วันอังคารที่ 5 พฤษภาคม พ.ศ. 2552

สู้วิกฤติเศรษฐกิจ'52 บนโลกการค้าหน้าจอพีซี

วันที่ 2 มกราคม 2552 เวลา 00:00 น. |
 
สู้วิกฤติเศรษฐกิจ'52 บนโลกการค้าหน้าจอพีซี
     รายงานภาวะเศรษฐกิจไทยไตรมาสที่สาม และแนวโน้มปี 2551-2552 โดยสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ คาดว่ามีแนวโน้มชะลอลงจากปี 2551 โดยครึ่งแรกของปี เศรษฐกิจจะได้รับผลกระทบจากวิกฤติการเงินโลก ส่งผลให้การส่งออกชะลอตัวประกอบกับการส่งออกมีฐานที่สูงมากในปี 2551 และการลงทุนภาคเอกชนจะยังชะลอตัวต่อเนื่อง จากความเชื่อมั่นในเศรษฐกิจจะยังต่ำในภาวะที่เศรษฐกิจโลกอยู่ในช่วงต่ำสุด

แปลเป็นภาษาชาวบ้าน สั้น ๆ ง่าย ๆ ว่า แย่!

แต่ในวิกฤติ มีโอกาสแถมมาด้วย โดยครั้งนี้ ที่ได้มา คือแหล่งการค้าใหม่ในโลกออนไลน์ ที่เป็นช่องทางทำธุรกิจซื้อขาย และบริการผ่านทางหน้าจอคอมพิวเตอร์ได้ตลอด 24 ชั่วโมง แบบไม่มีวันหยุด

ธุรกิจออนไลน์ ในปัจจุบันมีพัฒนา ที่ขจัดภาพความล้มเหลวของธุรกิจ "ดอตคอม" เมื่อปี 2542 ได้เป็นอย่างดี เพราะครั้งนี้ ผู้ประกอบการมีประสบการณ์ และเข้าใจความต้องการของผู้บริโภคมากขึ้น ขณะที่ผู้ซื้อก็มีจำนวนเพิ่มขึ้น รู้จักการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีสารสนเทศกว่าเดิม จึงกล้าจะจับจ่ายใช้สอย โดยไม่กลัวเกรงกลโกง หรือการทุจริตใด เพราะวางใจกับระบบรักษาความปลอดภัย และรู้ทางหนีทีไล่กันพอสมควร
 

การค้าขายออนไลน์ที่มีอยู่ในปัจจุบัน มีหลายรูปแบบ ได้แก่ 1. ผู้ประกอบการเดิมที่มีสินค้าและบริการอยู่แล้ว เปิดเว็บไซต์ หรือใช้อินเทอร์เน็ตเป็นสื่อทางการตลาด หรือช่อง ทางการค้าขายใหม่กับลูกค้าที่ใช้ชีวิตส่วนใหญ่ในโลกไซเบอร์ 2. กลุ่มผู้ประกอบการใหม่ ที่เพิ่งเริ่มต้น ไม่มีร้านค้าในโลกแห่งความจริง โดยเปิดเว็บไซต์เป็นตัวกลางขายสินค้า และบริการ 3. กลุ่มผู้ทำธุรกิจโดยอาศัยเว็บตลาดกลาง หรือเว็บประมูลทั้งที่มีฐานอยู่ในประเทศและนอกประเทศเป็นสถานประกอบการ

สินค้าที่จำหน่ายกันเป็นส่วนใหญ่ มีทั้งของที่จับต้องได้ ซึ่งมักเป็นสิ่งของที่มีคุณค่าทางจิตใจ เช่น ของขวัญ เครื่องประดับ เสื้อผ้า เฟอร์นิเจอร์ ของแต่งบ้าน ของที่จับต้องไม่ได้ เช่น ซอฟต์แวร์ เพลง ภาพยนตร์ กลุ่มอาหาร ผลผลิตการเกษตร มีจำหน่าย แต่ไม่กระจายในวงกว้าง มักค้าขายกันในกลุ่มที่เป็นคู่ค้ากัน

