วันจันทร์ที่ 6 กรกฎาคม พ.ศ. 2552

แอบมอง...นิวซีแลนด์ บริษัท "กีวี" ข้ามชาติ โครงสร้างธุรกิจเกษตรยุคใหม่!!

วันที่ 07 กรกฎาคม พ.ศ. 2552 ปีที่ 32 ฉบับที่ 11441 มติชนรายวัน


แอบมอง...นิวซีแลนด์ บริษัท "กีวี" ข้ามชาติ โครงสร้างธุรกิจเกษตรยุคใหม่!!


โดย สุทธาสินี จิตรกรรมไทย



กีวี ผลอวบวางเรียงรายอยู่บนชั้นจำหน่ายผลไม้สดในซุปเปอร์มาร์เก็ต สติ๊กเกอร์วงรีเล็กๆ ที่แปะไว้บนผลนอกจากช่วยจำแนกว่าผลไหนเป็น "กีวีกรีน" เนื้อกีวีสีเขียว หรือ "กีวีโกลด์" เนื้อกีวีสีทอง แล้ว ยังบอกให้รู้ว่ากีวีเหล่านี้เดินทางข้ามน้ำข้ามทะเลมาไกลจาก นิวซีแลนด์ ประเทศที่ขึ้นชื่อว่าเป็น ดินแดนแห่งกีวี

ทุกวันนี้นิวซีแลนด์ส่งออกผลไม้ที่ถือเป็นหน้าเป็นตาของประเทศไปจำหน่ายมากกว่า 70 ประเทศทั่วโลก คิดเป็น 99 เปอร์เซ็นต์ของกีวีที่นิวซีแลนด์ปลูกได้เลยทีเดียว

ปีที่แล้วนิวซีแลนด์ส่งออกกีวีมากถึง 100 ล้านถาด (ถาดละ 3.5 กิโลกรัม) สร้างความมั่งคั่งและร่ำรวยให้กับประเทศไม่น้อย

ก่อนจะปีนป่ายขึ้นถึงยอดเขาแห่งความสำเร็จอย่างที่เห็น บรรดาผู้ปลูกกีวีชาวนิวซีแลนด์ต้องเผชิญปัญหาทุกข์ยากหนักหนาสาหัส แต่ด้วยการจัดการและการบริหารที่ดี ทำให้ปัจจุบันผู้ปลูกกีวีมีชีวิตสุขสบายเหลือล้น!!

เป็นอย่างไรนั้น แดเนียล แมธีสัน ผู้จัดการฝ่ายการตลาด ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ บริษัท เซสปรี อินเตอร์เนชั่นแนล (Zespri International) รับหน้าที่บอกเล่า...

เขาฉายภาพความลำบากของเกษตรกรกีวีในนิวซีแลนด์ให้ฟังว่า ย้อนไปราว 15 ปีก่อน มีบริษัทในนิวซีแลนด์ที่ส่งออกกีวีนับสิบนับร้อยเจ้า ผู้ปลูกกีวีก็มีด้วยกันหลายพันราย ต่างแข่งขันกันเอง คุณภาพของกีวีก็ไม่ได้มาตรฐาน ส่งผลให้ราคาตกต่ำ

ผู้ปลูกกีวีหลายรายจึงแทบสิ้นเนื้อประดาตัว

เกษตรกรกีวีหลายพันคนทั่วนิวซีแลนด์รับสภาพนี้ไม่ไหว จึงรวมตัวกันเรียกร้องรัฐบาลให้ช่วยตั้งบริษัทขึ้นมาบริษัทหนึ่ง คอยดูแลจัดการคุณภาพ มาตรฐาน และตลาดกีวี ไม่ให้ราคาตกต่ำและไม่ให้มีการแข่งขันกันดุเดือดอย่างที่เป็น

รับข้อเรียกร้องของผู้ปลูกกีวีมาพิจารณาแล้ว ในที่สุดรัฐบาลนิวซีแลนด์ก็มีมติให้จัดตั้ง "บริษัท เซสปรี อินเตอร์เนชั่นแนล" ขึ้นในปี 2540 เพื่อจัดการปัญหาต่างๆ

