วันศุกร์ที่ 5 มิถุนายน พ.ศ. 2552

รีไซเคิลกระดาษลามิเนต ตลาดนี้มีอีกแยะ

วันที่ 04 มิถุนายน พ.ศ. 2552 ปีที่ 33 ฉบับที่ 4111  ประชาชาติธุรกิจ


รีไซเคิลกระดาษลามิเนต ตลาดนี้มีอีกแยะ





ในธุรกิจรีไซเคิล กระบวนการรีไซเคิลขยะนั้น หากพิจารณาดูแล้วจะพบว่ามีขยะบางชนิดที่หลายธุรกิจไม่รับซื้อกลับไป หนึ่งในนั้นก็คือกระดาษลามิเนต เช่น กระดาษสีเหลืองหลังสติ๊กเกอร์ กระดาษเคลือบตะกั่ว เช่น ซองบุหรี่ เป็นต้น

เพราะเมื่อแยกออกมาจากขยะทั้งหมดแล้ว การจะแยกเอาพลาสติกหรือตะกั่วออกจากกระดาษ ต้องมีกระบวนการในการคัดแยกอีกมากมาย

ช่องว่างทางการตลาดของรายนี้ ก็คือการนำเอาส่วนที่ไม่มีคนรับซื้อ สร้างกระบวนการคัดแยกกระดาษออกจากพลาสติกและอะลูมินั่ม แล้วจึงขายส่งเข้าสู่โรงงานรับซื้ออีกครั้งหนึ่ง

บริษัท เคมครีเอชั่น จำกัด เป็นหนึ่งในเหรียญทองสาขาสิ่งแวดล้อมในงาน International Invention, Innovation and Technology Exhibition หรือ ITEX "09 ซึ่งเป็นการแสดงนวัตกรรมเทคโนโลยีและผลิตภัณฑ์ระดับนานาชาติที่มีผู้เข้าเยี่ยมชมงานเป็นทั้งนักธุรกิจ นักประดิษฐ์ และนักเทคโนโลยีจากนานาชาติ ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย เมื่อกลางเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา

นายไพจิตร แสงไชย กรรมการผู้จัดการ บริษัท เคมครีเอชั่น จำกัด กล่าวว่า บริษัทเห็นช่องว่างตรงนี้และพัฒนาผลิตภัณฑ์เอนไซม์เพื่อใช้แยกกระดาษลามิเนตเพื่อนำกลับมาใช้ใหม่

ไพจิตรเริ่มจากการวิจัยและขายเอนไซม์ให้กับบริษัทผลิตนมพาสเจอไรซ์ขนาดใหญ่ที่มีกระบวนการนำเอากล่องนมเก่ามาผลิตใหม่



ซึ่งเราจะเห็นว่าบางบริษัทที่นำเอากล่องที่ไม่สามารถแยกอะลูมินั่มและพลาสติกออกได้นำมาแปรสภาพเป็นโต๊ะ-เก้าอี้

แต่นี่คือการนำกลับไปใช้ทั้งหมด

ไพจิตรเล่าว่า หลังจากขายเอนไซม์และซัพพลายกระดาษบางส่วนกลับไปสู่อุตสาหกรรมการผลิตแล้ว ตอนนี้บริษัทมีการขยายไลน์สร้างโรงงานต้นแบบเพื่อแยกกระดาษอะลูมินั่มและพลาสติกได้

หัวใจสำคัญก็คือการหาส่วนผสมของเอนไซม์ชนิดที่สามารถย่อยสลายกระดาษแต่ละแบบได้ ซึ่งกว่าจะได้เอนไซม์ที่ต้องการ ไพจิตรบอกว่ามีเอนไซม์ในห้องสมุดเอนไซม์ของเขากว่า 10,000 ชนิด

ตอนนี้บริษัทได้เริ่มทำเครื่องแยกกระดาษ โดยมีกระบวนการดังนี้

ในขั้นแรกเป็นการเตรียมกระดาษ จากนั้นเข้าสู่เครื่องแยก โดยใส่เอนไซม์ลงไป เพื่อแยกกระดาษและพลาสติกออกจากกัน แล้วจึงนำมาสู่เครื่องแยกกระดาษและพลาสติก ในส่วนของกระดาษก็นำมาอัดรวมกัน เตรียมขายเข้าโรงงานกระดาษ ส่วนพลาสติกก็แยกจำหน่ายต่อไป ซึ่งคาดว่าเครื่องต้นแบบดังกล่าวจะเสร็จในเดือนกรกฎาคม 2552 นี้

สำหรับเครื่องต้นแบบ ประมาณการว่าจะผลิตได้วันละ 30 ตัน นับว่าเป็นจำนวนที่ไม่น้อย สำหรับการออกงาน ITEX "09 ที่ผ่านมา มีนักธุรกิจจากมาเลเซีย 3 รายที่สนใจร่วมงานด้วย ซึ่งไพจิตรเล่าว่า การร่วมลงทุนในขณะนี้อยู่ในระหว่างพิจารณาเงื่อนไขกันอยู่ว่าจะร่วมงานกันในลักษณะใด

