วันศุกร์ที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2552

กรมการปกครองภูมิใจเสนอ ของดี "เลิงนกทา"

วันที่ 02 พฤษภาคม พ.ศ. 2552 ปีที่ 32 ฉบับที่ 11375 มติชนรายวัน


กรมการปกครองภูมิใจเสนอ ของดี "เลิงนกทา"


คอลัมน์ "ทางเลือกทางรอด"

โดย ภาวิณีย์ เจริญยิ่ง




นกเงือกแขวนสีสันสวยสด

คุณวีระวัฒน์ วงศ์ว่องไว (แถวหน้าซ้ายมือ) ถ่ายภาพร่วมกับกลุ่มอาชีพต่างๆที่บ้าน "ห้องแซง"

ปลายสัปดาห์ก่อนกรมการปกครองชวนให้ไปทำข่าวที่ จ.ยโสธร ในหัวข้อ "บทบาทนายอำเภอกับการทำงานบูรณาการที่ถิ่นภูไทและหมู่บ้านต้นแบบ ในการสร้างความสมานฉันท์และความสามัคคี" งานนี้ถือว่านายอำเภอเลิงนกทา คุณวีระวัฒน์ วงศ์ว่องไว เป็นพระเอก เพราะจุดประสงค์ของการมาดูงานของสื่อมวลชนครั้งนี้ เพื่อต้องการให้ผู้คนในสังคมได้รู้ว่ายุคนี้นายอำเภอเขาทำงานเชิงรุกกันไปถึงไหนแล้ว ที่สำคัญการทำงานด้านปกครองต้องควบคู่ไปกับการบริหารจัดการที่จะทำให้ชาวบ้านอยู่ดีมีสุข รวมถึงให้ประชาชนทั้งหลายมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง โดยให้ทุกภาคส่วนในสังคมมีโอกาสประชุมปรึกษาหารือร่วมกัน อันจะก่อให้เกิดความสมานฉันท์อย่างเป็นรูปธรรมแท้จริง ซึ่งนี่ก็คือรูปแบบของการปกครองในระบอบประชาธิปไตย

คุณวีระวัฒน์บอกว่า ในการทำงานนั้นใช้หลัก คือ ร่วมคิด ร่วมทำ ร่วมแก้ไขปัญหา และร่วมติดตามประเมินผล โดยจะเชิญผู้เกี่ยวข้องมาร่วมปรึกษาหารือกัน ทั้งส่วนราชการ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ภาคประชาสังคม และภาคประชาชน ซึ่งในแต่ละเดือนจะเวียนไปประชุมในระดับตำบลถึง 10 ครั้ง ผู้ร่วมประชุมมีทั้งกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน นายก อบต. สมาชิก อบต. นายกเทศมนตรี ข้าราชการส่วนที่เกี่ยวข้องและผู้บริหารสถานศึกษา ทำให้เกิดความปรองดองสมาคัคคีและร่วมกันทำร่วมกันรับผิดชอบ เมื่อทำอย่างต่อเนื่องเป็นปีที่ 4 แล้วปรากฏว่าความขัดแย้งต่างๆ แทบจะไม่เกิดขึ้นจนนำไปสู่การพัฒนาอาชีพและแก้ไขปัญหาต่างๆ

สิ่งหนึ่งที่คุณวีระวัฒน์ให้ความสำคัญคือ เรื่องอาชีพ เพราะเห็นชัดเจนว่าอาชีพทำนาของเกษตรกรส่วนใหญ่ล้วนขาดทุน จึงระดมความคิดเห็นและได้ผลสรุปร่วมกันว่า จะต้องใช้วิธีลงแขกเหมือนสมัยโบราณทั้งลงแขกดำนา และลงแขกนวดข้าว อีกอย่างเพื่อจะลดค่าใช้จ่ายคือ ทำปุ๋ยใช้เอง นอกจากนี้ต้องแก้ปัญหาเรื่องน้ำขาดแคลน วิธีหนึ่งคือ ขุดสระไว้ในนาข้าว และเมื่อหลังเลิกทำนาก็ควรทำอาชีพรอง จึงได้จัดตั้งกลุ่มอาชีพต่างๆ รองรับ เพื่อให้ชาวบ้านมีรายได้เพิ่มขึ้น

