วันศุกร์ที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2552

ข้ามชาติตั้งรับนโยบายซื้อพีซีไทย "เลอโนโว-อัสซุส"เล็งจ้างโออีเอ็มในประเทศแก้ลำ

 
วันที่ 30 เมษายน พ.ศ. 2552 ปีที่ 32 ฉบับที่ 4101

ข้ามชาติตั้งรับนโยบายซื้อพีซีไทย "เลอโนโว-อัสซุส"เล็งจ้างโออีเอ็มในประเทศแก้ลำ



"อินเตอร์แบรนด์" หวั่นหลัง ครม.มีมติให้หน่วยงานราชการใช้สินค้าแบรนด์ไทยอย่างเคร่งครัด เพื่อช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศ กระทบการเข้าประมูลโปรเจ็กต์ภาครัฐ หลายค่ายเร่งหาแผนสำรองกู้สถานการณ์ "เลอโนโว-อัสซุส" เล็งจับมือ ผู้ประกอบการโลคอลแบรนด์จ้างผลิตใน รูปแบบ "โออีเอ็ม" เพื่อให้มีสิทธิ์เข้าประมูล ขณะที่ "โตชิบา" พร้อมรับมือหาแหล่งรายได้ใหม่ชดเชย ขณะที่ "เอเซอร์-เอชพี" ขอดูรายละเอียดก่อน คาดไม่กระทบหนักเพราะมีโรงงานประกอบในไทยอยู่แล้ว



นายจีรวุฒิ วงศ์พิมลพร ผู้จัดการประจำประเทศไทย ฝ่ายผลิตภัณฑ์สำหรับองค์กร บริษัท เลอโนโว ประเทศไทย กล่าวกับ "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า จากกรณีที่มีมติ ครม.ให้ส่วนราชการปฏิบัติโดยเคร่งครัด เรื่องการใช้พัสดุที่ผลิตในประเทศ หรือเป็นกิจการของคนไทยเมื่อวันที่ 21 เมษายนที่ผ่านมานั้น ซึ่งอุตสาหกรรมคอมพิวเตอร์ย่อมได้รับผลกระทบด้วย หมายความกลุ่มอินเตอร์แบรนด์จะได้รับผลกระทบจากมติ ครม.อย่างแน่นอน ส่งผลให้การทำตลาดลำบากมากขึ้น เพราะปัจจุบันอินเตอร์ แบรนด์มีบทบาทในตลาดภาครัฐเป็นสัดส่วนถึง 80%

ขณะที่ปีนี้ปัจจัยเศรษฐกิจทำให้เอกชนชะลอการลงทุน และภาครัฐเป็นกลุ่มเดียวที่มีการลงทุนอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม บริษัทได้มีแผนรับมือไว้เช่นกัน คือ การร่วมมือกับผู้ประกอบพีซีโลคอลแบรนด์ในประเทศไทย ในการจ้างประกอบสินค้าในลักษณะโออีเอ็ม และติดตราเลอโนโว สำหรับในการเข้าประมูลโปรเจ็กต์ภาครัฐแทนการนำเข้าจากต่างประเทศ ซึ่งวิธีการนี้ก็จะทำให้บริษัทสามารถเข้าร่วมประมูล โปรเจ็กต์ราชการได้ เพราะถือว่าเป็นสินค้าที่ผลิตในประเทศ

"ปัจจุบันอยู่ระหว่างการเจรจากับผู้ประกอบการในไทยหลายรายถึงรูปแบบการโออีเอ็ม แต่ยังไม่ได้ข้อสรุป ทั้งนี้ปีที่ผ่านมา เลอโนโวมีรายได้จากโปรเจ็กต์ภาครัฐเป็นสัดส่วนประมาณ 30% ของรายได้ทั้งหมดในตลาดคอร์ปอเรต" นายจีรวุฒิกล่าว

ด้านนายพรเทพ วัชรอำนวย กรรมการผู้จัดการ บริษัท อัสซุสเทค คอมพิวเตอร์ ประเทศไทย จำกัด กล่าวว่า จากมติ ครม.ดังกล่าว เป็นไปได้ว่ารัฐบาลต้องการสร้างแบรนด์ในไทยให้แข็งแกร่งขึ้น ซึ่งอาจส่งผลให้อินเตอร์แบรนด์ได้รับผลกระทบบ้างพอสมควร เพราะปัจจุบันอินเตอร์ แบรนด์มีบทบาทในตลาดราชการถึง 80% โดยเฉพาะสินค้าโน้ตบุ๊กที่น่าจะได้รับผลกระทบมากกว่าเพราะส่วนใหญ่เป็นการนำเข้า ขณะที่พีซีตั้งโต๊ะนั้นอินเตอร์แบรนด์และผู้ประกอบพีซีในประเทศมีความสามารถที่ใกล้เคียงกัน

"สำหรับอัสซุสแม้ว่าจะการขายในตลาดรีเทลเป็นหลัก แต่ก็ได้รับผลกระทบเช่นกัน เพราะตลาดราชการเป็นตลาดใหม่ที่อัสซุสเพิ่งเข้าไป จึงมีโอกาสในการทำตลาดอีกไม่น้อย แต่จากมติ ครม.ดังกล่าวย่อมเป็นอุปสรรคทำให้ไม่สามารถขยายพื้นที่ทำตลาดได้"