"บริษัทอื่นๆ จำหน่ายกีวีนิวซีแลนด์ได้เฉพาะในประเทศและออสเตรเลีย แต่เราเป็นบริษัทเดียวที่สามารถส่งออกกีวีไปจำหน่ายทั่วโลก และเป็นบริษัทเดียวที่จำหน่ายกีวีโกลด์ เพราะเป็นสายพันธุ์ที่เราพัฒนาขึ้นเอง

(บน) เก็บเกี่ยวกีวีได้ในเดือนเมษายน-ต้นเดือนมิถุนายน (กลาง) ลำเลียงกีวีขึ้นเรือส่งจำหน่ายทั่วโลก (ล่าง) สวนกีวีที่มีมากมายในภูมิภาค เบย์ ออฟ เพลนตี้


"เรียกได้ว่าเราเป็นตัวแทนกีวีนิวซีแลนด์ มีรัฐบาลเป็นผู้สนับสนุนเพราะเห็นถึงความสำคัญของกีวีซึ่งเป็นผลไม้เศรษฐกิจของประเทศ รัฐบาลได้เจรจาเรื่องการค้าเสรีกับหลายประเทศ ซึ่งจะช่วยให้ภาษีของกีวีนิวซีแลนด์ลดลง" แดเนียล-หนุ่มสายเลือดนิวซีแลนด์ เล่าอย่างภาคภูมิใจ

คณะผู้บริหารของเซสปรีมี 6 ราย โดย 3 รายเป็นเกษตรกรกีวี และอีก 3 รายเป็นบุคคลในภาคธุรกิจที่มีความเชี่ยวชาญและประสบการณ์แตกต่างกัน โดยเฉพาะเรื่องการบริหารและการตลาด

ส่วนสมาชิก 3 พันกว่ารายล้วนเป็นผู้ปลูกกีวีทั้งสิ้น หากวันไหนที่สมาชิกเห็นว่าโครงสร้างการบริหารงานไม่เหมาะสม ก็สามารถจัดประชุม และเรียกร้องให้มีการเปลี่ยนระบบการบริหารงานได้

รายได้ของสมาชิกมาจากเงินปันผลที่จะได้รับทุกปี และอีกทางคือการปลูกกีวีให้ได้คุณภาพและมาตรฐานตรงตามความต้องการของตลาด

แดเนียลเล่าว่า เซสปรีได้ร่วมกับ แพลนท์ แอนด์ ฟู้ด รีเสิร์ช (Plant and Food Research) ซึ่งเป็นสถาบันวิจัยด้านพันธุ์พืช ทำการพัฒนาสายพันธุ์กีวี ทั้ง กีวีกรีนและกีวีโกลด์ ให้ผลมีขนาดใหญ่ขึ้น เนื้อแน่นขึ้น และยืดอายุการเก็บให้นานขึ้น

เมื่อทำการปรับปรุง-พัฒนาสายพันธุ์ และสำรวจตลาดแล้วว่าต้องการผลขนาดไหน รสชาติอย่างไร เซสปรีก็จะแนะนำสมาชิกให้ลองปลูก ซึ่ง 80 เปอร์เซ็นต์ของพื้นที่ปลูกกีวีทั้งหมดของนิวซีแลนด์อยู่ในภูมิภาค เบย์ ออฟ เพลนตี้ ตั้งอยู่ทางตะวันออกเฉียงใต้ของเมืองอ๊อคแลนด์

"เรากระตุ้นให้ผู้ปลูกได้ปลูกกีวีคุณภาพดีที่สุด สมมุติผมมีสวนกีวี คุณมีสวนกีวี แล้วกีวีในสวนผมผลใหญ่กว่า รสชาติดีกว่า มีสารอาหารเยอะกว่า แต่ใช้สารเคมีน้อยกว่า ผมก็จะได้เงินเยอะกว่า

"ที่อื่นอาจหวงการปรับปรุงสายพันธุ์ แต่ที่นี่ไม่เป็นอย่างนั้น เมื่อมีเทคโนโลยีใหม่ๆ เราและผู้ปลูกจะแบ่งปันความรู้กัน เพราะเรามองไปที่มาตรฐานระดับประเทศมากกว่าจะมาแข่งขันกันเองอย่างแต่ก่อน" แดเนียลบอก