ผ้าฝ้ายทอมือบ้านห้องแซงตัดเป็นชุดสวยอย่าบอกใคร

กลุ่มอาชีพบ้านหวายมอบผลิตภัณฑ์ชุมชนให้กับ "คุณวงศ์ศักดิ์ สวัสดิ์พาณิชย์"

ยายกอง อำพนพงษ์ (คนที่สองจากขวา) ฝีมือทอเสื่อกกยอดเยี่ยม



ว่าไปแล้วการทำให้ชาวบ้านในพื้นที่นี้สามัคคีปรองดองกันก็ไม่ใช่เรื่องง่ายๆ เพราะเป็นที่ทราบกันดีว่า ที่นี่เคยเป็นพื้นที่สีเแดงมาก่อน แต่ในเมื่อนายอำเภอวีระวัฒน์ใช้หลักดังกล่าวทำงาน จึงได้รับความร่วมมือร่วมใจจากฝ่ายต่างๆ จนได้รับการยกย่อง

ช่วง 2 วันที่ไปดูงานนั้น วันแรกไปศูนย์พัฒนาอาชีพทอผ้าพื้นเมืองภูไทและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ ต.ห้องแซง ซึ่งมีชาวบ้านกลุ่มอาชีพต่างๆ มาขายมาโชว์สินค้าให้ชม อย่างเช่น กลุ่มเย็บผ้าที่มี คุณเปรมสุรางค์ วรสันต์ เป็นประธาน(โทร.08-6807-4659) มีสมาชิก 7 คน โดยนำเศษผ้าที่สั่งซื้อมาจากโรงงานแถวสมุทรปราการมาช่วยกันเย็บเป็นผ้าห่ม ซื้อมากิโลกรัมละ 30 บาท ผืนหนึ่งใช้ผ้าประมาณ 7 ขีด พอตัดเย็บเสร็จ ขายปลีกผืนละ 100 บาท ถ้าขายส่งตกผืนละ 70-80 บาท มีลูกค้ามารับซื้อไปขายต่อที่พัทยา เดือนหนึ่งๆ ทางกลุ่มมีรายได้รวมกัน 5,000 บาท

ส่วนกลุ่มทอผ้าฝ้ายของ ป้าจันทร์ เจริญตา มีสมาชิกถึง 40 คน กลุ่มนี้ทอทั้งผ้าห่มไหมพรม ขายราคาผืนละ 200 บาท และผ้าห่มฝ้าย ผืนละ 170 บาท นอกจากนี้ยังทอผ้าขาวม้า และผ้าซิ่นมัดหมี่อีกด้วย โดยใช้เวลาว่างหลังจากทำนาเสร็จ สมาชิกมีรายได้ต่อเดือนคนละ 3-4,000 บาท

ที่บ้านห้องแซง ซึ่งมีคำขวัญประจำหมู่บ้านว่า "ข้าวหอมมะลิขาวสวย ห้วยลิงโจนน้ำใส ถิ่นฐานไกลเมืองพิล หินสามก้อนค่าลำ วัฒนธรรมภูไท" ยังมีจุดเด่นตรงที่ชาวบ้านได้ร่วมกันตั้งวิสาหกิจชุมชนปุ๋ยอินทรีย์บรรจุกระสอบห้องแซง มี ลุงลัง โชติช่วง เป็นประธานกลุ่ม ทำให้เกษตรกรหันมาใช้ปุ๋ยอินทรีย์แทนปุ๋ยเคมี ช่วยลดรายจ่าย ส่งผลให้พวกเขามีรายได้เพิ่มขึ้น อีกทั้งยังเป็นการนำวัตถุดิบในท้องถิ่นมาใช้ให้เกิดประโยชน์ อย่างเช่นขี้วัวขี้ควาย

