วันศุกร์ที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2552

242 ปี มรดกศิลป์จากกรุงศรีฯ "ขันลงหิน บ้านบุ" "เจียม แสงสัจจา" สุดท้ายในสยาม

 
วันที่ 30 เมษายน พ.ศ. 2552 ปีที่ 32 ฉบับที่ 4101

242 ปี มรดกศิลป์จากกรุงศรีฯ "ขันลงหิน บ้านบุ" "เจียม แสงสัจจา" สุดท้ายในสยาม



เลียบคลองบางกอกน้อยฝั่งใต้ หลังสถานีรถไฟธนบุรี ใครหลายคนอาจมโนภาพจากนิยาย "คู่กรรม" ของ ทมยันตี ที่พรรณนาถึงโศกนาฏกรรมรักระหว่าง "อังศุมาลิน" กับ "โกโบริ" ท่ามกลางบรรยากาศกลิ่นอายสงครามโลกครั้งที่ 2

หิ่งห้อยใต้ต้นลำพู เคยส่องแสงระยับยามค่ำคืน ได้ห่างหายไปจากริมคลองบางกอกน้อยไปนานแล้วในความจริง เหลือแต่เพียงในจินตนาการ

เฉกเช่นประวัติศาสตร์ อันเคยเรืองรองของชุมชน "บ้านบุ" ละแวก "วัดสุวรรณาราม" ซึ่งปัจจุบันกำลังถูกกลืนไปพร้อมกับกาลเวลา

"บ้านบุ" ชุมชนที่มีบ้านเรือนอาศัยกว่า 100 หลังคาเรือน ครั้งหนึ่งเป็นย่านที่ทำ ขันลงหิน หรือ "ขันบุ" มาตั้งแต่โบราณ

เรื่องเล่าสืบต่อกันมาว่า บรรพบุรุษของชาวบ้านบุ มีอาชีพทำขันลงหินตั้งแต่เมื่อครั้งกรุงศรีอยุธยา หลังจากที่เสียกรุง พระเจ้าตากสินได้กอบกู้เอกราชแล้วย้ายเมือง ทำให้ชาวบ้านจากกรุงศรีฯได้อพยพมาตั้งหมู่บ้านยังทำเลนอกคลองคูเมืองราชธานี เมื่อ พ.ศ.2310 ติดกับวัดสุวรรณาราม (วัดทอง) ซึ่งเป็นวัดที่มีมา ตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา

จากศิลปะการทำขันลงหินอันรุ่งโรจน์ เสียงทุบทองเคยดังกังวานทุกหลังคา

แต่วันนี้ กลับเหลือผู้ที่ยังสืบทอดมรดกทำขันลงหินจากกรุงศรีอยุธยาเพียงหลังคาเดียว

คือ "ขันลงหินบ้านบุ เจียม แสงสัจจา"

ตรอกเล็กเลียบคลองบางกอกน้อย มุ่งหน้าลัดเลาะ ไปตามทางกว้างเพียงคนเดินสวนกัน ถึงบ้านเลขที่

133 ตรอกบ้านบุ ถนนจรัญสนิทวงศ์ ซอย 32 แขวงศิริราช ใกล้สำนักงานเขตบางกอกน้อย

นางเมตตา (แสงสัจจา) เสลานนท์ วัย 67 ปี ผู้สืบทอดกิจการต่อจากมารดา "เจียม แสงสัจจา" เล่าให้ฟังว่า ความเป็นมาของการทำขันลงหินนั้นมีมายาวนานกว่า 242 ปี ก่อนที่จะสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์

"ว่ากันว่า การทำขันลงหินมีมาตั้งแต่ พ.ศ.2310 ครั้งที่พระเจ้าตากสินย้ายกรุง โดยมีหลักฐานปรากฏในเอกสารสมัยรัชกาลที่ 3 ซึ่งปัจจุบันนี้ ขันลงหินบ้านบุก็กลายเป็น 1 ใน 7 งานศิลป์ถิ่นเมืองกรุงไปแล้ว"

