วันอังคารที่ 5 พฤษภาคม พ.ศ. 2552

การใช้สารสะเดาเพื่อกำจัดแมลงศัตรูพืช

วันที่ 29 เมษายน 2552 เวลา 00:00 น. |
 
การใช้สารสะเดาเพื่อกำจัดแมลงศัตรูพืช
สะเดา เป็นพืชที่รู้จักกันดี ปัจจุบันยิ่งเป็นที่รู้จักกันมากยิ่งขึ้น เพราะสะเดามีคุณประโยชน์ทางด้านกำจัดแมลงศัตรูพืช ทดแทนการใช้สารเคมีที่เป็นอันตรายต่อผู้ใช้ ผู้บริโภค และสิ่งแวดล้อม แต่สะเดาก็มีหลายพันธุ์ดังที่กรมส่งเสริมการเกษตรมีข้อมูลไว้ว่า สะเดา แบ่งออกเป็น 3 ชนิด คือ  สะเดาอินเดีย สะเดาไทย สะเดาช้าง หรือต้นเทียม ไม้เทียม
 
ศ.ดร.ขวัญชัย สมบัติศิริ ภาควิชากีฏ วิทยา คณะเกษตร ม.เกษตรศาสตร์ เขียนหลักการและวิธีการใช้สะเดาป้องกันและกําจัดแมลงศัตรูพืชไว้ในเอกสารเผยแพร่ทางวิชาการ ฉบับที่ 1 โครงการเกษตรกู้ชาติ ม.เกษตรศาสตร์ ไว้ว่า เนื้อสะเดามีรสหวาน เป็นอาหารของนก และใช้เป็นยาฆ่าเชื้อโรค นํ้ามันสะเดาที่สกัดได้จากเมล็ดในจะนําไปใช้ในอุตสาหกรรมผลิตสบู่ ยาสีฟัน เป็นยารักษาเส้นผม เป็นยาคุมกําเนิด (โดยการฉีดนํ้ามันสะเดาเข้าไปในอวัยวะเพศหญิงฆ่าเชื้ออสุจิ) เป็นยารักษาโรคผิวหนัง โรคเรื้อนโรคปวดตามข้อ แผลปวดตามข้อ แผลเป็นหนองแก้พิษแมลงกัดต่อย และใช้เป็นสารฆ่าแมลงบางชนิดภายหลังจากการสกัดนํ้ามันจากเมล็ดสะเดาแล้ว กากที่ เหลือสามารถนําไปสกัดด้วยแอลกอ ฮอล์หรือนํ้าเพื่อสกัดสารอะซาไดแรค ติน (azadirachtin) ใช้ทําเป็นสารฆ่าแมลง กากที่เหลือจากการสกัดครั้งนี้ เรียกว่า นีม เค้ก (neem cake) ยังสามารถใช้เป็นประโยชน์อย่างอื่นได้ เช่น ผสมกับกากนํ้าตาลใช้เป็นอาหารสัตว์ เป็นปุ๋ยหรือผสมกับปุ๋ยยูเรียทําเป็นปุ๋ยละลายช้า เป็นสารฆ่าแมลงสารฆ่าโรคพืช และไส้เดือนฝอยบางชนิด
 
ข้อมูลจากกรมส่งเสริมการเกษตร บอก ว่าสารอินทรีย์ที่สกัดได้จากเมล็ดสะเดาที่สำคัญ คือสารอะซาไดแรคติน สามารถออกฤทธิ์ในการป้องกันกำจัดได้หลายรูปแบบ คือเป็นสารฆ่าแมลง สารไล่แมลงทำให้แมลงไม่ชอบกินอาหาร ยับยั้งการเจริญเติบโตของแมลง การเจริญเติบโตผิดปกติทำให้หนอนไม่ลอกคราบหนอนตายในระยะลอกคราบ สารออกฤทธิ์มีผลต่อการสร้างฮอร์โมน ทำให้แมลงมีการผลิตไข่และการฟักไข่ลดน้อยลง แต่สารอะซาไดแรคตินจะมีอันตรายน้อยต่อมนุษย์และสัตว์ศัตรูธรรมชาติของแมลงศัตรูพืชและสภาพแวดล้อม จากการทดลองพบสารอะซาไดแรคติน มากที่สุดในเมล็ดสะเดา โดยเฉพาะ สะเดาอินเดีย พบปริมาณสูงที่สุด คือ  7.6 มก./กรัม โดยเฉลี่ย สะเดาไทยพบ 6.7 มก./กรัม โดยเฉลี่ย และสะเดาช้าง (ต้นเทียม) พบ 4.0 มก./กรัม โดยเฉลี่ย 
 