ย้อนดูผลสำรวจสถานภาพพาณิชย์ อิเล็กทรอนิกส์ไทย ปี 2551 ซึ่งจัดทำโดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ พบว่า ประเทศไทยมีมูลค่าการค้าออนไลน์แบบ B2C (บีทูซี) หรือการค้าขายตรงสู่ผู้บริโภค ปี 2550 มีมูลค่า 63,425 ล้าน เพิ่มขึ้นจากปี 2549 ที่มีอยู่ 47,501 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 34% ในขณะที่ผู้ใช้อินเทอร์เน็ตไทย เพิ่มขึ้นเพียงปีละ 10-17% โดยปี 2551 มีผู้ใช้อินเทอร์เน็ต 10.96 ล้านคน

จากข้อมูลดังกล่าว ทรงยศ คันธมานนท์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท แกรนด์แพลนเน็ท เอ็นเตอร์ไพรส์ ผู้ก่อตั้ง เว็บไซต์ www. ReadyPlanet.com (เรดดี้พลาเน็ต ดอตคอม) ให้ความเห็นว่าการเติบโตที่เกิดขึ้น เป็นผลมาจากการขยายตัวของอีคอมเมิร์ซ หรือการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ของโลก โดยส่วนหนึ่งของมูลค่าที่มากขึ้น มาจากยอดการซื้อในต่างประเทศ ซึ่งปี 2551 เพิ่งเกิดวิกฤติเศรษฐกิจทั่วโลก รวมทั้งการเมืองภายใน ทำให้กระทบกลุ่มธุรกิจท่องเที่ยว และผู้ส่งออกอย่างมาก ดังนั้นในปี 2551-2552 มูลค่าอีคอมเมิร์ซในส่วนนี้คงได้รับผลกระทบ แต่ตลาดภายในประเทศ คงเติบโตขึ้นได้ จากผู้สนใจที่จะหาช่องทางสร้างรายได้ออนไลน์มากขึ้น เนื่องจากภาวะเศรษฐ กิจและจำนวนผู้ว่างงานที่มากขึ้น

ทรงยศ อธิบายเหตุผลประกอบว่า การเพิ่มขึ้นของผู้ใช้อินเทอร์เน็ตทั้งในไทยและต่างประเทศ รวมทั้งพฤติกรรมผู้บริโภคที่มีกำลังซื้อ เริ่มเปลี่ยนแปลงไปอย่างเห็นได้ชัด ลูกค้านิยมการค้นหาข้อมูลสินค้าและบริการบนอินเทอร์เน็ตที่สะดวกและรวดเร็ว

