วันศุกร์ที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2552

ประกันแห่โยกเงินเทรดบอนด์ยาว พักยกถือตราสารหนี้ระยะสั้นหลังยีลด์ต่ำกว่าฝาก

 
วันที่ 30 เมษายน พ.ศ. 2552 ปีที่ 32 ฉบับที่ 4101

ประกันแห่โยกเงินเทรดบอนด์ยาว พักยกถือตราสารหนี้ระยะสั้นหลังยีลด์ต่ำกว่าฝาก


กลุ่มประกัน-สถาบันพักยกลงทุนตราสารหนี้ระยะสั้น โยกเงินเข้าซื้อบอนด์อายุยาวขึ้นฉุดยีลด์ร่วง แบงก์ชาติโดดเข้าดูแลตลาด สมาคมตราสารหนี้ชี้ยังไม่ใช่เทรนด์ เชื่อรัฐบาลยังต้องออกพันธบัตรอีกจำนวนมาก หนุนยีลด์เด้งกลับ มองมุมบวกของไทยถูกลดเครดิตเรตติ้ง ช่วยดึงเอกชนกู้ในประเทศเพิ่มขึ้น แถมต้นทุนต่ำกว่ากู้ในต่างประเทศ โดยเฉพาะบริษัทใหญ่แห่ออกหุ้นกู้ขายรายย่อย



ผู้สื่อข่าวรายงานความเคลื่อนไหวตลาดตราสารหนี้ในสัปดาห์ที่ผ่านมา (20-24 เม.ย.) ว่า ยอดซื้อขายรวมเพิ่มขึ้นถึง 124.66% จากสัปดาห์ก่อนหน้า โดยธุรกรรมการซื้อขายขาด (outright) เพิ่มขึ้น 101.26% ธุรกรรมการกู้ยืม (financing) เพิ่มขึ้น 128.22% แต่การซื้อขายอื่นๆ (other) ลดลง 12.14% ขณะที่อัตราผลตอบแทนโดยรวมปรับลดลงมากโดยเฉพาะกลุ่มระยะกลางถึงระยะยาว นำโดยพันธบัตรอายุ 3 ปี ลดลง 0.03% อายุ 5, 7 และ 10 ปี ลดลง 0.19%, 0.26% และ 0.28% ตามลำดับ ส่วนกลุ่มที่อายุมากกว่า 10 ปี ปรับตัวลดลง 22-28%

นางสาวอริยา ติรณะประกิจ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการสมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย เปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า ก่อนหน้านี้นักลงทุนกลุ่มประกันและสถาบันแทบจะไม่ลงทุนในตราสารหนี้ที่อายุมากกว่า 3 ปี แต่ตอนนี้ผลตอบแทนตราสารระยะสั้นบางตัวต่ำกว่าดอกเบี้ยเงินฝาก จึงทำให้นักลงทุนกลุ่มนี้กล้าย้ายเข้ามาลงทุนในพันธบัตรระยะกลางและระยะยาวมากขึ้น หลังจากที่ชะลอดูตลาดมานาน ทำให้การซื้อขายในตลาดค่อนข้างคึกคักเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา



"สัปดาห์ที่ผ่านมามีการประมูลพันธบัตรรัฐบาลอายุ 5 ปี ปรากฏว่ามีผู้เข้าร่วมประมูลมากเกินคาด เช่น กลุ่มประกันชีวิต และสถาบันที่ก่อนหน้านี้แทบไม่เข้ามาเล่นในกลุ่มระยะกลางถึงระยะยาว แต่ตอนนี้ผลตอบแทนระยะสั้นลดลงไปมากจนถึงระดับที่พันธบัตรระยะกลางและระยะยาวเริ่มมีความน่าสนใจ" นางสาวอริยากล่าว

ส่วนประเด็นสำคัญที่ทำให้อัตราผลตอบแทนลดลง คือ สัปดาห์ที่ผ่านมา ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้เข้าซื้อพันธบัตรอายุ 6-7 ปี ซึ่งคาดว่า ธปท. ต้องการดูแลพันธบัตร ระยะกลางและระยะยาวไม่ให้มีสภาพคล่องน้อย ทำให้เส้นอัตราผลตอบแทน (yield curve) ชันมาก เห็นได้จากอัตราผลตอบแทนพันธบัตรอายุ 2 ปี และ 10 ปีต่างกันถึง 2.30% เทียบกับส่วนต่างในตลาดสหรัฐที่อายุเดียวกันแตกต่างกันเพียง 2%