(ซ้าย) แดเนียล แมธีสัน (ขวา) บรรจุกีวีลงกล่อง...กีวีที่มีตำหนิมีไว้จำหน่ายในประเทศ ส่วนกีวีเกรดเอส่งจำหน่ายต่างประเทศ


ขณะเดียวกันบริษัทก็ต้องทำความเข้าใจความต้องการของผู้ปลูก มีการพูดคุยระหว่างกันโดยตลอด มีการพาผู้ปลูกกีวีไปโรดโชว์ เพื่อให้เห็นด้วยตัวเองว่าความต้องการของตลาดแต่ละประเทศเป็นอย่างไร ซึ่งลูกค้าก็สามารถพูดคุยแลกเปลี่ยนความเห็นกับผู้ปลูกได้โดยตรง

"เมื่อก่อนก็ลำบากพอสมควร เพราะผู้ปลูกแข่งขันกันเอง แต่เดี๋ยวนี้เราแข่งขันกับชาติอื่นแล้วครับ เราจึงต้องร่วมมือกันปลูกกีวี

"ผมมีหลักอยู่ว่ากีวีเป็นเหมือนลูกๆ ของผม เพราะฉะนั้นต้องดูแลอย่างดีที่สุด" ดอน ไฮแลนด์ สมาชิกเซสปรี ผู้ปลูกกีวีและเจ้าของไร่กีวีรุ่นที่ 5 ของตระกูล เล่าให้ฟังระหว่างพาเดินชมสวนกีวี

ดอนเล่าว่า เมื่อต้นเริ่มให้ผลกีวีเมื่อไหร่ ก็ได้เวลาที่ต้องส่งกีวีบางส่วนไปให้ "เทสติ้ง เซ็นเตอร์" (Tasting Center) ตรวจว่าได้คุณภาพหรือไม่ รสชาติเป็นอย่างไร หากผ่านการตรวจก็เป็นอันเก็บเกี่ยวผลผลิตได้

กีวีจากสวนของดอนรสชาติเยี่ยม แต่ละปีดอนจึงได้รับเงินตอบแทนเป็นจำนวนมาก เพียงพอต่อการที่หมดฤดูเก็บกีวีแล้ว เขาและภรรยาจะไปพักผ่อนด้วยการล่องเรือยอชต์ส่วนตัวในทะเลสาบโรโทรัวได้อย่างสบายใจ

ออกจากสวนกีวีก็เดินทางสู่ "แพค เฮาส์" (Pack House) หรืออาคารบรรจุกีวี

กีวีจะถูกวางลงบนสายพานผ่านเครื่องจักรที่คอยตรวจขนาดผลและตรวจรอยช้ำของกีวี ผลไหนไม่ผ่านก็จะไปอีกสายพานหนึ่งให้พนักงานได้ตรวจคุณภาพอีกรอบ

พนักงานในแพค เฮาส์ มีทั้งชาวเมารีซึ่งเป็นชนพื้นเมืองของนิวซีแลนด์ ชาวมาเลเซีย และชาวอินโดนีเซีย เพราะนิวซีแลนด์ประสบปัญหาภาวะขาดแคลนแรงงาน รัฐบาลจึงทำข้อตกลงกับมาเลเซียและอินโดนีเซียว่า คนหนุ่มสาวจากทั้ง 2 ประเทศนี้สามารถทำงานในแพค เฮาส์ได้เป็นเวลา 2-3 เดือน ซึ่งก็ถือเป็นโครงการที่ประสบความสำเร็จพอควร

บรรจุกีวีลงกล่องสีเขียวเรียบร้อย ก็ส่งไปยัง ท่าเรือเทารังก้า เก็บไว้ในโกดังซึ่งรักษาอุณหภูมิไว้ที่ 0-1 องศาเซลเซียส เพื่อรักษาความสดของกีวี ก่อนลำเลียงขึ้นเรือขนส่งที่มีห้องรักษาอุณหภูมิไว้ที่ 0-1 องศาเซลเซียสเช่นกัน