สมาชิกกลุ่มลวดหนาม

สาวน้อยสาวใหญ่บ้านห้องแซงทอผ้ากันเป็นทั้งนั้น

นี่แหละผ้าฝีมือชาวห้องแซง



อีกวันพวกเรายกขบวนไปกันที่บ้านหวาย ต.สามัคคี ที่ได้รับเลือกให้เป็นหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียงต้นแบบ ซึ่งที่นี่ท่านอธิบดีกรมการปกครอง คุณวงศ์ศักดิ์ สวัสดิ์พาณิชย์

เดินทางมามอบนโยบายต่างๆ ให้ผู้ใต้บังคับบัญชา พร้อมกับเยี่ยมชมผลิตภัณฑ์ชุมชนที่มีค่อนข้างหลากหลาย ทำเอาผู้สื่อข่าวหลายคนกระเป๋าแฟบไปตามๆ กัน เพราะเลือกซื้อกันสนุก เนื่องจากกลุ่มอาชีพต่างๆ นำสินค้ามาโชว์ด้วย

คุณวงศ์ศักดิ์เอ่ยปากชมนายอำเภอวีระวัฒน์ให้นักข่าวฟังว่า นายอำเภอเป็นคนมีผลงาน เข้า ถึงประชาชน สร้างงานสร้างอาชีพให้ชาวบ้าน

นอกจากนี้ ยังได้ชื่นชมผลงานการประดิษฐ์ นกกระทาที่มี ลุงสีตาล แสนอุบล (โทร.08-5774-2844) เป็นประธานกลุ่ม ซึ่งเป็นของ ที่ระลึกที่หลายคนชอบใจ โดยเฉพาะนกเงือก สีสันสวยสด นักข่าวบางคนถึงกับซื้อมา 2 ตัว

ลุงสีตาลบอกว่า ใช้ไม้ต้นนุ่นทำเพราะหาได้ง่าย เกือบทุกบ้านจะมีต้นนุ่น ต้นงิ้ว ชาวบ้านให้ไปตัดหรือบางทีต้นแก่ก็ล้มเอง อายุแค่ 2-3 ปีก็ใช้ได้แล้ว ต้นนุ่นดีตรงที่น้ำหนักเบาและแกะสลักง่าย สามารถทำนกได้ทุกชนิด ไม่ว่าจะเป็นนกเงือก นกกระทา นกแก้ว เหยี่ยว แต่ใน อ.เลิงนกทา นกกระทาจะขายดี ปกติส่งตัวละ 140 บาท ขายปลีก 199 บาท หรือมากกว่านั้น บางที่ขาย 300 บาท ที่ผ่านมาไม่ได้ไปขายที่ไหนเพราะมีคนมาสั่งซื้อ ในช่วงวันหยุดหรือปิดเทอมจะมีเด็กนักเรียนมารับจ้างทาสี-ขัดด้วย และช่วงเปิดเทอมทางโรงเรียนนาจานเจริญวิทย์จะให้ไปเป็นวิทยากรสอนเด็กในเรื่องการประดิษฐ์นก

ในช่วงอาหารมื้อกลางวันพวกเราได้หม่ำปลาดุกเส้นแดดเดียว รสชาติอร่อยดี ยิ่งกินกับข้าวเหนียวด้วยแล้ว ต้องซื้อกลับไปทานที่กรุงเทพฯเลยแหละ คุณพิจิตร สามารถ (08-9847-8313) ประธานกลุ่ม ยิ้มเมื่อถูกชม เธอว่า ทำเมื่อปี "46 โดยใช้ปลาดุกที่ชาวบ้านเลี้ยงเองในบ่อ หลังจากทุบหัวแล้วก็นำมาแล่เนื้อ หั่นตามยาว หมักเข้ากับเครื่องที่มีส่วนผสมของซีอิ๊วขาว น้ำตาลปี๊บ ขมิ้นชัน และรสดี ค้างไว้ สัก 1 คืน จากนั้นนำไปอบแห้ง แล้วนำไปทอด ขายกิโลกรัมละ 300 บาท ถ้าเป็นก้างขายกิโลกรัมละ 200 บาท ทุกวันนี้ไม่ได้ไปส่งขายที่ไหนเพราะเดือนหนึ่งผลิตได้ 40 กิโลกรัม แค่ขายคนในหมู่บ้านใน อ.เลิงนกทา ก็ไม่พอแล้ว