นางเมตตากล่าวว่า สงครามโลกครั้งที่ 2 ได้ทำให้คนในชุมชนต้องอพยพ เมื่อกลับมาการผลิตเครื่องทองก็ซบเซา ประกอบกับวัตถุดิบเปลี่ยน มีเทคโนโลยีเข้ามา และ "ช่างบุ" มีอายุมากขึ้น หลายบ้านที่เคยทำขันลงหินก็ไม่มีคนสืบทอด

"กิจการนี้เป็นของแม่ดิฉันมาก่อน คือเจียม แสงสัจจา ซึ่งแม่ได้พัฒนาการทำ ขันลงหินให้สวยงามขึ้น มีลวดลาย ซึ่งต่อมาดิฉันก็เข้ามาสืบทอดต่อ"

โดยเฉพาะบ้านหลังนี้ ซึ่งถือว่าเป็นแห่งสุดท้ายที่ยังคงหลงเหลืออยู่ แต่ก็กลับจะสิ้นชื่อ เพราะโดนไฟไหม้ เมื่อวันที่ 7 มกราคม 2549 เสียหายไปมากมาย

นางเมตตาบอกว่า จำวันที่เพลิงเผาทำลายขันลงหินให้ละลายได้แม่น เนื่องจากขันโบราณ ของเก่า ของหายากมากมายอันตรธานไปพร้อมกับเปลวไฟจนเกือบหมด

เมื่อเพลิงสงบแล้ว สถานที่ทำขันลงหินแห่งสุดท้ายก็ค่อยๆ ถูกบูรณะให้ฟื้นกลับมามีชีวิตอีกครั้ง

"ประมาณ 60 ปีที่แล้ว ที่ชุมชนนี้ทำ ขันลงหินกันทุกบ้าน เหมือนเป็นหัตถกรรมในครัวเรือน ทำเป็นงานอิสระอยู่บ้าน หากเป็นโรงงานขนาดใหญ่หน่อยเรียกว่ากงสี พอวันเวลาผ่านไปก็ค่อยๆ หายไปทีละหลัง เลิกทำกันไป จนเหลือที่นี่ที่สุดท้าย" นางเมตตาเล่าให้ฟังแล้วว่า

"ทุกวันนี้เรามี order มาจากยุโรปเป็นส่วนใหญ่ ทางอเมริกาเขาจะไม่ใช้ ไม่ค่อยนิยม อาจจะเป็นเพราะว่าดูแลยาก ราคาสูง ขันลงหิน คนที่ใช้ส่วนใหญ่จะเป็นคนที่มีฐานะ อย่างใบเล็ก เส้นผ่านศูนย์กลางขนาด 3 นิ้ว ขายส่งใบละ 600 บาท ถ้ามีลวดลาย อยู่ราคาใบละ 800 บาท ขันขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 10 นิ้ว ไม่มีลวดลาย ราคา 5,000 บาท ถ้ามีลายก็เพิ่มอีกพันกว่าบาท การดูแลรักษาก็ห้ามใส่ของร้อนหรือของเปรี้ยว ตอนนี้ก็เริ่มมีหน่วยงานราชการรู้จักบ้างแล้ว จากเว็บไซต์ เริ่มมีคนรู้ว่ามีที่เดียวในเมืองไทย และเป็นงาน handmade"

"อย่างล่าสุด ก็ถูกสั่งให้ทำเป็นของที่ระลึก เพื่อมอบให้กับผู้นำอาเซียนที่มาประชุมกันที่พัทยา แต่พอดีต้องยกเลิกไปก่อน" นางเมตตากล่าวอย่างอารมณ์ดี

