วันอังคารที่ 5 พฤษภาคม พ.ศ. 2552

ยิ้มใสๆ ในไวเนอรี่ กับ "นิกกี้-วิสุตา โลหิตนาวี" นักปรุงไวน์หญิงไทยคนแรก

 
วันที่ 04 พฤษภาคม พ.ศ. 2552 ปีที่ 32 ฉบับที่ 4102

ยิ้มใสๆ ในไวเนอรี่ กับ "นิกกี้-วิสุตา โลหิตนาวี" นักปรุงไวน์หญิงไทยคนแรก


คอลัมน์ Exclusive Interview

โดย ณฐกร ขุนทอง


อายุ 21 ปีกับการเป็นไวน์เมกเกอร์หรือนักปรุงไวน์ที่ในเมืองไทยมีคนทำอาชีพนี้อยู่ไม่ถึง 10 คน ดูจะยังละอ่อน แถมจำนวนนั้นไม่มีผู้หญิง !

แต่สำหรับ "นิกกี้-วิสุตา โลหิตนาวี" เธอได้ชื่อว่าเป็นสาวน้อยวัยใส หญิงไทยคนแรกที่ขึ้นทำเนียบไวน์เมกเกอร์ของบ้านเรา

เธอเป็นทายาทของวิสุทธิ์ โลหิตนาวี เจ้าของไร่องุ่นกรานมอนเต้ ในหุบเขาอโศก บริเวณเขาใหญ่ จ.นครราชสีมา ที่ผลิตไวน์คุณภาพดีจนรสชาติถูกปากคนไทยและต่างชาติอย่างยุโรป

ความสามารถของเด็กสาวคนนี้ไม่เพียงทำให้ DLife สนใจ หากการพูดคุยที่เกิดขึ้นยังทำให้ความหวังของประเทศที่ไม่น่าปลูกไวน์อย่างบ้านเราและละแวกใกล้เคียงมีความหวัง

เป็นความหวังที่คนทั้งโลกจะได้ชิมรสชาติใหม่ ไม่ใช่สไตล์โลกเก่า ไม่ใช่สไตล์โลกใหม่ แต่เป็นไวน์ "นิวละติจูด" !

"นิกกี้เป็นคนชอบต้นไม้ จนกระทั่งมาเริ่มไร่องุ่นก็ชอบเพราะเป็นองุ่นก็ต้นไม้ (หัวเราะ) พอไปเรียนต่อที่ออสเตรเลีย คิดอยู่แล้วว่าจะเรียนด้านปลูกองุ่นหรือทำไวน์ ก็เลยเรียนทั้งสองอย่างเลย (ยิ้ม) สมัยนี้เทคโนโลยีเกี่ยวกับทำไวน์เยอะมาก การทำไวน์ไม่ต้องใช้กำลังเหมือนสมัยก่อนที่ต้องคอยแบกถังโอ๊ก นับเป็นอาชีพที่ผู้หญิงก็สามารถทำได้แล้ว"

ปัจจุบันเธอบอกว่า ในแวดวงนักปรุงไวน์มีผู้หญิงเข้าไปทำงานตรงนี้มากขึ้น และมีแง่มุมที่ทำให้ผู้หญิงได้เปรียบขึ้นด้วย

"ในแวดวงของไวน์เมกเกอร์มีผู้หญิงมากขึ้น และผู้หญิงก็ได้รับการยอมรับมากขึ้นด้วย เพราะจริงๆ แล้วในวงการยอมรับกันว่า ผู้หญิงประสาทรับรสดีกว่าผู้ชายด้วยซ้ำ ซึ่งเรื่องนี้สำหรับการทำไวน์ถือว่าเป็นเรื่องสำคัญมาก"

