วันศุกร์ที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2552

ดร.บุญทรัพย์ พานิชการ "คนที่ทำงานด้านโลจิสติกส์ ห้ามหัวสี่เหลี่ยม"

 
วันที่ 30 เมษายน พ.ศ. 2552 ปีที่ 32 ฉบับที่ 4101

ดร.บุญทรัพย์ พานิชการ "คนที่ทำงานด้านโลจิสติกส์ ห้ามหัวสี่เหลี่ยม"


คอลัมน์ HR Young Blood

โดย เอื้อมพร สิงหกาญจน์ auem@matichon.co.th


ด้วยความที่เคยจับงานด้านการ บริหารธุรกิจร้อยล้านพันล้านมาก่อน เมื่อต้องมานั่งเป็นผู้อำนวยการหลักสูตรวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาการจัดการโลจิสติกส์และซัพพลายเชน มหาวิทยาลัยศรีปทุม "ดร.บุญทรัพย์ พานิชการ" จึงมองแนวการพัฒนาบุคลากรด้านโลจิสติกส์ที่ฉีกออกไปจากระบบการศึกษาแบบเดิมๆ

"โลจิสติกส์และซัพพลายเชนเป็นปัจจัยพื้นฐานที่สำคัญของการดำเนินธุรกิจทั้งในระดับมหภาคและจุลภาค เพราะทุกธุรกิจต้องอาศัยโลจิสติกส์และซัพพลายเชนใน ทุกกระบวนการ ดังนั้นบุคลากรทางด้านนี้จำเป็นต้องมีทักษะเฉพาะทาง รวมถึงมีความเข้าใจถึงลักษณะธุรกิจขององค์กร รวมถึงกลไกเศรษฐกิจอื่นๆ ด้วย"

สิ่งที่ "ดร.บุญทรัพย์" กล่าวในวันเปิดตัวหลักสูตร แสดงให้เห็นความมุ่งมั่นในการพัฒนาบุคลากรด้านโลจิสติกส์ให้เป็นทุนของประเทศอย่างนัยสำคัญ

"ดร.บุญทรัพย์" เล่าให้ฟังว่า หลักสูตรนี้เป็นความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยศรีปทุมกับสหพันธ์ขนส่งทางบกแห่งประเทศไทย ที่ต้องการผลิตบุคลากรให้ ตรงกับความต้องการของตลาดมากที่สุด จึงดีไซน์หลักสูตรให้มีความโดดเด่นในหลายด้าน ทั้งเวลาที่เรียนกำหนดให้ใช้เวลาเพียงปีเดียว และให้เป็นการเรียนแบบ inside out และ outside in โดยในการเรียนแต่ละวิชาจะเติมกรณีศึกษาในปัจจุบันของสหพันธ์เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของการเรียนด้วย

"ผมเองอยู่ในภาคธุรกิจมาก่อน ผมเห็นว่าปัญหาในภาคธุรกิจคืออะไร เวลารับคนเข้ามา แทนที่จะใช้งานได้ทันที แต่ต้องแปลงโรงงานให้เป็นโรงเรียนพัฒนา พนักงานใหม่ให้พร้อมทำงานแล้วจึงส่งเข้าไปทำงาน จึงอยากพัฒนาคนตรงนี้ให้มีองค์ความรู้ที่สามารถนำไปประยุกต์ใช้กับองค์กรต่างๆ ได้จริง เมื่อจบการศึกษาก็พร้อมที่จะทำงานได้ทันที"

"ดร.บุญทรัพย์" บอกต่อไปว่า ในเชิงยุทธศาสตร์ สหพันธ์มีแผนแม่บทอยู่แล้ว ในการเปิดหลักสูตรนี้ ทางมหาวิทยาลัยได้ร่วมมือกับสหพันธ์ใน 3 เรื่องหลักๆ

เรื่องแรก คือการให้ความร่วมมือในการทำหลักสูตร

เรื่องที่สอง การช่วยเหลือด้านวิชาการ

และเรื่องที่สาม การจัดทำแผนยุทธศาสตร์เพื่อผลักดันให้เกิดองค์กรวิชาชีพด้านการขนส่ง เพื่อให้คนที่ทำอาชีพนี้ได้รับการยอมรับจากภาคสังคมมากขึ้น