ถึงกระนั้น แม้ว่าขันลงหินเป็นสินค้าที่ประณีต ใช้เวลาในการทำ มีราคาสูง ต้องสั่งทำเป็นกรณีไป ก็ไม่ได้หมายความว่าช่วงวิกฤตเศรษฐกิจข้าวยากหมากแพงจะทำให้ความนิยมในศิลปะอันงดงามนี้น้อยลงไป

"ในวิกฤตเศรษฐกิจอย่างนี้ ก็พอประคองตัวอยู่ได้ และต้องช่วยตัวเอง ต้องอยู่ให้ได้ ธุรกิจขันลงหินบ้านบุ เจียม แสงสัจจา ไม่ใช่ของสาธารณะ เราไม่ได้ขอความช่วยเหลือ เพราะดิฉันคิดว่าถ้าขอความช่วยเหลือจะเป็นการช่วยเรา แต่ไม่ได้ช่วยชุมชน แต่ศูนย์ส่งเสริมการท่องเที่ยวก็หาตลาดให้เรา สิ่งสำคัญที่สุดขณะนี้คือต้องเลี้ยงคนงาน 20 คน มีช่าง 16 คน และ ช่างแกะลายอีก 4 คน"

"ตรงนี้เป็นเรื่องการอนุรักษ์ ไม่ใช่การค้าหวังกำไร เราสู้รักษาเอาไว้ แม้ว่าวิกฤตเศรษฐกิจจะทำให้อยู่ลำบาก เรายังเอาตัวไม่รอด ค่าใช้จ่ายตกอยู่ที่วันละประมาณ 7,000 บาท คือช่างได้วันละ 400-1,000 บาท ขึ้นอยู่กับว่าตีขันได้มากเท่าไร ต้องยอมรับว่าเป็นงานของคนที่มีกำลังซื้อ ถึงแม้ว่าเศรษฐกิจอย่างนี้ก็ยังซื้อ"

"ช่างคนหนึ่งตีขันได้ 15 ใบต่อวัน เล็กใหญ่ตามขนาด ถ้าขนาด 10 นิ้ว ก็ตีได้ 4 ใบต่อวัน ถ้าขนาดเล็ก 3 นิ้ว ก็ 15 ใบ หากต้องการนำไปลงลวดลาย ก็จะใช้เวลาเพิ่มอีก 5-10 วัน"

นางเมตตาอธิบายว่า ขั้นตอนการทำขันลงหินมี 6 ขั้นตอน คือ 1.ตี 2.ตีลายเก็บเนื้อ 3.กรอ 4.กลึง 5.แต่งเนื้อ 6.ขัด ก่อนที่จะ ส่งไปให้ช่างในขั้นตอนที่ 7 คือแกะลาย

ซึ่งช่างฝีมือที่มีขณะนี้ อยู่ที่ อ.แปดริ้ว จ.ฉะเชิงเทรา โดยคนที่เป็นหัวหน้าช่างแกะลาย อายุ 60 ปีแล้ว แต่ปัญหาหลักๆ ในการสืบทอดขันลงหินคือช่างตี เพราะไม่มีคนมาสืบทอด ไม่มีใครมาเรียนรู้

"เราเคยทำโครงการให้คนเข้ามาเรียนรู้การทำขันลงหิน โดยให้มาอยู่ในชุมชน ได้เงินค่าตอบแทนอีกเดือนละ 8,000 บาท มีที่อยู่ให้ แต่ก็มีเงื่อนไขว่าต้องโสด จนป่านนี้ยังไม่มีใครมาสมัครเลย ลูกคนงานในชุมชนก็ไม่เอา ที่ต้องการมากคือช่างตีขึ้นรูป"

ทั้งนี้ นางเมตตายอมรับว่า เมื่อมองไปอนาคตแล้ว การจะหาช่างตีมาทดแทนช่างในปัจจุบันที่อายุมากและมีอยู่น้อย เป็นเรื่องที่คิดไม่ออก