"ประการแรก คือขายเฉพาะเอนไซม์ ให้เขาไปลงทุนเอง ซึ่งตรงนี้เขาค่อนข้างจะเสียเวลาในการมองหาเครื่องจักรที่เหมาะ แบบที่ 2 คือเทิร์นคีย์ คือเราเอาเครื่องของเราที่พัฒนาเองทั้งหมดไปเซตระบบให้หมด พร้อมใช้งานได้เลย และแบบที่ 3 คือเราลงทุนในเรื่องเครื่องจักร ส่วนเขาเป็นคนซัพพลายวัตถุดิบให้"

ทั้ง 3 แบบนี้น่าจะมีการดำเนินการให้เสร็จสิ้นไม่เกินไตรมาสแรกของปีหน้าและเริ่มธุรกิจได้เลย

ซึ่งจากเครื่องต้นแบบมีการลงทุนไปแล้วราว 20 ล้านบาท โดยในโรงงานมีคนทำงานหลักๆ คือนักวิจัยพัฒนาราว 5 คนเท่านั้น

ไพจิตรเล่าต่อว่า ตอนนี้บางส่วนก็ได้เริ่มดำเนินการไปแล้ว และคาดว่าจนถึงปลายปีนี้น่าจะมีรายได้จากการขายกระดาษและพลาสติกราว 30 ล้านบาท

สำหรับไพจิตรแล้ว เกิดจากวงการกระดาษโดยแท้ โดยมาจากบริษัทที่ทำเรื่องกระดาษโดยเฉพาะ ทำมานานจนเริ่มมองเห็นช่องว่างที่ตนเองเห็นว่าน่าจะทำได้ จึงตัดสินใจออกมาตั้งบริษัทวิจัย และล่าสุดจะเปิดอีกบริษัทที่รับรีไซเคิลกระดาษลามิเนตโดยเฉพาะ

ไพจิตรเล่าว่าคนที่อยู่ในวงการนี้ไม่ได้เริ่มจากงานวิจัยเป็นหลัก แต่เนื่องจากไพจิตรมีทุกอย่างพร้อมแล้ว ตั้งแต่ความรู้เรื่องกระบวนการผลิตกระดาษจากบริษัทเดิม ความรู้เรื่องสายงานของซาเล้งที่มีโครงข่ายในการรับซื้อเชื่อมต่อกับบริษัทขนาดใหญ่ ซึ่งกลายมาเป็นกลไกหลักในการเสาะหาวัตถุดิบที่ต้องการ

โดยเฉพาะเศษกระดาษสติ๊กเกอร์ตามโรงงานต่างๆ บริษัทออกแบบ

ที่มีการทิ้งขยะเหล่านี้จำนวนมากอยู่แล้ว ดังนั้นเรื่องของเครือข่ายของการเสาะหาวัตถุดิบจึงไม่ใช่เรื่องใหญ่ สามารถที่จะมองหาวัตถุดิบซึ่งปัจจุบันได้จากในพื้นที่เสียมากกว่าคือโรงงานอุตสาหกรรมในจังหวัดฉะเชิงเทรา

ไพจิตรใช้เครื่องมือของรัฐในการลดต้นทุนในการเริ่มต้นวิจัยตัวต้นแบบและสร้างความเชื่อมั่นให้กับลูกค้า

เขาว่าบริษัทตอนเริ่มต้นนั้นค้นหาเอนไซม์ที่ต้องการ ลักษณะน้ำยาบางตัว โดยสั่งซื้อผ่าน TMC ทำให้ช่วยลดค่าใช้จ่ายบางส่วนได้ เพราะผู้ผลิตบางรายยินดีที่จะส่งตัวอย่างน้ำยามาให้ทดลองก่อน ทำให้ไม่ต้องเสียเงินในการสั่งซื้อน้ำยาในระยะเริ่มแรกซึ่งใช้ไม่มากมายนัก

แต่พอออกงานที่มาเลเซียในนามของภาครัฐทำให้เอกชนของมาเลเซียเกิดความเชื่อมั่นและนำมาซึ่งการเจรจาในวันนี้

ต่อเนื่องจากการเจรจา ในส่วนของโรงงานต้นแบบของศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยีเองมีพื้นที่สำหรับการบ่มเพาะและใช้เป็นสถานที่สำหรับภาคเอกชนคู่ค้าที่สนใจเข้ามาดูโรงงานและสามารถสร้างความเชื่อมั่นในระดับหนึ่งเช่นกัน

เอสเอ็มอีต้องรู้จักใช้ภาครัฐให้เป็นประโยชน์ ในขณะที่ศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยี (TMC) เองก็ได้ธุรกิจต้นแบบที่มีความแข็งแรงเป็นฐานให้กับธุรกิจอื่นต่อไป


หน้า 48
http://www.matichon.co.th/prachachat/view_news.php?newsid=02biz01040652&sectionid=0214&day=2009-06-04


check out the rest of the Windows Live™. More than mail–Windows Live™ goes way beyond your inbox. More than messages

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

ผู้ติดตาม

คลังบทความของบล็อก

เกี่ยวกับฉัน

รูปภาพของฉัน
ต้องรู้เท่าทันในการรับรู้ข่าวสารจากทุกแหล่งข่าว/ FACT - Freedom Against Censorship Thailand กลุ่มเสรีภาพต่อต้านการเซ็นเซอร์แห่งประเทศไทย http://facthai.wordpress.com/