแบบร่างงานจิตรกรรมฝาผนัง พระอุโบสถวัดตรีทศเทพวรวิหาร วัดเขาสุกิม จังหวัดจันทบุรี ทั้งวาดเส้นและลงสีที่ทำมาตั้งแต่ปีพ.ศ.๒๕๓๓ แต่ยังไม่แล้วเสร็จ และคงดำเนินการต่อไปเรื่อยๆ จึงมีต้นฉบับแบบร่างนับพันชิ้น ศิลปวัตถุประเภทงานหุ่นทั้งหุ่นโบราณที่เก็บรักษา และหุ่นที่สร้างขึ้นใหม่จากการแสดงหุ่นของ อ.จักรพันธุ์ โปษยกฤต และคณะ ทุกเรื่องรวมหลายร้อยตัว ทั้งยังมีเครื่องดนตรี จำนวนกว่า ๑๐๐ ชิ้น ที่มูลนิธิฯ ได้เก็บรักษาไว้ เพื่อให้ประชาชนได้ค้นคว้าศึกษา และได้เห็นแหล่งกำเนิดของสกุลช่างศิลปะในรัชกาลที่ ๙ สกุลหนึ่ง

"ขณะนี้มีการซ้อมหุ่นกระบอกเรื่อง ตะเลงพ่าย แล้วเปิดให้คนเข้ามาชมได้ทุกวันอาทิตย์ปลายเดือน คนที่เข้ามาชมก็มักจะถามผมว่า แล้วมีภาพเขียนให้ดูด้วยหรือไม่ ปกติงานของผมจะไม่มีแสดงที่ไหนเลยนอกจากที่พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ ซึ่งเป็นงานที่ได้รางวัลศิลปกรรมแห่งชาติเมื่อหลายปีมาแล้ว แต่ถ้าจะให้มาเดินชมในบ้านก็ไม่สะดวกอีกเพราะสถานที่แคบ และผมก็ทำงานอยู่ในบ้านด้วย เพื่อนรุ่นน้องที่ศิลปากรจึงแนะนำให้ทำพิพิธภัณฑ์ไว้สำหรับรวบรวมผลงานต่างๆ

ตอนแรกเราไม่ได้คิดว่าจะมาสร้างพระพุทธรูปองค์เล็กอย่างนี้ แต่ประมาณช่วงปี พ.ศ.๒๕๕๑ ขณะที่เรากำลังซ้อมหุ่นกันอยู่ ก็มีบริษัทหนึ่งมาสร้างอาคารสูง 32 ชั้น ข้างๆ มูลนิธิเรา ทางคณะจิตรกรรมฯ มหาวิทยาลัยศิลปากร ได้ออกหนังสือคัดค้านการก่อสร้างที่จะมารบกวนการสร้างผลงานเหล่านี้ และด้วยความช่วยเหลือของเพื่อนๆ ทุกรูปแบบ ปรากฏว่า ด้วยองค์ประกอบใหญ่ ไม่ว่าเศรษฐกิจโลก หรือศิลปวัฒนธรรมของไทย หรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์ต่างๆ ทำให้โครงการนี้ระงับไป แต่ที่ดินนี้ก็ยังเป็นของบริษัทนี้อยู่ ซึ่งเขาก็มีไมตรีกับเราอย่างมาก ถึงแม้จะถูกโจมตีบ้างในช่วงแรกๆ แต่ตอนหลังก็เข้าใจกัน เราต้องนึกถึงใจเขาใจเราว่า เมื่อลงทุนไปแล้วเขาก็ต้องการได้กำไร หรือได้ทุนคืน เราคืออุปสรรคของเขา มูลนิธิจักรพันธุ์ จึงจำเป็นที่จะต้องเป็นเจ้าของที่ผืนนี้เอง และทำเป็นพิพิธภัณฑ์เล็กๆ ขึ้นมา ไม่ต้องมีสิ่งก่อสร้างใหญ่โต จึงต้องมีการระดมทุนเพื่อสิ่งนี้ ซึ่งต้องขอบคุณทางเจ้าของที่ ที่ให้เวลาเราค่อนข้างมากในการระดมทุน" อ.จักรพันธุ์ กล่าว

                         วัลลภิศร์ สดประเสริฐ ถือเป็นกำลังสำคัญอีกท่านหนึ่ง ที่ทำให้โครงการสร้างพระพุทธรูปดำเนินไปตามขั้นตอนต่างๆ ได้อย่างราบรื่น กล่าวว่า ตอนแรกตั้งใจจะสร้างพระพุทธรูปองค์ใหญ่หน้าตัก 30 นิ้ว เพียงองค์เดียว เพื่อนำมาเล่นในฉากสมเด็จพระนเรศวร ในหุ่นกระบอกเรื่อง "ตะเลงพ่าย" หรือไม่ก็หาพระเก่าๆ มาเข้าฉาก แต่พอมาคิดกับ อ.จักรพันธุ์ แล้ว สรุปกันว่าปั้นใหม่ดีกว่า