ด้วยคนที่จะมาเป็นช่างตีได้ ต้องมีความรู้เรื่องการผสมโลหะ เป็นช่างหลอม กว่าจะฝึกฝนจนชำนาญต้องใช้เวลาหลายปี และนั่นจึงอาจหมายถึงการนับเวลาถอยหลังรอให้ขันลงหินค่อยสูญสิ้น หากไม่มีช่างตีที่จะมาขึ้นรูปให้เป็นขัน

"ก็ต้องเห็นใจ เพราะทำงานอยู่ตรงนี้ ไม่มีสังคม ปิดตัวอยู่ทั้งวัน ดิฉันทำมาตั้งแต่อายุ 22 ปี ตอนนี้อายุ 67 ปีแล้ว เมื่อก่อนก็ไม่ได้รู้สึกอะไร แต่มาเกิดความลึกซึ้งจนเมื่อรู้ว่าเป็นผู้อนุรักษ์แล้ว ส่วนหนึ่งก็คือได้ช่วยพ่อแม่มาก่อน ก็เลยซึมซับ คงทำไปเรื่อยๆ ก่อน เผื่อว่าจะเจอคนดีมาจากอยุธยา จากตรงนี้อยู่ได้อีกประมาณ 10 ปี ส่วนตัวดิฉัน 5 ปี ก็คงหมดเวลาแล้ว แต่ก็ยังมีลูกหลานที่จะคอยดูแลต่อไป"

"ถึงแม้ว่าเราจะอยู่มานานแล้ว แต่ก็ไม่มีอะไรอยู่คู่ฟ้า ต้องเป็นตำนานสักวัน ที่เหลือในชุมชนก็มีแค่ 3-5 ครอบครัวเท่านั้นที่ยังเป็นช่างทำขันลงหินได้ บางครอบครัวสามีภรรยาทำด้วยกัน"

"ค่าใช้จ่าย 7,000 บาทต่อวัน เราต้องใช้วัตถุดิบอย่างดี ถ่านเกรดเอ จากไม้มะขาม เนื้อแข็ง ดีบุก ทองแดง ซึ่งหนักเรื่องเงินทุน ในภาวะเศรษฐกิจอย่างนี้ ก็ให้ช่างที่ 1 คือช่างตี มาทำงานวันจันทร์ พุธ ศุกร์ ส่วนช่างขั้นตอนที่ 2-6 มาทุกวัน มันสำคัญเรื่องเงิน ค่าแรง ที่ต้องให้ช่างอยู่ได้ 300-400 บาทต่อวัน เพราะการทำงานอย่างนี้ต้องอยู่ที่ใจ ใจที่จะรักงานนี้ไหม การทำขันลงหินยากมาก และร้อน เพราะอยู่หน้าเตา ต้องใจรักจริงๆ การที่จะดึงเด็กสมัยนี้ลงมายากมาก"

นางเมตตาให้ความรู้ว่า การจะเป็นช่างตีขันได้นั้น ต้องใช้เวลาฝึกฝน 3 ปี จนทุบทองเป็นแผ่น ขึ้นรูป ซึ่งมีเทคนิคเยอะ วิธีการดูทองละลาย ทองจับ ไม่แตก ถ้าจะเรียนรู้จริงๆ ต้องเป็นต้องได้ แต่คนสมัยนี้ไม่เลือกที่จะทำ

"ชุมชนนี้มีอะไรเก่าๆ มาก ทางศูนย์ส่งเสริมการท่องเที่ยว เคยเปิดให้คนมาเที่ยวชม อย่างงานรำลึกสงครามมหาเอเชียบูรพา ก็มีคนอื่นๆ มากัน แต่ไม่มีเด็กในชุมชนเข้าฟัง มีแต่คนอื่นสนใจ เด็กรุ่นใหม่รับรู้ความสำคัญของขัน มหาวิทยาลัยบางแห่งนำไปเป็นตำราเรียน บางคนพอได้เรียนรู้แล้วก็อยากทำ ด้วยจิตที่รู้สึกรัก แต่ก็ด้วยชั่วระยะเดียว ดิฉันยังหาคำตอบไม่ได้ว่าจะจบลงตรงไหน"