สำหรับวิธีนำสะเดามาทำเป็นสารสำหรับ กำจัดแมลงกรมส่งเสริมการเกษตรแนะไว้ดังนี้ ให้เอาเมล็ดสะเดาแห้งที่ประกอบด้วยเปลือกหุ้มเมล็ดและเนื้อเมล็ด มาบดให้ละเอียดแล้วนำผงเมล็ดสะเดามาหมักกับน้ำในอัตรา 1 กิโลกรัม/น้ำ 20 ลิตร โดยใช้ผงสะเดาใส่ไว้ในถุงผ้าขาวบางแล้วนำไปแช่ในน้ำนาน 24 ชั่วโมง ใช้มือบีบถุงตรงส่วนของผงสะเดา เพื่อสารอะซาไดแรคตินที่อยู่ในผงสะเดาสลายตัวออกมาให้มากที่สุด เมื่อจะใช้ก็ยกถุงผ้าออก พยายามบีบถุงให้น้ำในผงสะเดาออกให้หมดแล้วนำไปฉีดป้องกันกำจัดแมลง ก่อนนำไปฉีดแมลงควรผสมสารจับใบเพื่อให้สารจับกับใบพืชได้ดีขึ้น 
 
ควรใช้สารสกัดนี้ ฉีดพ่นในเวลาเย็นจะมีผลในการฆ่าแมลงได้ดี ใช้ฉีดพ่น 5-7 วันต่อครั้ง และควรใช้สลับกับสารฆ่าแมลงเป็นครั้งคราว แต่ถ้าเป็นช่วงที่แมลงระบาดอย่างรุนแรง ต้องใช้สารฆ่าแมลงฉีดพ่น ซึ่งจะลดความเสียหายได้  รวดเร็ว 
 
ศ.ดร.ขวัญชัย บอกไว้ว่า การเก็บและรักษาผลหรือเมล็ดสะเดาที่ถูกต้อง จะช่วยให้สารออกฤทธิ์ในสะเดามีปริมาณสูงมีผลให้สารสกัดสะเดาที่สามารถใช้ป้องกันและกําจัด แมลงศัตรูพืชได้ผลดี การเก็บและรักษาผลหรือเมล็ดสะเดาที่ไม่ดีจะเกิดเชื้อราเข้าทําลายสารออกฤทธิ์ โดยเฉพาะสารอะซาไดแรคติน
 
วิธีการที่ถูกต้องเริ่มตั้งแต่การเก็บ ควรเก็บผลสะเดาที่ร่วงหล่นอยู่ใต้ต้น หรือ เก็บผลสุกสีเหลืองจากกิ่งก็ได้ อย่าปล่อยทิ้งผลสะเดาที่ร่วง บนดินนานเกินไป จากนั้นนํามาผึ่งแดดประมาณ 2-3 สัปดาห์จนเปลือกสะเดาแห้งเป็นสีนํ้าตาลจึงนํามาผึ่งในร่มประมาณ 2-4 สัปดาห์ เพื่อให้เมล็ดในแห้งสนิท ขั้นตอนต่อไปคือเก็บบรรจุในถุงตาข่ายพลาสติกหรือกระสอบป่าน (ยกเว้น กระสอบปุ๋ย) ซึ่งสามารถวางซ้อนกันได้ โดยมีแผ่นไม้วางข้างล่างเพื่อป้องกันความชื้นจากดินการเก็บรักษาในลักษณะเป็นผลแห้งนี้จะนําไปใช้ได้เฉพาะการผลิตใช้เอง ไม่เหมาะที่จะนําไปผลิตเป็นอุตสาหกรรม (มีต่อในวันพุธหน้า).

http://www.dailynews.co.th/web/html/popup_news/Default.aspx?Newsid=197581&NewsType=1&Template=1
 
 
 