"วันนี้แทบไม่มีใครอยากจะใช้สมุด (โทรศัพท์) หน้าเหลืองนัก ฉะนั้น หากคิดถึงมูลค่าการค้าผ่านสมุดหน้าเหลืองซึ่งย้ายมาอยู่บนอินเทอร์เน็ตก็มหาศาล ยังไม่นับรวมช่องทางการค้าอื่นอีกมากมายที่กำลังหลอมรวมเปลี่ยนแปลงโน้มเข้าสู่รูปแบบการค้าออนไลน์ ไม่ว่าจะเป็น การขายผ่านแคตตาล็อก ธุรกิจขายตรง ธุรกิจบริการ ท่องเที่ยว การโฆษณา วงการเพลงและภาพยนตร์ สื่อสิ่งพิมพ์ ปรากฏ การณ์เหล่านี้เป็นสัญญาณที่ชัดเจนของการ ขยายโอกาสทางการค้าออนไลน์" ผู้บริหารของเรดดี้พลาเน็ต ซึ่งทำธุรกิจให้บริการเว็บไซต์สำเร็จรูปและการฝึกอบรมการค้าบนเครือข่าย อินเทอร์เน็ตขยายความน่าสนใจว่า ตลาดการค้าที่อยู่บนจอสี่เหลี่ยมตรงหน้า จะขายอะไรกันนักหนา มูลค่าถึงเป็นหมื่นล้าน และจะเป็นความหวังท่ามกลางเศรษฐกิจซบเซาที่มือวางมีอันดับเสียคนมาเยอะแล้วได้อย่างไร ในกรณีนี้ ภาวุธ พงษ์วิทยภานุ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ตลาดดอทคอม จำกัด ผู้ให้บริการอีคอมเมิร์ซ ครบวงจรรายใหญ่ในประเทศไทย แถลงข้อมูลการซื้อขายสินค้าผ่านเว็บไซต์ที่ให้บริการ โดยผลการสำรวจ พบสินค้าที่ผู้ประกอบการออนไลน์ บน www.TARAD.com (ตลาดดอตคอม) ขายดี 5 อันดับแรกได้แก่ 1. เสื้อผ้าและแฟชั่น 2. โทรศัพท์มือถือ 3. รถยนต์ 4. บ้านและอสังหาริมทรัพย์ และ 5. คอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ โดยมูลค่าการซื้อขายตลอดปี 2551 เป็นเงิน 2,645 ล้านบาท จากผู้ประกอบการที่เปิดเว็บไซต์ร้านค้า กว่า 130,700 ราย ซึ่งเป็นสัดส่วนจำนวนร้านเพิ่มขึ้นเกือบ 40% จากปีก่อน หรือนับจำนวนสินค้ามากกว่า 1.1 ล้านรายการ
 

บริการอีกด้านของเครือตลาดดอทคอม คือ www.ThaiSecondhand.com (ไทยเซกคั่นด์แฮนด์ดอตคอม) ที่เปิดให้คนทั่วไปสามารถนำสินค้ามือสองและของใหม่ขึ้นประกาศซื้อ-ขายได้เอง ก็มีอัตราการเติบโตสูงมากเช่นเดียวกัน สินค้า 5 อันดับแรกที่มีประกาศขายมากที่สุดได้แก่ 1. รถยนต์ 2. โทรศัพท์มือถือ 3. คอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ 4. บ้านและอสังหาริมทรัพย์ 5. สินค้าแฟชั่น โดยในปี 2551 มีผู้นำสินค้าประกาศขายในเว็บไซต์นี้มากกว่า 1.2 ล้านรายการ คิดเป็นมูลค่าการค้า 2,813 ล้านบาท เฉพาะช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี มีผู้นำสินค้ามาประกาศขายเพิ่มขึ้นกว่า 50% ของ 3 ไตรมาสที่ผ่านมา ส่วนใหญ่เป็นเพราะการชะลอตัวของสภาพเศรษฐกิจ ทำให้มีผู้นำทรัพย์สินส่วนตัว มา ประกาศขายเปลี่ยนเป็นเงิน ซึ่งถือเป็นช่องทางที่ทำได้ง่าย และขายได้เร็วกว่าช่องทางอื่น ๆ

ภาวุธ เทียบเคียงเฉพาะการซื้อ-ขายในออนไลน์ผ่านเว็บไซต์ภายในเครือ TARAD. com สำหรับปีนี้ว่ามีการขยายตัวจากปีที่ผ่านมาอย่างมาก เพราะผู้ประกอบการหันมาค้าขายผ่านช่องทางออนไลน์มากขึ้น ธุรกิจต่าง ๆ มีความรู้และเข้าใจในระบบการค้าออนไลน์มากขึ้น ส่วนหนึ่งจากความพยายามสร้างองค์ความรู้ด้านการค้าขายออนไลน์ของทีมงาน TARADedu. com ที่เปิดสอนและอบรมให้กับผู้ประกอบการ ในรอบปีที่ผ่านมามากกว่า 1.5 หมื่นคนทั่วประเทศ และการผลิตหนังสือด้านการค้าขายออน ไลน์มามากกว่า 20 เล่ม