นิกกี้เลือกลิขิตทางเดินชีวิตเอาไว้กับไร่องุ่นสุดลูกหูลูกตา เธอว่า...เพิ่งกลับมาจากเมืองนอกเมื่อปลายปีที่แล้วเอง เรียนจบจากคณะ Viticulture and Winery มหาวิทยาลัยอะดิเลดแห่งออสเตรเลียใต้ จากนั้นก็เริ่มทำงานเลย ไม่มีเวลาว่างไปเที่ยวไหน เริ่มยุ่งทันที อยู่ที่นี่ (เขาใหญ่) ซะส่วนใหญ่ เพราะต้องเซตอัพ

ไวเนอรี่ คุณพ่อสั่งเครื่องมือจากประเทศเยอรมนีมา 4-5

คอนเทนเนอร์ เราต้องมาคอยดูว่า ถังจะวางตรงไหน จัดระเบียบ เราก็จัดเอาถังทั้งหมดประมาณ 20 กว่าใบเข้าไปในไวเนอรี่ภายใน 3 วัน นิกกี้ว่าไม่มีใครสร้างไวเนอรี่ได้เร็วขนาดนั้น (หัวเราะ) แล้วก็จัดอุปกรณ์ให้เรียบร้อย ทั้งในไวเนอรี่ ในแล็บ แล้วเริ่มตัดองุ่น นิกกี้ดูตั้งแต่การเก็บองุ่น บีบน้ำ หมัก จนเสร็จกระบวนการ

"ไวเนอรี่ของเราลงทุนไปเยอะ รวมทุกอย่างไม่นับที่ดินประมาณ 30-40 ล้านบาท ตั้งเป้าสูงสุดเอาไว้ที่ 100 ตัน/ปี เพราะมีองุ่นต้นเล็กๆ ยังโตไม่เต็มที่ ตอนนี้เก็บได้ 60 กว่าตันต่อปีแล้ว ซึ่งการผลิต 100 ตันจะได้ไวน์ประมาณ 1 แสนขวด ราคาเฉลี่ยของเราประมาณ 800-1,000 บาทต่อขวด ซึ่งนอกจากในเมืองไทยเราก็ดูเรื่องการส่งออกด้วย ทั้งแถบสแกนดิเนเวีย อังกฤษ ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย"

...เป้าหมายของเราคือตลาดคุณภาพ ซึ่งเป็นตลาดที่ต้องการไวน์ที่มีคุณภาพและราคาค่อนข้างสูง

แต่นิกกี้บอกว่า หลักใหญ่ๆ กรานมอนเต้ของเธอยังเน้นตลาดในเมืองไทยมากกว่า เพราะยามนี้คนไทยสนใจดื่มไวน์กันมากขึ้น ซึ่งเธอต้องทำให้คนหันมาสนใจไวน์ของเธอมากขึ้นเช่นกัน ในฐานะที่เธอเป็นนักปรุงไวน์ที่ต้องปรุงแต่งรสชาติให้ถูกปาก

"แม้อุตสาหกรรมไวน์ในบ้านเราจะเล็ก แต่นิกกี้คิดเอาไว้

ตั้งแต่เริ่มไปเรียนแล้ว นิกกี้หวังว่าการเรียนของนิกกี้จะเรียนเพื่ออยากนำความรู้กลับมาพัฒนาไวน์ในบ้านเรา และทำให้ไวน์ไทยเติบโตเป็นที่รู้จักไปทั่วโลก !"

เป็นความมุ่งมั่นของนักปรุงไวน์ วัย 21 ที่กำลังทุ่มเทชีวิตเพื่อความฝันที่ตั้งไว้ ทุกวันนิกกี้จึงอยู่กับไร่องุ่น สัมผัสองุ่น ชิมองุ่น และปรุงไวน์

...การเป็นไวน์เมกเกอร์ของนิกกี้ ชีวิตจะเริ่มตั้งแต่ในไร่องุ่น เวลาองุ่นจะสุก ไวน์เมกเกอร์ต้องคอยเดินชิมว่าองุ่นพร้อมเก็บเมื่อไร และต้องคอยเช็กความหวานด้วย เพราะความหวานจะบอกได้ว่าระดับแอลกอฮอล์ที่ทำออกมาจะเป็นเท่าไร ต้องคอยชิมรสชาติว่าเข้มข้นพอทำไวน์ได้หรือยัง คอยบอกปริมาณการเก็บองุ่นว่าวันนี้ตัดเท่าไร แล้วจะเข้าสู่กระบวนการต่างๆ จนเป็นขวด