อีกกลุ่มหนึ่งที่หลายคนชอบอกชอบใจคือ กลุ่มทอเสื่อกก ที่มี ยายกอง อำพนพงษ์ เป็นประธาน (โทร.08-4982-9279) แม้ว่ายายจะอายุ 70 ปีแล้ว แต่ยังทอเสื่อกกเอง และเป็นคนที่สอน สมาชิก คนในหมู่บ้านนี้รู้กันดีว่า ยายกองเป็นคนมีพรสวรรค์ มีความสามารถในหลายๆ ด้าน โดยเฉพาะการทอผ้าและการทอเสื่อกก เป็นคนคิดลายขึ้นเอง ด้วยการนำลายต่างๆ จากหมอนขิดมาประยุกต์ในการทอเสื่อกก ซึ่งหมู่บ้านนี้ใช้กกที่ ปลูกกันในหมู่บ้านมาทอ จุดเด่นคือใช้กกเส้นเล็กทำให้มีความละเอียด มีลวดลาย และสีสันสวยสด ขายผืนละ 300 บาท เป็นแบบเสื่อพับได้ สะดวกต่อการเก็บรักษา

อาชีพที่ทำเงินให้กับชาวบ้านที่นี่อีกอย่างคือ การทำลวดหนาม กลุ่มนี้มี นายสุนี พรทิพย์ (โทร.08-7441-9903) เป็นประธาน เพิ่งเริ่มทำเมื่อปีที่แล้ว ขายอยู่ในพื้นที่และใน จ.ยโสธร โดยไปซื้อลวดเป็นมัดๆ มาจากร้านค้าขดละ 50 กิโลกรัม ราคา 2,000 บาท ไม่ต้องใช้เครื่องมืออะไรมาก แค่คีมหมุนและมอเตอร์ ถ้ามีคนมา สั่งถึงจะทำให้ บางเดือนมีคนมาสั่ง 30-40 ม้วน ม้วนหนึ่งยาว 40 เมตร ราคา 250 บาท แต่ถ้าไปซื้อลวดหนามในร้านค้าขายม้วนละ 280-290 บาท

นอกจากจะมีกลุ่มอาชีพต่างๆที่กล่าวมาแล้ว ทั้งสองหมู่บ้านยังมีโฮมสเตย์ให้พักด้วย ในราคาไม่แพง ราคาต่อหัวหลักร้อยบาทขึ้นไป ถ้าไปสองหมู่บ้านนี้รับรองไม่ผิดหวัง เพราะจะได้สัมผัสกับวัฒนธรรมของชาว "ภูไท" ที่สำคัญยังจะได้ช็อปปิ้งสินค้าแฮนด์เมดกลับไปด้วย

หน้า 23

http://www.matichon.co.th/matichon/view_news.php?newsid=01cho01020552&sectionid=0144&day=2009-05-02

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

ผู้ติดตาม

คลังบทความของบล็อก

เกี่ยวกับฉัน

รูปภาพของฉัน
ต้องรู้เท่าทันในการรับรู้ข่าวสารจากทุกแหล่งข่าว/ FACT - Freedom Against Censorship Thailand กลุ่มเสรีภาพต่อต้านการเซ็นเซอร์แห่งประเทศไทย http://facthai.wordpress.com/