วันเสาร์ที่ 23 พฤษภาคม พ.ศ. 2552

บัณฑูร เปิดคาถา สอนเถ้าแก่ยามฟ้าถล่ม

รายงานโดย :เบญจมาศ เลิศไพบูลย์:
วันจันทร์ที่ 18 พฤษภาคม พ.ศ. 2552
เมื่อปัญหาชีวิตถาโถมเข้ามา เราจะใช้สติตั้งรับเพื่อพยุงกำลังใจให้ลุกขึ้นต่อสู้กับปัญหาอย่างไร

บัณฑูร ล่ำซำ
นี่ไม่ใช่หัวข้อในการปาฐกถาเปิดโครงการอบรม "เค เอสเอ็มอี แคร์ รุ่นที่ 9" ของธนาคารกสิกรไทย แต่เป็นเสี้ยวส่วนสำคัญในการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ชีวิตของ "บัณฑูร ล่ำซำ" ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารกสิกรไทย ซึ่งน่าสนใจตั้งแต่ประโยคแรก
เจ้าสัวบัณฑูร นำบทเรียนและวิธีคิดมาบอกต่อไปยังผู้ประกอบการที่มีเลือดความเป็นนักสู้ หากช่วงจังหวะหนึ่งของชีวิตเกิดวิกฤต "ฟ้าถล่ม" มีแต่ข่าวร้าย ไม่เคยเห็นข่าวดี คาถาที่จะช่วยผ่อนหนักเป็นเบาให้ใช้วิธี "นำปัญหาใหญ่หั่นให้เป็นชิ้นเล็ก" เพราะปัญหาใหญ่ไม่สามารถแก้ไขได้ภายในวันเดียว
"ยิ่งปัญหาใหญ่ วิธีแก้ยิ่งยาก ใช้วิธีหั่นให้เป็นชิ้นเล็กๆ แล้วพิจารณาว่าองค์ประกอบของปัญหานั้นคืออะไร ไม่ใช่เอาแต่ตีอก ชกหัว" บัณฑูร กล่าว

ที่ผ่านมาธนาคารกสิกรไทยก็เคยก้าวข้ามวันที่ฟ้าถล่มในช่วงปี 2539 ซึ่งเป็นช่วงที่สถาบันการเงินทั้งประเทศล้มทั้งระบบ ช่วงขณะนั้นไม่มีอะไรจะเลวร้ายไปกว่าการประกาศขาดทุน 3 หมื่นล้านบาท ฝ่ายบริหารจึงต้องจัดลำดับขั้นสิ่งที่ต้องทำก่อนและหลัง ซึ่งพบว่าสิ่งที่ต้องทำคือ บริหารหนี้เสียไม่ให้เลวร้ายลง จากนั้นเตรียมตัวเพิ่มทุน

บัณฑูร เชื่อว่า ชีวิตมีขึ้นมีลง แต่ระหว่างทางของชีวิตที่ขึ้นและลง ควรใช้สติในการแยกปัญหา ที่สำคัญทุกคนควรรักษาความสมดุลของชีวิต อย่าปล่อยให้ร่างกายเครียดจนล้มลง ให้คิดว่าชีวิตคนเหมือนเรือใบ บางจังหวะลู่ลม บางจังหวะขวางลม ไม่ทำให้ตึงหรือหย่อนเกินไป

ยังมียาดีดับอาการมืดแปดด้าน ท่องเป็นคาถากันภัยสำหรับการทำธุรกิจ อย่างแรก ผู้ประกอบการต้องรู้จักควบคุมค่าใช้จ่าย แต่การลดค่าใช้จ่ายไม่ใช่การลดจำนวนพนักงาน เพราะการลดจำนวนคนเป็นโศกนาฏกรรมอย่างหนึ่ง ให้ดูตัวอย่างบริษัทในญี่ปุ่นที่ให้ผลตอบแทนพนักงานสูง ไม่เคยกดค่าแรง เพื่อแลกกับความสามารถในการคิดค้นสิ่งที่คุ้มค่าซึ่งได้มากกว่าค่าแรง เป็นการใช้แรงงานอย่างมีประสิทธิผล เพราะความหมายของเงิน 1 บาทในค่าแรง สามารถสร้างสิ่งที่มีคุณค่ากลับมาให้องค์กร

ต่อมาผู้ประกอบการต้องรู้จักตลาดใหม่ อย่างประเทศในตะวันออกกลางก็เป็นประเทศที่มีกำลังซื้อ และสุดท้ายให้คิดข้ามช็อต เถ้าแก่จะต้องรู้จักมองอนาคต ให้คิดว่าหากธุรกิจฟื้นกลับฉันจะทำอะไร ฉันมีสินค้าอะไรอยู่ในกระเป๋า แม้ขณะนี้สัญญาณการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจะมีไม่มาก แต่เถ้าแก่จะต้องไม่หยุดคิด เพราะระหว่างที่โลกมืดก็ต้องมีคราวที่ความสว่างกลับคืนมา

บัณฑูร บอกว่า มีคำคำหนึ่งที่เถ้าแก่ต้องพึงระลึกไว้เสมอคือ เป็นเถ้าแก่จะหยุดคิด ไม่ได้ เถ้าแก่จะเป็นคนแรกขององค์กรที่คิดสินค้า หากหยุดคิดเมื่อใดก็จะมีคู่แข่งแย่งลูกค้าทันที