อย่างไรก็ตาม อัสซุสมีแผนสำรอง โดยอาจร่วมมือกับผู้ประกอบพีซีในประเทศเพื่อเสนอสินค้าเข้าสู่ตลาดภาครัฐ โดยการนำโน้ตบุ๊กแบร์โบนจากต่างประเทศเข้ามาเพื่อประกอบในประเทศไทย และติดแบรนด์ อัสซุส หรืออาจจะเป็นแบรนด์ของผู้ประกอบ เครื่องเพื่อให้สามารถเข้าโปรเจ็กต์ราชการได้ จากปัจจุบันอัสซุสได้ร่วมมือกับโลคอล แบรนด์อย่าง "เลอเมล" อยู่แล้วโดยอัสซุสเป็นผู้สนับสนุนด้านเมนบอร์ด

ขณะที่ นายถกล นิยมไทย ผู้จัดการประจำประเทศไทย กลุ่มธุรกิจไอที บริษัท โตชิบา ไทยแลนด์ จำกัด กล่าวว่า ขณะนี้ยังไม่ทราบรายละเอียดที่ชัดเจนของมติ ครม.นี้ว่าเป็นอย่างไร แต่หากมีผลกระทบต่อการทำตลาดของบริษัท ข้ามชาติในการประมูลตลาดราชการ บริษัทก็พร้อมที่จะเปลี่ยน โฟกัสหรือเพิ่มรายได้จากช่องทางอื่นแทน เนื่องจากปัจจุบันโตชิบามียอดขายในตลาดราชการไม่ถึง 5% ของยอดขายสินค้าไอทีทั้งหมด

สำหรับนายนิธิพัทธ์ ประวีณวงศ์วุฒิ ผู้จัดการอาวุโสฝ่ายการตลาด บริษัท เอเซอร์ คอมพิวเตอร์ จำกัด กล่าวว่า เบื้องต้นยังไม่ทราบรายละเอียดของมติ ครม.ว่าจะให้ใช้เฉพาะแบรนด์ไทย หรือแบรนด์ที่มีการประกอบสินค้าในไทย แต่อย่างไรก็ตามคาดว่าจะทำให้พีซีโลคอลแบรนด์มีบทบาทมากขึ้น

อย่างไรก็ตามเอเซอร์มีโรงงานประกอบอยู่ในไทยด้วย ถ้าในกรณีที่กำหนดให้เป็นสินค้าที่ต้องประกอบในประเทศก็จะไม่เป็นปัญหาสำหรับบริษัท จึงคาดว่าจะไม่ได้รับผลกระทบมาก ทั้งนี้ปัจจุบันรายได้ของ เอเซอร์มาจากโปรเจ็กต์ภาครัฐประมาณ 15% ของยอดขายบริษัท

นอกจากนี้ปัจจุบันต้นทุนการผลิตพีซีของโลคอลแบรนด์ จะสูงกว่าอินเตอร์แบรนด์ และส่วนใหญ่การประมูลของภาครัฐไม่ได้ใช้ราคาชี้ขาดอย่างเดียว มีเรื่องการบริการและองค์ประกอบอื่นด้วย ดังนั้นหากภาครัฐมีนโยบายดังกล่าวเคร่งครัด ไม่แน่ใจว่ารัฐจะได้รับผลประโยชน์อย่างเต็มที่หรือเปล่า ขณะเดียวกันอาจส่งผลกระทบถึงภาพรวมอุตสาหกรรมด้วย

ขณะที่นายประเสริฐ จรูญไพศาล ผู้จัดการทั่วไป กลุ่มธุรกิจเพอร์ซันเนล ซิสเต็มส์ บริษัท ฮิวเลตต์- แพคการ์ด (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า การให้หน่วยราชการของไทยใช้สินค้าจากผู้ผลิตในประเทศเป็นนโยบายที่มีมานานแล้ว ซึ่งที่ผ่านมาเอชพียังไม่ได้รับผลกระทบใดๆ เพราะแต่ละโปรเจ็กต์มีความต้องการที่หลากหลายมาก แม้ว่าภาครัฐจะให้หน่วยงานราชการเคร่งครัดมากขึ้น แต่ก็ต้องขึ้นอยู่กับสินค้าประเภทนั้นด้วยว่า ผู้ผลิตในไทยสามารถผลิตแล้วได้คุณภาพ ประสิทธิภาพ และตอบสนองลูกค้าได้หรือไม่

"เชื่อว่าสินค้ากลุ่มคอมพิวเตอร์อาจจะยากในทางปฏิบัติกว่าสินค้ากลุ่มอื่นๆ เพราะเทคโนโลยีของไทยก็ยังไม่ถึงขั้น รวมถึงองค์ความรู้ต่างๆ และตอนนี้ยังเร็วเกินไปที่จะทราบว่าได้รับผลกระทบหรือไม่ ต้องรอดูรายละเอียดและการตีความจากมติ ครม.อีกครั้ง"

นอกจากนี้สินค้าของเอชพีก็มีทั้งที่ผลิตในประเทศไทยและการนำเข้าจากต่างประเทศ แต่การทำตลาดต้องมีการปรับตัวและมีแผนรองรับอยู่แล้วตามสภาพตลาดที่เปลี่ยนแแปลงได้ตลอดเวลา

หน้า 28

http://www.matichon.co.th/prachachat/prachachat_detail.php?s_tag=02com01300452&day=2009-04-30&sectionid=0209

Windows Live™ Hotmail®:…more than just e-mail. Check it out.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

ผู้ติดตาม

คลังบทความของบล็อก

เกี่ยวกับฉัน

รูปภาพของฉัน
ต้องรู้เท่าทันในการรับรู้ข่าวสารจากทุกแหล่งข่าว/ FACT - Freedom Against Censorship Thailand กลุ่มเสรีภาพต่อต้านการเซ็นเซอร์แห่งประเทศไทย http://facthai.wordpress.com/