ผู้บริการตลาดดอทคอมจึงเชื่อว่าปี 2552 การค้าขายออนไลน์จะได้รับความสนใจจากผู้ประกอบการที่ยังไม่ได้นำธุรกิจเข้ามาสู่โลกออนไลน์เพิ่มมากขึ้น เพราะภาวะเศรษฐกิจที่หดตัว และความพยายามลดการใช้จ่ายของ ทุก ๆ ส่วน ทำให้ต้องมองหาโอกาสและช่องทางในการขายมากขึ้น เฉพาะแนวทางของ TARAD.com เองก็คาดว่าจะมีการซื้อขายมากกว่า 50% บริษัทจึงมีแผนเปิดตัวบริการใหม่ เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับผู้ซื้อและผู้ขายออนไลน์มากขึ้น

เช่นเดียวกัน ย้อนกลับไปถามถึงการคาดหมายอนาคตจาก ทรงยศ ก็เชื่อว่า จำนวนคนว่างงานและความวิตกในเรื่องรายได้ จะทำให้คนหลั่งไหลเข้าสู่การค้าออนไลน์มากขึ้น เพราะลงทุนต่ำ และเริ่มทดลองทำเป็นแบบ นอกเวลาได้ คนจะสนใจการเรียนและอบรมมากขึ้น เนื่องจากจะมีเวลา และต้องการแสวงหาโอกาสใหม่ ๆ ธุรกิจเกี่ยวกับการฝึกอบรมในทุก ๆ ด้านจะขยายตัว โดยเฉพาะการอบรม ที่เกี่ยวกับการสร้างรายได้และการทำธุรกิจออน ไลน์ ส่วนที่สงสัยกันว่า เมื่อมีปัญหาเศรษฐกิจคนจะคิดซื้อของอีกหรือ คำตอบก็คือ ปัญหาที่เกิดมีผลให้คนอยู่บ้านมากขึ้น การใช้จ่ายจะเป็นไปอย่างมีเหตุผล การเที่ยวเดินชอปปิงแล้ว ซื้อสินค้าติดไม้ติดมือโดยไม่ตั้งใจจะน้อยลง สถานการณ์นี้จะเป็นข้อดีอีคอมเมิร์ซ เพราะการค้าขายเกิดที่บ้าน และจะซื้อตามความจำเป็นหรือมีความต้องการ แล้วค้นหาผ่านเว็บหรือผ่านเว็บเครื่องมือสืบค้น google (กูเกิล) พอเจอตัวเลือกก็เปรียบเทียบสินค้าและผู้ขายที่มีความเหมาะสมที่สุด ไม่ใช่จะไปรับประทานอาหารในห้างฯ เผอิญเดินผ่านแผนกเสื้อผ้า แล้วก็ได้เสื้อกางเกงมาอีกอย่างละตัว

คนที่มีรับรู้ถึงโอกาสการทำธุรกิจ ค้าขายผ่านระบบออนไลน์จำนวนไม่น้อยที่สนใจ อยากเริ่มต้น ปัญหาอยู่ที่ว่าไม่รู้จะนับหนึ่งตรงไหน หรือมีข้อควรระวังอย่างไร ทรงยศ ถอดประสบการณ์ ประมวลเป็นคำแนะนำไว้ 8 ประการ คือ 1. มีความเชื่อว่าจะประสบความสำเร็จได้ 2. รักและชอบในสิ่งที่จะทำเป็นการ ค้าออนไลน์ เพราะเมื่อชอบก็จะมีความสุขและถนัด ไม่ค้าขายเพียงเห็นว่าคนอื่นขายดี 3. เรียนรู้การทำการตลาดออนไลน์ด้วยตนเอง โดยเฉพาะในตอนเริ่มต้นธุรกิจ เพราะเป็นหัวใจของความสำเร็จ 4. เริ่มทำจากกิจการเล็ก ๆ ไม่ควรทำใหญ่เกินตัวตอนเริ่ม เพราะจะใช้เวลาและต้นทุนมากเกินไป 5. ทำไปเรียนรู้ไป 6. ควรลองเป็นผู้ซื้อออนไลน์ เพราะหากยังไม่กล้าซื้อผ่านออนไลน์ เราจะไม่มั่นใจกับการเป็นผู้ขายออนไลน์ 7. เรียนรู้อย่างสม่ำเสมอ เพราะรูปแบบการค้าออนไลน์พัฒนาอยู่ตลอดเวลา เช่นเมื่อก่อนจะใช้การส่งอีเมลโฆษณา แต่ปัจจุบันอาจผิดกฎหมาย หากทำไม่ถูกวิธี การจดทะเบียนการค้า การชำระเงิน และอื่น ๆ 8. คิดแล้วลงมือทำ เพราะการทำช้า ๆ อาจได้พร้าเป็นสนิม