"ช่างของเราเป็นช่างมีฝีมือ คณะมัณฑนศิลป์ออกประกาศนียบัตรให้ทั้ง 6 คนได้รับเกียรติ ช่างที่นี่ไม่ใช่คนงานผู้ใช้แรงงาน ก็ถือว่าเป็นกำลังใจให้คนรุ่นเก่า แต่คนรุ่นใหม่ยังไม่รับรู้"

และนั่นแทบจะดูเหมือนว่าเกียรติประวัติแห่งความภาคภูมิใจที่ช่างฝีมือได้รับ ไม่ได้สร้างแรงดึงดูดให้เด็กวัยรุ่นสนใจแม้แต่น้อย

ในทางกลับกัน อาชีพช่างฝีมือขันลงหิน ที่ต้องนั่งทนความร้อนของไฟจากเตา ยิ่งเหมือนถูกผลักออกให้ห่างจากวิถีชีวิตของเด็กในชุมชนบ้านบุ และเด็กในเมืองหลวงขึ้นทุกขณะ เมื่อถูกภาวะสังคมโลกยุค ไซเบอร์บีบคั้นต้องดิ้นรนเรียนพิเศษ หรือตามเพื่อนไปเที่ยวห้างสรรพสินค้า

นอกจากนี้ นางเมตตายังบอกอีกว่า "ช่างบุ" ที่เหลืออยู่ทุกวันนี้ ในฐานะที่เป็นเจ้าของกิจการได้ดูแลช่างทุกคนเหมือน พี่น้อง ที่เขาสามารถเข้าหาได้เสมอ อยู่กันแบบครอบครัว เพราะเมื่อเขาไม่ไปไหน ยึดงานนี้เป็นอาชีพ เขาก็ต้องมีความสุขด้วย

เพราะหนทางในการสืบสานมรดกที่ตกทอดมาจากกรุงศรีอยุธยาให้ดำรงอยู่ต่อไปนั้นดูจะมืดมิดตีบตัน

"ช่างรุ่นสุดท้าย เราในฐานะผู้ดูแล และเขาเป็นช่าง ดิฉันจะอยู่ตรงนี้ ไม่ไปไหน หากจะเกิดอะไรขึ้นอย่างไรก็ให้ช่างไปก่อน เมื่อถึงเวลานั้นแล้ว ดิฉันจะให้เขาเป็นคนเดินจากเราไป"

แม้ว่านางเมตตาในวันนี้อายุ 67 ปีแล้ว อีก 5 ปี อาจจะวางมือ ทายาทที่ยังอยู่ย่อมสามารถดำรงคงกิจการนี้ให้ดำเนินได้ต่อไปตามเจตนารมณ์ของบรรพบุรุษ

แต่หากขาดซึ่ง "ช่างบุ" แล้ว กิจการ ขันลงหินอาจกลายเป็นพิพิธภัณฑ์ที่เก็บรักษาไว้แต่ซากของตำนานอันรุ่งเรืองในอดีต

ฤๅ ความเป็นชุมชนบ้านบุใกล้ถึงคราวปิดฉากแล้วหรือ ?

หน้า 40
http://www.matichon.co.th/prachachat/prachachat_detail.php?s_tag=02spe01300452&day=2009-04-30&sectionid=0223

Rediscover Hotmail®: Get e-mail storage that grows with you. Check it out.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

ผู้ติดตาม

คลังบทความของบล็อก

เกี่ยวกับฉัน

รูปภาพของฉัน
ต้องรู้เท่าทันในการรับรู้ข่าวสารจากทุกแหล่งข่าว/ FACT - Freedom Against Censorship Thailand กลุ่มเสรีภาพต่อต้านการเซ็นเซอร์แห่งประเทศไทย http://facthai.wordpress.com/