วันเสาร์ที่ 4 กรกฎาคม พ.ศ. 2552

"ไจก้า"ดองรถไฟฟ้าสีม่วง ซัดสัญญาที่1ไม่โปร่งใส บีบ"รฟม."ปรับลดวงเงิน

"ไจก้า"ดองรถไฟฟ้าสีม่วง ซัดสัญญาที่1ไม่โปร่งใส บีบ"รฟม."ปรับลดวงเงิน


 "ไจก้า"  ดองเค็มสัญญา  1  รถไฟฟ้าสายสีม่วง  ให้เหตุผลมีปัญหาความไม่โปร่งใส   วงเงินเกินจากกรอบที่   ครม.อนุมัติ  บีบ  รฟม.เคลียร์ปัญหาก่อนไฟเขียว  "รณชิต"   รับระบุไม่ได้เริ่มตอกเสาเข็มวันไหน  บิ๊ก  "บีเอ็มซีแอล"  โอดฉุดยอดผู้โดยสารรถใต้ดินไม่ถึงฝัน

     แหล่งข่าวจากกระทรวงคมนาคม  เปิดเผยถึงโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีม่วง  ช่วงบางซื่อ-บางใหญ่  ว่า  การที่องค์การความร่วมมือระหว่างประเทศของญี่ปุ่น  (ไจก้า)  ยังไม่มีท่าทีที่จะเห็นชอบโครงการก่อสร้างสัญญาที่  1  โครงสร้างยกระดับส่วนตะวันออก  ระยะทาง  12  กิโลเมตร  จำนวน  8  สถานี  จากบางซื่อ-เตาปูน  และสถานีเตาปูน-สะพานพระนั่งเกล้า  ซึ่งกลุ่ม  CKTC  Joint  Venture  นำโดย  บมจ.ช.การช่าง  และบริษัท  โตคิว  คอนสตรัคชั่น  จำกัด  เป็นผู้ชนะในการเสนอราคา  และมีการต่อรองราคา  กระทั่งคณะกรรมการ   (บอร์ด)   การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย  (รฟม.)  เห็นชอบที่ราคา   14,842  ล้านบาท  เนื่องจากเห็นว่าโครงการดังกล่าวมีปัญหาที่หลายฝ่ายตั้งข้อสังเกตถึงความไม่โปร่งใส  และมีราคาสูงกว่ากรอบวงเงินที่  ครม.อนุมัติไว้ที่  13,000  ล้านบาท

     "ฝ่ายบริหารและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องยังไม่สามารถที่จะเคลียร์ปัญหาต่างๆ   ที่เกิดขึ้นได้   และถ้าไจก้าอนุมัติให้ทั้งที่วงเงินเกินกรอบที่  ครม.อนุมัติ  อาจส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์ของไจก้าได้ในภายหลัง  ดังนั้นไจก้าจึงต้องการให้  รฟม.เคลียร์ปัญหาดังกล่าวให้ได้ก่อนจึงจะอนุมัติให้"  แหล่งข่าวกล่าว

     นายรณชิต  แย้มสะอาด  รองผู้ว่าการ  รฟม.กล่าวว่า  ระยะเวลาที่โครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีม่วงสัญญาที่  1  ที่ไจก้ายังไม่เห็นชอบ  จะเป็นไปตามแผนเดิมนั้นคงเป็นไปได้ยาก  เนื่องจากต้องรอการเจรจาปรับลดราคากับผู้รับงานทั้ง  3  สัญญาก่อนว่า  วงเงินเกินกว่ากรอบที่  ครม.ได้อนุมัติไว้ที่  36,000  ล้านบาทหรือไม่  ทำให้ยังไม่สามารถระบุได้ว่าการก่อสร้างสายสีม่วงจะเริ่มได้เมื่อไร

     นายสมบัติ  กิจจาลักษณ์  กรรมการผู้จัดการ  บมจ.รถไฟฟ้ากรุงเทพ  (BMCL)  กล่าวว่า   การก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีม่วงที่ล่าช้ากว่ากำหนด   ได้ส่งผลกระทบให้ยอดผู้โดยสารของ   BMCL   ไม่เป็นไปตามเป้าที่วางไว้ที่   300,000  เที่ยวต่อวัน  ซึ่งปัจจุบันอยู่ที่  200,000   เที่ยวต่อวัน  คาดว่าในปี  2552  จะมีจำนวนผู้โดยสาร  210,000  เที่ยวต่อวัน

     ทั้งนี้  สัญญาที่  2  โครงสร้างยกระดับส่วนตะวันตก  จากสถานีสะพานพระนั่งเกล้า-สถานีคลองบางไผ่  และงานก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา  ด้านทิศใต้ของสะพานพระนั่งเกล้า   มี  บมจ.ซิโน-ไทย  เอ็นจิเนียริ่ง  แอนด์  คอนสตรัคชั่น  (STEC)  เสนอราคาต่ำสุด   15,320  ล้านบาท  แต่  ครม.เห็นชอบกรอบวงเงินไว้ที่  12,600  ล้านบาท

     ส่วนสัญญาที่   3   ศูนย์ซ่อมบำรุงและอาคารจอดรถ  จำนวน  4  แห่ง  มีกลุ่ม  PAR   Joint   Venture  นำโดย  บมจ.เพาเวอร์ไลน์  เอ็นจิเนียริ่ง  (PLE)  บมจ.แอสคอน   คอนสตรัคชั่น  (ASCON)  และบริษัท  รวมนครก่อสร้าง  (ประเทศไทย)  จำกัด  เสนอราคาต่ำสุด  6,399  ล้านบาท  จากกรอบวงเงินที่  ครม.อนุมัติ  5,900  ล้านบาท.


 




Windows Live™: Keep your life in sync. Check it out.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

ผู้ติดตาม

คลังบทความของบล็อก

เกี่ยวกับฉัน

รูปภาพของฉัน
ต้องรู้เท่าทันในการรับรู้ข่าวสารจากทุกแหล่งข่าว/ FACT - Freedom Against Censorship Thailand กลุ่มเสรีภาพต่อต้านการเซ็นเซอร์แห่งประเทศไทย http://facthai.wordpress.com/