สิ่งที่ผู้ประกอบการ หรือผู้สนใจการค้าขายผ่านทางอินเทอร์เน็ต ไม่ควรมองข้าม ก็คือในโลกการค้า มีทั้งผู้ประสบความสำเร็จ และคนที่ก้าวพลาด กรณีนี้ ทรงยศ บอกว่าตัวอย่างของคนที่เผชิญปัญหาจนไม่สามารถผ่านช่องประตูความสำเร็จไปได้ มีไม่น้อย ซึ่งสรุปได้ว่ามาจากเหตุ 6 ประการ คือ

1. เจ้าของขาดความรู้ที่ถูกต้อง เพราะจ้างคนที่ไม่ใช่มืออาชีพทำเว็บไซต์และทำการตลาด
2. สินค้าและบริการไม่เหมาะสมที่จะมาขายผ่านออนไลน์
3. ไม่ได้วิเคราะห์คู่แข่งให้ดีพอ
4. ทำเว็บดูไม่น่าเชื่อถือ
5. ประชาสัมพันธ์น้อยเกินไป หรือไม่ ถูกวิธี
6. ทำไม่ต่อเนื่องและนานพอ

จากการติดตาม นักการค้าผ่านระบบออนไลน์ เฉพาะกลุ่มที่เป็นเอสเอ็มอี หรือผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม โดยเฉพาะที่เข้าตลาดใหม่ ๆ หลายรายได้เกิดเพราะเริ่มต้นจากการใช้เวลาว่าง ศึกษา หาสินค้ามาจำหน่าย ส่วนใหญ่ทำด้วยความรัก และไม่ได้มีความรู้ทางด้านเทคนิคมากมาย แต่มอบความไว้วางใจกับบริการเว็บสำเร็จรูป โดยไม่ละเลยการฝึกอบรมความรู้ด้านการตลาดอย่างต่อเนื่อง

ปัจจุบันแหล่งเรียนรู้สำหรับการค้า ออนไลน์ ตั้งแต่การเลือกบริษัทจัดทำเว็บไซต์ จะค้าขายกับใคร ส่งเสริมการขายวิธีไหน จะลงทุนโฆษณาควรทำอย่างไร ก็สามารถแสวงหาความรู้ได้ทางอินเทอร์เน็ต

หลายคนสร้างโอกาสให้ตนเอง และชุมชน ผลิตสินค้าใหม่ขึ้นมาจากที่ไม่เคยมีในท้องถิ่น ทั้งมีอีกไม่น้อยที่ฟื้นธุรกิจครอบครัว ที่กำลังมีปัญหา ให้กลับมาเติบใหญ่ได้อย่าง รวดเร็ว

บางคนกลายเป็นนักธุรกิจรายได้สูงลิ่วทั้ง ๆ ที่เพิ่งเรียนจบเพียงแค่ไม่กี่เดือน

อย่างไรก็ดี การค้าออนไลน์ กับการค้าในตลาดแท้จริงที่สัมผัสได้ มีความเหมือนประการหนึ่ง ก็คือ ต้องเผชิญอุปสรรคนานัป การ เล่ห์กลทางการค้า การลอกเลียน หรือการ ฉ้อโกง