"บอนด์ของทุกประเทศมี yield curve ชันเหมือนกันหมด เพราะดอกเบี้ยนโยบายลดลงเหมือนกันและซัพพลายของตราสารหนี้ก็ออกมามาก แต่ในประเทศไทยถือว่า ชันผิดปกติ จึงคาดว่าแบงก์ชาติที่นานๆ จะเข้ามาเล่นในตลาดเพื่อดูแลไม่ให้สภาพคล่องในกลุ่มระยะกลางและระยะยาวน้อยเกินไป ซึ่งตอนนี้ก็ดีขึ้นแล้วจากแต่เดิมที่อายุยาวกว่า 3 ปีก็แทบไม่มีใครอยากซื้อ"

นางสาวอริยากล่าวว่า แม้ว่าผลตอบแทนจะลดลงในช่วงนี้ แต่ไม่ใช่ทิศทางที่เกิดขึ้นนานต่อเนื่อง เพราะในระยะยาวยังมีความต้องการกู้จากภาครัฐจำนวนมาก และถ้ากระทรวงการคลังจะพยายามหลีกเลี่ยงการออกพันธบัตรระยะยาวจนกระทบตลาด แต่ในแง่กรอบการบริหารหนี้คงหลีกเลี่ยง ไม่พ้นที่จะต้องออกพันธบัตรระยะยาว ซึ่งการที่ซัพพลายมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น แสดงให้เห็นว่าอัตราผลตอบแทนจะต้องเพิ่มขึ้นด้วยเช่นกัน และ yield curve จะยังชันต่อไปโดยเฉพาะหากมีการลดดอกเบี้ยนโยบาย ลงอีก แต่ในจังหวะที่อัตราผลตอบแทนระยะกลางและระยะยาวสูงขึ้น น่าจะมีการเข้าดูแลของ ธปท. และการเข้าซื้อของนักลงทุนสถาบัน ซึ่งช่วยกดไม่ให้สูงมาก เกินไป

ส่วนกรณีที่สถาบันจัดอันดับความน่า เชื่อถือบางแห่งที่ลดเรตติ้งของประเทศ นางสาวอริยามองว่า เป็นการส่งผลบวกต่อตลาดตราสารหนี้โดยเฉพาะบริษัทขนาดใหญ่หลายแห่งต่างหันเข้ามากู้ในประเทศแทนกู้ต่างประเทศที่จะมีต้นทุนสูง ขณะเดียวกันในประเทศก็มีสภาพคล่องและความต้องการอยู่ในระดับสูง โดยเฉพาะกลุ่มนักลงทุนรายย่อยที่ต้องการหาผลตอบ แทนที่ดีกว่าเงินฝาก ซึ่งจะเห็นบริษัทขนาดใหญ่เน้นขายหุ้นกู้รายย่อยมากขึ้น เพราะโดยเฉลี่ยจ่ายส่วนต่างที่บวกเพิ่มจากดอกเบี้ยอ้างอิง (credit spread) เพียง 1.6-1.7% เท่านั้น เทียบกับการขายให้กับกลุ่มสถาบันที่จะเรียกส่วนเพิ่มมากกว่านี้

หน้า 15
http://www.matichon.co.th/prachachat/prachachat_detail.php?s_tag=02fin01300452&day=2009-04-30&sectionid=0206
 


Rediscover Hotmail®: Now available on your iPhone or BlackBerry Check it out.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

ผู้ติดตาม

คลังบทความของบล็อก

เกี่ยวกับฉัน

รูปภาพของฉัน
ต้องรู้เท่าทันในการรับรู้ข่าวสารจากทุกแหล่งข่าว/ FACT - Freedom Against Censorship Thailand กลุ่มเสรีภาพต่อต้านการเซ็นเซอร์แห่งประเทศไทย http://facthai.wordpress.com/