"เดิม มหาวิทยาลัยจะมีความเชื่อว่า การเรียนการสอนเป็น education business แต่ต่อไปนี้เราอยากให้เป็น knowledge business เพราะวันนี้ บุคลากรด้านโลจิสติกส์ยังขาดแคลนอยู่มาก ข้อมูลจากสภาพัฒน์ล่าสุดในช่วงปลาย ปี 2551 ระบุว่า ความต้องการบุคลากร ด้านโลจิสติกส์ในภาคการผลิตว่ามีทั้งหมดถึง 1.6 ล้านคน ซึ่งปัจจุบันมีอยู่แล้ว 1.4 ล้านคน ยังขาดอีก 50,000 คน ภาคผู้ให้บริการด้านโลจิสติกส์ ปัจจุบันมีความต้องการประมาณ 50,000 คน ตอนนี้มี คนทำงานอยู่ 45,000 คน ซึ่งยังขาดอยู่ประมาณ 5,000 คน รวมคน 2 กลุ่มนี้ในอุตสาหกรรมโลจิสติกส์ยังมีความต้องการบุคลากรอยู่ทั้งหมดอีกแสนกว่าคน"

นี่คือความใหม่สดของหลักสูตรที่ทำให้การดำเนินการต่างๆ ไม่ต้องติดอยู่ในกรอบสี่เหลี่ยม

ผู้อำนวยการหลักสูตรวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาการจัดการโลจิสติกส์ ยอมรับว่าคนที่ทำงานในอุตสาหกรรมโลจิสติกส์ในปัจจุบันส่วนใหญ่อาศัย learning by doing เพราะไม่ได้จบด้านโลจิสติกส์โดยตรง การพัฒนาหลักสูตรนี้จึงเป็นการพัฒนาบุคลากรให้ตรงเป้าหมายมากขึ้น เพราะคนที่จะทำงานด้านโลจิสติกส์ได้ดีจะต้องห้ามหัวสี่เหลี่ยม เพราะโลจิสติกส์เป็นอะไรที่ เคลื่อนไหวตลอดเวลา วันนี้ความต้องการของลูกค้าเป็นอย่างนี้ พรุ่งนี้ความต้องการของลูกค้าก็เปลี่ยนไป ในการดำเนินการด้านโลจิสติกส์จึงมีคำ 2 คำควบคู่กันตลอด นั่นคือคำว่า make และ move

make คือการผลิต การพัฒนาสินค้า

move คือการเคลื่อนย้ายสินค้าจาก จุดหนึ่งไปยังอีกจุดหนึ่ง ซึ่งต้องอาศัยการวางแผนที่ดีเพื่อตอบสนองโจทย์ของลูกค้าที่เปลี่ยนแปลงไปตลอดเวลาได้อย่างรวดเร็วและประหยัดต้นทุน ดังนั้นคนที่จะทำงานด้านโลจิสติกส์จะต้องมีอีกประการหนึ่ง คือจะต้องเป็น flexible man

"ผมมีความเชื่อว่าโลจิสติกส์เกี่ยวพันกับทุกอณูของธุรกิจ ทั้งการตลาด บุคคล การผลิต เพราะเมื่อไหร่ก็ตามที่มีการ move โลจิสติกส์เกี่ยวหมด โลจิสติกส์จึงมีความสำคัญตั้งแต่ตัวเราไปจนถึงภาคธุรกิจ แค่เดินทางไปทำงานในแต่ละวันก็ต้องวางแผน"

การก้าวจากภาคธุรกิจมาสู่ภาคการศึกษาเป็นอะไรที่ท้าทายความรู้ความสามารถของหนุ่มใหญ่วัย 42 ปีคนนี้เป็นอย่างมาก เพราะเป้าหมายในการผลิต มหาบัณฑิตที่ให้มีความแตกต่างจากในอดีต ต้องผนวกเอาประสบการณ์ในการทำงานในธุรกิจเข้ากับทฤษฎีในตำรา เพื่อพัฒนาคนโลจิสติกส์ให้สามารถขับเคลื่อนองค์กรได้จริงๆ นั้นไม่ใช่เรื่องง่าย

แต่อย่างไรก็ตาม จากประสบการณ์การทำงานในการปั้นธุรกิจ 100 ล้านให้เป็นธุรกิจพันล้าน ทำให้ "ดร.บุญทรัพย์" มีเทคนิคในการบริหารจัดการบุคลากรที่น่าสนใจหลายด้าน เช่น การสร้างผู้นำด้านการบริหารจัดการด้านโลจิสติกส์ เทคนิคง่ายๆ ตามแนวของนักธุรกิจรุ่นใหม่ คือจากสูงสุดต้องคืนสู่สามัญ เริ่มต้นง่ายๆ ด้วยการหันกลับไปมององค์กรของตัวเอง แล้วลองเขียนกิจกรรมที่ทำตั้งแต่เช้าจดเย็น ตรงนั้นจะทำ ให้เห็นสิ่งที่ต้องทำ และสิ่งที่ไม่ต้องทำ ก็ไม่ทำให้ยอดขายของบริษัทลดลง เพราะเรื่องของโลจิสติกส์เป็นซับเซตของ value chain เพราะฉะนั้นจะต้องหา value chain ให้เจอ ตัวไหนที่ไม่สร้าง value ก็ตัดทิ้ง โดยเฉพาะในช่วงวิกฤต จะต้องทำโปรเซสต่างๆ ให้กระชับ เพื่อให้ทุกอย่างเคลื่อนได้เร็ว