"ปริมาณไหนความหวานขององุ่นในการทำไวน์คือสิ่งสำคัญ เพราะทำให้เราปรุงไวน์ได้ อยากได้ไวน์สไตล์ไหนขึ้นอยู่กับความสุกงอมขององุ่นนี่แหละ อย่างไวน์ออสเตรเลียจะออกหนัก รสชาติเข้มข้น ก็ต้องเก็บองุ่นตอนที่ปริมาณน้ำตาลประมาณ 25 บริก เพราะจะเปลี่ยนไปเป็นแอลกอฮอล์ได้ 14 เปอร์เซ็นต์ องุ่นจะมีสภาพเหี่ยวๆ รสชาติจะเยอะ ส่วนไวน์สไตล์ของเรา นิกกี้ปรุงให้ออกฟรุตตี้ ดื่มง่ายหน่อย ไม่หนักมาก องุ่นที่เราเก็บจึงไม่เน้นให้เข้มข้นเกินไป"

...ไวน์อาจขึ้นกับบุคลิกคนทำก็จริง แต่จริงๆ แล้ว สิ่งที่ไวน์เมกเกอร์ต้องคำนึงถึงเวลาทำไวน์ก็คือ ต้องทำไวน์ที่คนดื่มต้องการ บางครั้งแค่ฝันว่าอยากทำโน่นทำนี่ แต่ทำออกมาไม่มีคนดื่ม ไวน์นั้นก็ไม่มีความหมาย !!! อย่างคนไทยจะชอบดื่มไวน์ที่มีรสชาติติดหวานนิดหนึ่ง จะมีไวน์บางรุ่นที่ออกแนวนั้น นอกจากนี้ก็ยังมีอีกหลายสไตล์ตามความต้องการของคนดื่มเอาไว้ด้วย

เธอบอกว่า แม้เมืองไทยจะมีอากาศร้อน แต่ตรงหุบเขาอโศกอันเป็นที่ตั้งของไร่องุ่นเธอนั้นกลับมีทำเลที่เหมาะเหม็ง

"อากาศเป็นอุปสรรคที่สำคัญเหมือนกัน แต่ที่ที่เราอยู่อากาศดีเหมาะกับการปลูกองุ่นมาก เทียบกับไร่พีบีวัลเล่ย์แล้ว เขาฝนตกมากกว่าเรา ของเราฝนตกน้อยกว่าเพราะมีภูเขาบัง อากาศจะเย็นๆ ไม่ร้อนมาก ร้อนสุดประมาณ 30 กว่าองศา กลางคืนประมาณ 20 องศา ความแตกต่างของอุณหภูมิทำให้ดีกับองุ่น ซึ่งการปลูกองุ่นเราอาจจะเจอโรคแมลงบ้าง แต่เราเริ่มรู้จักวิธีการจัดการให้ทันต่อโรคก่อนที่จะเกิดขึ้น"

...สำหรับวงการไวน์เมืองไทยในสายตาของนิกกี้ ตอนนี้มีอุปสรรคทางด้านภาษีและการโฆษณาที่ยากมาก ทำให้ปวดหัวนิดหน่อย แต่ชาวต่างชาติพวกที่อยู่ในวงการต่างประเทศ เริ่มรู้จักไวน์ไทยแล้ว ถึงเราจะเป็นอุตสาหกรรมที่เล็ก แต่เราทำไวน์เริ่มต้นได้ดี อย่างประเทศอื่นๆ ใช้เวลาเป็นร้อยๆ ปีกว่าไวน์เขาจะเป็นที่รู้จัก เราถือว่าเราทำได้ดีมากแล้ว ยังมีโอกาสพัฒนาอีกมาก เทคโนโลยีของเมืองไทยยังไม่เยอะก็จริง แต่ทำไวน์คุณภาพได้ขนาดนี้ถือว่าดีแล้ว นิกกี้คิดว่าต่อไปถ้ามีการนำเทคโนโลยีมาใช้ และมีการนำความรู้ด้านนี้มาใช้มากขึ้น เมืองไทยจะทำไวน์ได้ดีมากประเทศหนึ่งของโลก