            "พอดีตอนนั้นมีช่างปั้นฝีมือดีเข้ามาช่วย อาจารย์เลยออกแบบเป็นศิลปะยุคสุโขทัยตอนปลายกับอยุธยาตอนต้น จริงๆ แล้วพระน่าจะเป็นศิลปะมอญ แต่อาจารย์เห็นว่าเมื่อสร้างแล้วจะต้องเก็บไว้บูชากราบไหว้ จึงสร้างเป็นศิลปะไทย ใช้เวลาปั้น 1 ปีเต็ม กว่าจะหล่อ ติดลายเสร็จร่วม 2 ปี พอนำมาแสดง คนก็ชมว่าสวยอยากได้มาบูชา เราจึงใช้คอมพิวเตอร์ย่อจากแบบจริงลงมา แต่มีบางส่วนที่ต้องใช้คนแต่งแบบให้สมบูรณ์ จากนั้นก็ส่งไปโรงหล่อ ทำรุ่นหน้าตัก 5 นิ้วก่อน ส่วนหน้าตัก 9 นิ้วยังเป็นขี้ผึ้งอยู่ เพราะอาจารย์อยากทำให้ออกมางดงามที่สุด จึงต้องรอกันหน่อย"   วัลลภิศร์ กล่าว  

 อ.จักรพันธุ์ กล่าวเสริมว่า เมื่อหล่อพระออกมาแล้ว แต่ยังไม่มีลาย จึงได้มาทำลาย ปิดทองและประดับเพชร ต่อมา บริษัท สวารอฟสกี้ เขาทราบว่าทางมูลนิธิฯ กำลังทำเรื่องพระนเรศวร และทำจิตรกรรมฝาผนังที่วัดเขาสุกิม ซึ่งมีซุ้มที่ต้องประดับเพชรสวารอฟสกี้ ทางมูลนิธิตั้งงบไว้ 5 แสนสำหรับซื้อเพชรมาประดับพระพุทธรูป ปรากฏว่าบริษัทฯ ได้มอบเพชรตามจำนวนที่ต้องใช้ให้กับมูลนิธิฯ ด้วย

 การสร้าง "พระพุทธมหาปารมีนุภาพพิสุทธิ์อนุตตรสังคามวิชัย" ครั้งนี้จะจัดทำขึ้นเพียงครั้งเดียวเท่านั้น มีจำนวนดังนี้

หน้าตัก ๙ นิ้ว ผิวชุบทอง จำนวน ๕,๐๐๐ องค์ (๑ องค์ สำหรับเงินบริจาค ๕๙,๐๐๐ บาท)

หน้าตัก ๙ นิ้ว เนื้อสำริด จำนวน ๑๐,๐๐๐ องค์ (๑ องค์ สำหรับเงินบริจาค ๓๓,๐๐๐ บาท)

หน้าตัก ๕ นิ้ว ผิวชุบทอง จำนวน ๑๐,๐๐๐ องค์ (๑ องค์ สำหรับเงินบริจาค ๒๐,๐๐๐ บาท)

หน้าตัก ๕ นิ้ว เนื้อสำริด จำนวน ๒๐,๐๐๐ องค์ (๑ องค์ สำหรับเงินบริจาค ๑๐,๐๐๐ บาท)

ซึ่งพระพุทธรูปทั้งสองขนาดได้ผ่านพิธีพุทธาภิเษกแล้วเช่นกัน โดยมีระยะเวลาดำเนินโครงการตั้งแต่ เมษายน พ.ศ.๒๕๕๒ มีนาคม พ.ศ.๒๕๕๔

 สำหรับประชาชนที่ต้องการร่วมทำบุญบริจาคปัจจัยตามกำลังศรัทธา ร่วมกับมูลนิธิฯ ในการทำนุบำรุงและเผยแผ่พระพุทธศาสนาและศิลปวัฒนธรรมได้อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะโครงการจิตรกรรมฝาผนัง ๒ โครงการ และโครงการการจัดเก็บศิลปวัตถุของศิลปินแห่งชาติให้เป็นพิพิธภัณฑ์สำหรับประชาชน สอบถามรายละเอียดเกี่ยวกับการสั่งจอง "พระพุทธมหาปารมีนุภาพพิสุทธิ์อนุตตรสังคามวิชัย" ได้ที่ มูลนิธิจักรพันธุ์ โปษยกฤต เลขที่ ๔๙/๑ ถนนสุขุมวิท ๖๓ แขวงคลองตันเหนือ เขตวัฒนา กรุงเทพฯ ๑๐๑๑๐ โทรศัพท์ ๐๒-๓๙๒-๗๗๕๔, ๐๘-๗๓๓๒-๕๔๖๗-๘ โทรสาร ๐๒-๓๙๒-๗๗๕๓ และ ๐๒-๗๑๔-๘๔๔๙

 

                                                                                  

 
  รูปประกอบข่าว
http://www.siamrath.co.th/uifont/NewsDetail.aspx?cid=97&nid=37234
 


Hotmail® has ever-growing storage! Don't worry about storage limits. Check it out.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

ผู้ติดตาม

คลังบทความของบล็อก

เกี่ยวกับฉัน

รูปภาพของฉัน
ต้องรู้เท่าทันในการรับรู้ข่าวสารจากทุกแหล่งข่าว/ FACT - Freedom Against Censorship Thailand กลุ่มเสรีภาพต่อต้านการเซ็นเซอร์แห่งประเทศไทย http://facthai.wordpress.com/