เมื่อดูจนรู้แล้ว ภายในองค์กรของตัวเองเป็นอย่างไร ขั้นต่อไปจะต้องสร้างความร่วมไม้ร่วมมือกันให้มากขึ้นเพื่อลดต้นทุน โดยนำความรู้เข้ามาจับสร้างความยั่งยืนให้กับองค์กร

"เมื่อก่อนผมคิดว่าทุกอย่างเป็นไปไม่ได้ แต่วันนี้ผมคิดใหม่ โดยเชื่อว่าทุกอย่างเป็นไปได้หมด เพียงแต่ต้องอาศัยการขับเคลื่อนที่แรงขนาดไหน นั่นคือหัวต้องส่ายให้มากๆ เป็นทวีคูณ เพื่อให้หางกระดิกตาม เพราะวันนี้หางไม่ค่อยกระดิก"

"ตั้งแต่เป็นผู้บริหารองค์กร ผมพยายามจะใส่ทุกอย่างไว้ในห้องประชุม โดยเวลาประชุมผมจะเป็นคนที่พูดน้อยที่สุด เพราะมีความเชื่อว่าผู้นำต้องฟังให้เยอะ และที่สำคัญผู้นำมีเวทีให้พูดเยอะ ดังนั้นในห้องประชุมผู้นำควรพูดไม่เกิน 20 เปอร์เซ็นต์ ที่เหลือเปิดโอกาสให้พนักงานได้พูด ได้นำความรู้ ประสบการณ์ต่างๆ มาแชร์กัน ถ้าใครคิดจะรายงานผลการดำเนินงานให้ทำเป็นเอกสารแล้วรายงานเพียง 5 นาทีพอ ที่เหลือให้ทุกคนกลับไปอ่านเอง เพราะสิ่งที่อยากเห็นในห้องประชุม คือทุกคนเอาปัญหามาเล่าให้ฟัง ซึ่งจะทำให้เพื่อนๆ สามารถช่วยแก้ไขปัญหาต่างๆ ได้

"ดร.บุญทรัพย์" บอกว่า เรื่องของคนถือเป็น assets คือเป็นได้ทั้งหนี้และเป็นได้ทั้งทุนขององค์กรในบัญชีงบดุล เพราะคนสามารถสร้างหนี้ให้กับองค์กรก็ได้ สร้างกำไรให้กับองค์กรก็ได้ ถ้าองค์กรได้คนที่ใช่ก็จะกลายเป็นทุน ดังนั้นการคัดเลือก พนักงานเข้าทำงานจึงเป็นเรื่องที่สำคัญยิ่ง ถ้าองค์กรได้คนที่ใช่มาเกินครึ่งถือว่าถูกหวย

การผลิตมหาบัณฑิตในหลักสูตรนี้จึงเน้นไปที่คุณภาพ ผู้ที่จบการศึกษาในหลักสูตรนี้จะต้องสามารถกำหนดปัญหาได้ เข้าใจปัญหา สามารถวิเคราะห์และแก้ไขปัญหาเป็น รวมถึงสรุปจัดทำเป็นเอกสารเผยแพร่เพื่อเป็นความรู้ให้กับคนในองค์กร

ต่อไปอาชีพโลจิสติกส์จะเป็นวิชาชีพที่ได้รับการกล่าวขานขนาดไหน ถือเป็นบทพิสูจน์ฝีมือของนักบริหารการศึกษาที่ไม่ได้มองโจทย์การพัฒนาคนแค่ผลิตบัณฑิตให้ได้จำนวนมากๆ เท่านั้น

หน้า 30
http://www.matichon.co.th/prachachat/prachachat_detail.php?s_tag=02hmc03300452&day=2009-04-30&sectionid=0220


Rediscover Hotmail®: Now available on your iPhone or BlackBerry Check it out.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

ผู้ติดตาม

คลังบทความของบล็อก

เกี่ยวกับฉัน

รูปภาพของฉัน
ต้องรู้เท่าทันในการรับรู้ข่าวสารจากทุกแหล่งข่าว/ FACT - Freedom Against Censorship Thailand กลุ่มเสรีภาพต่อต้านการเซ็นเซอร์แห่งประเทศไทย http://facthai.wordpress.com/