หลังจากนั้นไม่กี่สัปดาห์ กีวีนิวซีแลนด์ก็ถึงมือผู้บริโภค

"ญี่ปุ่นเป็นประเทศที่เราส่งกีวีไปจำหน่ายมากสุดคิดเป็น 16 เปอร์เซ็นต์ รองลงมาเป็นเยอรมนี สเปน จีน เกาหลี ส่วนภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีสัดส่วนประมาณ 1.5 เปอร์เซ็นต์ คิดเป็นจำนวนถาดก็ราว 1.5 ล้านถาด...นี่คือตัวเลขของปีที่แล้วนะครับ หวังว่าปีนี้จะเพิ่มมากขึ้น" แดเนียลบอก

เซสปรีทำตลาดในภูมิภาคนี้มาแล้ว 5 ปี ส่วนประเทศไทยนั้น เซสปรีเพิ่งรุกตลาดเมื่อ 3 ปีที่แล้ว ส่งกีวีกรีนเข้าตลาดก่อน แล้วค่อยส่งกีวีโกลด์มาชิมลางเมื่อไม่นานมานี้

ทราบไหมว่ากีวีนิวซีแลนด์ต้องลงสนามปะทะผลไม้เจ้าถิ่นอย่างทุเรียน มะม่วง มังคุด เงาะ ส้ม?

ได้ยินคำถามแล้วแดเนียลถึงกับหัวเราะ ก่อนบอกว่า "ทราบ" คนไทยโชคดีที่มีผลไม้ให้รับประทานตลอดทั้งปี บางทีอาจจะมากสุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เลยก็ว่าได้ แต่ก็อยากให้กีวีเป็นอีกตัวเลือกหนึ่งของคนไทย

"กีวีกรีนและโกลด์มีวิตามินซีและวิตามินอีสูงมากๆ มีไฟเบอร์เยอะ และยังมีสารอาหารอื่นๆ ที่จำเป็นต่อร่างกายอีกมาก...ราคากีวีนิวซีแลนด์อาจแพงเมื่อเทียบกับผลไม้ชนิดอื่น แต่เราก็พูดได้เต็มปากเต็มคำว่ากีวีนิวซีแลนด์ดีที่สุดในโลก" แดเนียลไม่วายย้ำ

ดูโครงสร้างการบริหารจัดการ "กีวี" บ้านเขาแล้วอดสะท้อนใจไม่ได้

เพราะในขณะที่เกษตรกรนิวซีแลนด์มีชีวิตสะดวกสบาย เกษตรกรไทยกลับน้ำตาตกใน-ชอกช้ำใจกับผลผลิตที่ออกสู่ท้องตลาดเมื่อไหร่เป็นอันเตรียมใจไว้ได้เลยว่าราคาต้องตกต่ำ

เป็นเหตุการณ์ย่ำแย่เกิดขึ้นซ้ำซากที่ไม่ว่ารัฐบาลยุคไหนสมัยไหนได้แต่มองตาปริบๆ!!

หน้า 20
http://www.matichon.co.th/matichon/view_news.php?newsid=01pra01070752&sectionid=0131&day=2009-07-07

--
Please visit my blog.Thank you so much.
http://www.sanamluang.bloggang.com
http://tham-manamai.blogspot.com
http://lifeanddeath2mcu.blogspot.com
http://www.thaiyogainstitute.com
http://www.thaihof.org
http://www.parent-youth.net
http://www.tzuchithailand.org
http://www.presscouncil.or.th
http://thainetizen.org
http://www.ictforall.org
http://elibrary.nfe.go.th
http://www.pdc.go.th
http://www.biz652.com
http://dbd-52.hi5.com

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

ผู้ติดตาม

คลังบทความของบล็อก

เกี่ยวกับฉัน

รูปภาพของฉัน
ต้องรู้เท่าทันในการรับรู้ข่าวสารจากทุกแหล่งข่าว/ FACT - Freedom Against Censorship Thailand กลุ่มเสรีภาพต่อต้านการเซ็นเซอร์แห่งประเทศไทย http://facthai.wordpress.com/