วันที่ 6 พฤษภาคม 2552 เวลา 00:02 น. |
 
 
การใช้สารสะเดาเพื่อกำจัดแมลงศัตรูพืช(2)
พุธที่แล้วได้กล่าวถึงการใช้ สารสะเดาเพื่อกำจัดแมลงศัตรูพืช แต่ยังไม่จบ ขอนำมาบอกต่อดังนี้...ข้อมูลโดย ศ.ดร.ขวัญชัย สมบัติศิริ แห่งภาควิชากีฏวิทยา คณะเกษตร ม.เกษตรศาสตร์ จากเอกสารเผยแพร่ทางวิชาการ เรื่อง หลักการและวิธีการใช้สะเดาป้องกันและกำจัดแมลงศัตรูพืช ระบุไว้ว่า การสกัดสารอะซาไดแรค ตินจากเมล็ดหรือผลสะเดาทําได้หลายวิธีด้วยกัน สิ่งที่สําคัญคือ ส่วนของสะเดาที่ใช้ต้องบดให้ละเอียด สําหรับตัวสกัดที่เหมาะสมในการผลิตเป็นการค้าคือ แอลกอฮอล์ อาจเป็นเอทิลแอลกอฮอล์หรือเมทิล แอลกอฮอล์ก็ได้ แต่เมทิลแอลกอฮอล์ราคาถูกกว่า มาก ถ้าใช้เมทิลแอลกอฮอล์ ต้องระวังอย่าให้เข้าปากหรือเข้าตา ในกระบวนการสกัดสารถ้าต้องการผลิตใช้เอง ตัวสกัดที่เหมาะสม คือ นํ้า ซึ่งเกษตรกรเป็นจํานวนไม่น้อยใช้น้ำในการสกัดสารจากผลสะเดาที่ได้จากผลแห้ง

"การสกัดเพื่อใช้เอง ให้นำผงสะเดาที่ ได้จากการบดผลสะเดาแห้ง จํานวน 10 กิโลกรัม ใส่ในภาชนะบรรจุ เติมนํ้าให้ท่วมประมาณ 200 ลิตร (ผงสะเดา 1 กิโลกรัมต่อน้ำ 20 ลิตร) แช่ไว้นานประมาณ 24 ชั่วโมง ในระหว่างการแช่นํ้า อาจใช้ไม้ยาวกวนให้ผลสะเดารวมกับน้ำเป็นครั้งคราว เมื่อครบกําหนดเวลาจึงกรองนํ้ายาผ่านตาข่ายพลาสติกสีเขียว ในกรณีที่ใช้เครื่องพ่นสูบโยกที่ใช้แรงคน เกษตรกรบางรายที่ต้องการประหยัดผงสะเดา อาจแช่ครั้งแรกประมาณ 3 ชั่วโมงจึงกรองนํ้ายาออก จากนั้นเติมนํ้าลงไปในกากสะเดาใหม่ แต่ใช้นํ้าน้อยลง อาจเป็น 100-150 ลิตร แช่ไว้ประมาณ 24 ชั่วโมง จึงกรองนํ้ายาไปใช้ นอกจากนั้น เกษตรกรอาจใช้แอลกอฮอล์ร่วมสกัดโดยการนําผงสะเดาที่รู้นํ้าหนักแล้ว บรรจุในภาชนะที่มีฝาปิดสนิท เติมเมทิลแอลกอฮอล์ให้ท่วมผงสะเดา จะแช่ไว้นานเท่าใดก็ได้ แต่อย่างน้อยควรนานกว่า 1 วัน จากนั้นนําผลสะเดาที่แช่ในแอลกอฮอล์ไปแช่ในนํ้า โดยคิดอัตราส่วน ผงสะเดา 1 กิโลกรัม (ไม่รวม นํ้าหนักของแอลกอฮอล์) ต่อนํ้า 20 ลิตร แช่ในนํ้าเป็นเวลาประมาณ 2 ชั่วโมง จึงกรองเหมือนวิธีเดิม..." ศ.ดร.ขวัญชัย กล่าว

ข้อมูลจาก กลุ่มส่งเสริมการผลิตและการจัดการผลผลิต สำนักงานเกษตรจังหวัดนนทบุรี บอกไว้ว่า ประสิทธิภาพของสารสะเดาต่อแมลงศัตรูพืช แบ่งได้เป็น 3 กลุ่ม คือ

1. ใช้สารสกัดสะเดาได้ผลดี เช่น หนอน กระทู้ผัก หนอนหลอดหอม หนอนใยผัก หนอนม้วนใบ หนอนชอนใบ เพลี้ยจักจั่นฝ้าย หนอน กระทู้หอม เพลี้ยอ่อน เพลี้ยไก่แจ้ หนอนแก้วส้ม หนอนผีเสื้อหัวกะโหลก

2. ใช้สารสะเดาได้ผลปานกลาง เช่น หนอนเจาะฝักถั่ว หนอนเจาะสมอฝ้าย หนอนเจาะดอกมะลิ หนอนแมลงวันเจาะต้นถั่ว หนอนเจาะยอดและผลมะเขือเทศ หนอนเจาะยอดคะน้า และแมลงหวี่ขาวยาสูบ

3. ใช้สารสะเดาไม่ได้ผล เช่น เพลี้ยไฟ มวนแดง มวนเขียว หมัดกระโดด เต่าแตงแดง เต่าแตงดำ ด้วงกุหลาบ และแมลงปีกแข็งอีกหลายชนิด