เมืองไทยจะเป็นเมืองที่ได้ชื่อว่าผลิตไวน์ได้ดีในสไตล์ไวน์โลกใหม่ที่วงการนี้เขาพากันเรียกว่า "นิวละติจูด"

"ไวน์ในเมืองไทยจะเป็นไวน์โลกใหม่ที่เราจะเรียกว่า...นิวละติจูด... หมายถึงว่าปกติสถานที่ปลูกองุ่นสำหรับทำไวน์จะอยู่ในพื้นที่ 30 องศาเหนือ จึงถูกจัดเป็นไวน์โลกเก่า ส่วนโลกใหม่...นิวละติจูด...จะอยู่ระหว่าง 30 องศาเหนือและใต้ จะเป็นโซนที่เขาเคยเชื่อว่าปลูกองุ่นทำไวน์ไม่ได้ มีทั้งไทย อินเดีย บราซิล อินโดนีเซีย"

...ต่อไปนิกกี้จะทำไวน์สไตล์อื่นๆ ขึ้นมาด้วย ปีนี้เราจะเริ่มทำโรเซ่แล้ว ปีหน้าอาจจะทำเซาเทิร์นไวน์ ปีถัดไปหรืออาจจะรอให้เครื่องมือพร้อมก่อน จะเปลี่ยนรูปแบบขวดและฝาขวดใหม่ ตอนนี้ไวน์ไทยส่วนใหญ่จะอยู่ในไม้ก๊อก ยกเว้นสยามไวน์เนอรี่เป็นแบบฝาเกลียวแล้ว ของเราจะทำครึ่งๆ เพราะฝาเกลียวจะเก็บรสชาติได้ดีกว่า ซึ่งนิกกี้อยากเปลี่ยนมาเป็นฝาเกลียว เป็นความท้าทายอย่างหนึ่งนะ เพราะว่าเมืองไทยยังไม่ค่อยยอมรับฝาเกลียว คงต้องค่อยๆ ให้ความรู้คนดื่ม เพราะคนจะรู้สึกว่าไวน์ฝาเกลียวไม่มีเทรดิชั่นในการเปิดและการดื่ม

สายตาของเด็กสาวนักปรุงไวน์ดูมุ่งมั่น และมีไฟฝันเต็มเปี่ยมที่จะเดินต่อไปบนเส้นทางนี้

เธอว่าชีวิตนี้คงไม่เบื่อการชิมไวน์ง่ายๆ แต่ถ้าเป็นการทานองุ่นละก็ไม่แน่

"ถ้าวันไหนไปนั่งทานอาหารแล้วมีองุ่นด้วย ก็คิดนิดหนึ่ง... เพราะเห็นมาทั้งวันแล้ว คงไม่ทานแล้วล่ะ (หัวเราะ)" :D (หน้าพิเศษ D-Life)

หน้า 13
http://www.matichon.co.th/prachachat/prachachat_detail.php?s_tag=02dlf10040552&day=2009-05-04&sectionid=0225
 


Hotmail® has ever-growing storage! Don't worry about storage limits. Check it out.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

ผู้ติดตาม

คลังบทความของบล็อก

เกี่ยวกับฉัน

รูปภาพของฉัน
ต้องรู้เท่าทันในการรับรู้ข่าวสารจากทุกแหล่งข่าว/ FACT - Freedom Against Censorship Thailand กลุ่มเสรีภาพต่อต้านการเซ็นเซอร์แห่งประเทศไทย http://facthai.wordpress.com/