"การบริหารชีวิตของเถ้าแก่แต่ละวันคือ การตีกรอบโจทย์เพื่อสื่อความไปยังผู้จัดการ เพื่อให้ผู้จัดการตื่นเช้าขึ้นมาจับประเด็นสำคัญๆ นั่นคือการสร้างยุทธศาสตร์ ทำออกมาเป็นกรอบความคิดธุรกิจ จากนั้นผู้จัดการก็จะส่งผ่านไปยังพนักงานให้รู้ว่าบริษัทมีแผนยุทธศาสตร์อย่างไร ผู้จัดการต้องมีวาทศิลป์ ทำให้ทุกคนเข้าร่วม แต่สิ่งสำคัญคือ เถ้าแก่จะต้องคิดให้ชัดเจน ถ้าคิดไม่ชัดเจนก็จะนำไปสู่การทำสะเปะสะปะ" บัณฑูร กล่าว

บัณฑูร ยกตัวอย่างธุรกิจการเงินว่า ปัจจุบันมีการแย่งบุคลากรมาก เป็นความน่ากลัวที่เกิดขึ้นยิ่งกว่าการแย่งตัวลูกค้า การกระโดดข้ามองค์กรของธุรกิจการเงินเกิดขึ้นเร็วมาก และคนที่มีความรู้ไม่เพียงจบการศึกษาระดับปริญญา แต่ในทางกลับกันคนเหล่านี้เป็นบุคลากรที่ทำผลงานสำเร็จเป็นชิ้นเป็นอัน ทำให้หาตัวจับยาก และเป็นที่ต้องการของตลาดเมื่อเทียบกับบุคลากรที่ทำงานตามสั่ง คนกลุ่มนี้หาง่าย ยิ่งคนที่มีความรู้หลายด้าน มีองค์ความรู้ที่เกิดขึ้นใหม่ก็ยิ่งต้อง ประคบประหงม และองค์กรต้องรู้จักให้ กำลังใจ ฉะนั้นโจทย์ของเถ้าแก่ในปัจจุบันจึงมีเรื่องทรัพยากรมนุษย์ให้คิดอีกเรื่องหนึ่ง

"การรักษาคนเก่าไม่มีสูตรตายตัว การแย่งคนหรือพัฒนาคนในองค์กรให้มีความรู้จึงเป็นโจทย์อย่างหนึ่ง แต่เมื่อถึงขั้นหนึ่งพวกเขาเหล่านั้นก็อาจพร้อมที่จะย้ายไปอยู่กับบริษัทขนาดใหญ่ขึ้น ฉะนั้นเรื่องผลตอบแทนเป็นสิ่งสำคัญ และสิ่งที่ตามมาคือเรื่องของใจ ถ้าผลตอบแทนดี แต่ใจไม่อยู่ คนเหล่านั้นก็จะย้ายไปที่อื่น หรือหากใจยังอยู่ แต่ผลตอบแทนไม่พอ ใจก็อยู่ไม่ไหว นี่จึงเป็นโจทย์ของเถ้าแก่ที่ต้องรู้จักบริหารมนุษย์ให้มีกำลังใจ" บัณฑูร กล่าว

นอกจากนี้ ยังมีสิ่งที่บัณฑูรชอบย้ำให้กับเถ้าแก่น้อยรุ่นใหม่ได้คิดนั่นคือ โจทย์สำคัญ 2 เรื่อง เรื่องแรก เถ้าแก่ต้องทายความต้องการของตลาดให้ถูก ทั้งสินค้าและบริการ ที่สำคัญกว่านั้นคือ ต้องรู้จักคิดก่อนคนอื่น หากยังอยู่กับสินค้าแบบเดิมก็ต้องเพิ่มศักยภาพของสินค้าเหล่านั้น และควรคิดให้ไกลออกไปอีก 5-10 ปี เพราะมนุษย์มีความต้องการต่อเนื่อง และมีความต้องการที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา

อีกเรื่อง เถ้าแก่ต้องบริหารต้นทุนไม่ให้สูงเกินไป ตัวอย่างมีให้เห็นในบริษัทรถยนต์ของสหรัฐที่ล้วนเป็นบริษัทผู้ยิ่งใหญ่ในระบบทุนนิยม แต่ขณะนี้บริษัทเหล่านั้นเจ๊งหมด และก็ถือว่าสมควรเจ๊ง เพราะมีต้นทุนสูงเมื่อเทียบกับผู้ผลิตสินค้าชนิดเดียวกัน

นี่เป็นเรื่องเล่านอกตำราของติวเตอร์ จากลุ่มน้ำเจ้าพระยา ที่ยกขึ้นมาเพิ่มสติให้กับคนที่ไม่ยอมแพ้
 
http://www.posttoday.com/finance.php?id=47777



Windows Live™: Keep your life in sync. Check it out.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

ผู้ติดตาม

คลังบทความของบล็อก

เกี่ยวกับฉัน

รูปภาพของฉัน
ต้องรู้เท่าทันในการรับรู้ข่าวสารจากทุกแหล่งข่าว/ FACT - Freedom Against Censorship Thailand กลุ่มเสรีภาพต่อต้านการเซ็นเซอร์แห่งประเทศไทย http://facthai.wordpress.com/