สำหรับการใช้สารสะเดาเพื่อควบคุมแมลงศัตรูพืชนั้น สามารถใช้ได้หลายทาง คือ การใช้ทางดิน ตัวอย่างเช่น

1. ควบคุมตัวอ่อนด้วงหมัดผักในพืชตระกูลกะหล่ำ เช่น ผักกาดหัว คะน้า กะหล่ำดอก กวางตุ้ง เป็นต้น ให้หว่านเมล็ดสะเดาบดแห้ง หลัง ย้ายกล้าหรือหลังงอก 7-10 วัน อัตรา 20-25 กก. ต่อไร่ หรือโรยรอบโคนต้น อัตรา 2.5-3 กรัมต่อหลุม

2. ควบคุมหนอนแมลงวันเจาะโคนต้นถั่ว ในถั่วฝักยาว ถั่วเหลือง ถั่วแระญี่ปุ่น ถั่วแขก ถั่วพู เป็นต้น ให้หว่านเมล็ดสะเดาบดแห้ง หลังจากถั่วงอกพ้นดิน 7-10 วัน อัตรา 10 หรือ 15 กก. ต่อไร่ หรือ 5 กรัมต่อหลุม

3. ควบคุมหนอนกระทู้ผักในแปลงหน่อไม้ฝรั่ง ให้โรยเมล็ดสะเดาบดรอบกอ อัตรา 5 กรัมต่อกอ ทุก 45-60 วัน

การหยอดยอด ใช้เมล็ดสะเดาบดแห้ง ผสมทรายหรือดินหรือขี้เลื่อยอัตราส่วน 1 : 1 โดยปริมาณ เพื่อควบคุมหนอนเจาะลำต้นข้าวโพดที่อาศัยหลบซ่อนบริเวณส่วนยอดในใบรูปกรวย แบ่งการหยอดเป็น 2 ครั้ง คือ ครั้งแรก เมื่อข้าวโพดอายุ 3-4 สัปดาห์ อัตรา 1 กรัมต่อยอด หรือ 8 กิโลกรัมต่อไร่ และหยอดอีกครั้งก่อนข้าวโพดออกดอกตัวผู้ในอัตราเดียวกัน

การพ่น นำเมล็ดสะเดาบด จำนวน 1 กิโลกรัม ห่อด้วยถุงผ้าแช่ในน้ำ 20 ลิตร ทิ้งไว้ ประมาณ 12 ชั่วโมง กวนเป็นครั้งคราว นำน้ำที่ผ่านการกรองแล้วไปผสมสารจับใบ พ่นที่ต้นพืชได้ทันที ทุก 5-7 วัน จนถึงใกล้เก็บเกี่ยว สามารถ ป้องกันกำจัดเพลี้ยอ่อน เพลี้ยจักจั่น เต่าแตงแดง และดำ หนอนใยผัก หนอนหลอดหอม หนอนกระทู้ผัก หนอนคืบ หนอนแก้วส้ม หนอนเจาะฝักและผลได้

ข้อจำกัดของการใช้สารสกัดจากสะเดา

1. สารสกัดจากสะเดาไม่สามารถฆ่าแมลงได้ทุกชนิด โดยเฉพาะที่อยู่ในระยะตัวเต็มวัย

2. ในช่วงที่เกิดการระบาดรุนแรง การใช้สารสกัดสะเดาเพียงอย่างเดียวไม่สามารถลดความเสียหายได้ทันทีเนื่องจากสะเดาไม่สามารถฆ่าแมลงได้ตายทันทีเหมือนสารเคมี

3. สารสกัดจากสะเดา สลายตัวอ่อนค่อนข้างไว ดังนั้นช่วงระยะเวลาในการฉีดพ่นจึงสั้นลงประมาณ 5-7 วันต่อครั้ง แต่ถ้าฉีดพ่นในโรงเก็บ
ไม่ถูกแสงแดดสามารถออกฤทธิ์ป้องกันกำจัดแมลงได้อย่างน้อย 3 สัปดาห์

หมายเหตุ ขอขอบคุณข้อมูลจาก ศ.ดร. ขวัญชัย สมบัติศิริ และสำนักงานเกษตรจังหวัดนนทบุรี.
 


Hotmail® goes with you. Get it on your BlackBerry or iPhone.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

ผู้ติดตาม

คลังบทความของบล็อก

เกี่ยวกับฉัน

รูปภาพของฉัน
ต้องรู้เท่าทันในการรับรู้ข่าวสารจากทุกแหล่งข่าว/ FACT - Freedom Against Censorship Thailand กลุ่มเสรีภาพต่อต้านการเซ็นเซอร์แห่งประเทศไทย http://facthai.wordpress.com/