ซึ่งต้องระวัง ทั้งผู้ซื้อและผู้ขาย แต่ ก็ไม่ได้ยากเกินกว่าการตรวจสอบ และป้องกัน

ปัจจุบัน กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ มีระบบการจดทะเบียนผู้ประกอบการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งเว็บไซต์ค้าขายนำเอาเลขทะเบียนขึ้นแสดงไว้ได้ เพื่อให้ผู้ซื้อมั่นใจว่ามีตัวตน โดยผู้บริโภคที่จะซื้อสินค้า ก็สามารถตรวจสอบชื่อผู้ประกอบการได้จาก e-Directory (อี ไดเร็กตอรี่) ของผู้ประกอบการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ ที่ www.dbd.go.th ปัจจุบัน กรมฯยังจัดทำ "เครื่องหมายรับรอง" หรือ Trustmark (ทรัสต์มาร์ก) ซึ่งเป็นเครื่องหมายรับรองความน่าเชื่อถือในการประกอบธุรกิจพาณิชย์ อิเล็กทรอนิกส์ ให้กับเว็บไซต์ ที่ผ่านการตรวจสอบความน่าเชื่อถือแล้ว โดยบริษัทที่อยู่ในข่ายขอมีเครื่องหมายรับรองได้ จะต้องเป็นนิติบุคคล ที่จดทะเบียนพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์มาแล้วไม่น้อยกว่า 6 เดือน และเป็นเจ้าของชื่อโดเมนนั้น ทั้งต้องมีคุณ สมบัติตรงตามหลักเกณฑ์ข้อบังคับการขอใช้เครื่องหมายรับรองฯ

นอกจากนี้ ยังจัดตั้งศูนย์จัดการข้อร้องเรียนด้านพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ โดยร่วมกับหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน 10 หน่วยงาน ประกอบด้วย กรมทรัพย์สินทางปัญญา, กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร กรมการปกครอง, สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค, สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา, สำนักงานตำรวจแห่งชาติ, สำนักระงับข้อพิพาท สำนักงานศาลยุติธรรม, สมาคมธนาคารไทย, บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) และสมาคมผู้ดูแลเว็บไทย เพื่อรับเรื่องร้องเรียนจากการไม่ได้รับความเป็นธรรม ในการซื้อขายสินค้า และบริการผ่านทางอินเทอร์เน็ต

กรณีมีปัญหาหรือสงสัยต่อธุรกิจ หรือบริการ ก็สามารถร้องเรียนผ่านทางเว็บไซต์ www.dbd.go.th/complain/index.html หรือสามารถคลิกผ่านแบนเนอร์ บนเว็บไซต์หน่วยงานพันธมิตรทั้ง 10 หน่วยงานดัง กล่าวได้

วิกฤติทุกครั้ง ได้สร้างโอกาสให้กับผู้ประกอบการรายใหม่ หรือมีช่องทางเล็ก ๆ ให้คนที่พลาด หาจังหวะฟื้นตัวเสมอ

ปี 2552 ที่เชื่อกันว่าแย่ ก็อย่าเพิ่งท้อ ขอให้ลองอีกครั้ง กับการค้าขายในโลก ออนไลน์ ที่ใคร ๆ ก็เริ่มต้นได้.
 
วีระพันธ์ โตมีบุญ
VeeraphanT@Gmail.com
 
http://www.dailynews.co.th/web/html/popup_news/Default.aspx?Newsid=186783&NewsType=1&Template=1


Hotmail® has a new way to see what's up with your friends. Check it out.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

ผู้ติดตาม

คลังบทความของบล็อก

เกี่ยวกับฉัน

รูปภาพของฉัน
ต้องรู้เท่าทันในการรับรู้ข่าวสารจากทุกแหล่งข่าว/ FACT - Freedom Against Censorship Thailand กลุ่มเสรีภาพต่อต้านการเซ็นเซอร์แห่งประเทศไทย http://facthai.wordpress.com/