วันอังคารที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2552

โล่-เหรียญรางวัลจากแท่งกระจก ซิวรองแชมป์กรุงไทยยุววาณิช

วันที่ 10 มิถุนายน พ.ศ. 2552 ปีที่ 19 ฉบับที่ 6768 ข่าวสดรายวัน


โล่-เหรียญรางวัลจากแท่งกระจก ซิวรองแชมป์กรุงไทยยุววาณิช


คอลัมน์ ไอคิวทะลุฟ้า

ปฤษณา กองวงค์




"ธุรกิจของเราสนับสนุนให้คนทำดี ทำดีแล้วได้รับการยกย่อง สังคมจะได้น่าอยู่ และยังช่วยประหยัดทรัพยากร ธรรมชาติ ช่วยลดโลกร้อนด้วย"

คำบอกเล่าของ เต นายสุรพล แซ่ยะ อายุ 19 ปี ปวช.ปี 3 คณะช่างกลโรงงาน แผนกช่างกลโรงงาน วิทยาลัยเทคนิคเชียงใหม่ จ.เชียงใหม่ ที่นั่งตำแหน่งประธานบริษัท "ฅนใจดี" (Kon-jai-dee) จำกัด ซึ่งประกอบธุรกิจ "ผลิตโล่และเหรียญรางวัลจากแท่งกระจก"

ล่าสุดธุรกิจนี้คว้ารางวัลรองชนะเลิศ กรุงไทย ยุววาณิช ปีที่ 7 ที่จัดขึ้นเพื่อปลูกฝังแนวคิด ประสบการณ์การเป็นผู้ประกอบการให้นักเรียนระดับมัธยมตอนปลายทั้งสายสามัญและสายอาชีพ

ภายในบริษัทมีสมาชิก 9 คน ที่ร่วมกันผลิตโล่รางวัลกระจก เหรียญรางวัลกระจก ของที่ระลึกต่างๆ ตามที่ลูกค้าต้องการ จากที่เห็นว่าโล่รางวัลต่างๆ มักเป็นพวกอะคริลิก จึงปิ๊งไอเดีย ว่าตัวกระจกที่เหลือทิ้งมากมายในสถานที่ต่างๆ สามารถนำกลับมาทำเป็นโล่รางวัลได้หรือไม่ กระทั่งพัฒนาเป็นชิ้นงานขึ้นมา



ด้วยความชำนาญ และฝีมือดี จึงได้รับความไว้วางใจให้ผลิตโล่เกียรติยศให้กับครูดีเด่นและครูเกษียณอายุราชการ จากสำนักงานเลขาธิการการอาชีวศึกษา รวมถึงหน่วยงานราชการต่างๆ

แม้เตจะเป็นประธานบริษัท ซึ่งทำงานด้านฝ่ายการตลาดแต่ได้ร่วมลงมือทำชิ้นงานด้วย กล่าวถึงการหาวัตถุดิบหลักในการสร้างงานว่า เศษกระจกโดยเฉพาะในวิทยาลัยก็มีมาก และหาจากโรงเรียนต่างๆ โดยถามไถ่ผ่านเพื่อนฝูงโรงเรียนอื่น หรือทราบข่าวจากอาจารย์ และขอให้อาจารย์ทำเรื่องขอเศษกระจกที่ไม่ใช้แล้ว รวมถึงขอซื้อต่อ ตามร้านขายกระจกที่กองทิ้งไว้จำนวนมาก ราคาตกกิโลกรัมละ 2-3 บาท บางครั้งเขาก็ให้มาฟรีๆ จากนั้นเราก็นำกลับมาคัดแยกคุณภาพเพื่อผลิตเป็นชิ้นงาน



ในขั้นตอนการออกแบบ เราจะมานั่งประชุมกัน เลือกแบบที่ดูดีและประหยัดเวลา ตรงตามที่ลูกค้าต้องการ จากนั้นออก แบบเสนอให้ลูกค้า จัดเตรียมกระจกและลงมือปฏิบัติ หลังทำโล่ก็ต้องมีกล่องใส่ ซึ่งเราใช้กล่องที่ผลิตจากกลุ่มแม่บ้านสันป่าข่อยที่ขายเป็นผลิตภัณฑ์โอท็อป

เตบอกว่า ปัจจุบันเศรษฐกิจไม่ดี น้ำมันแพง สิ่งที่ต้องคำนึงถึงคือค่าจัดส่งสินค้า จะทำอย่างไรไม่ให้เกิดความเสียหาย ส่วนแผนพัฒนาในอนาคตมองว่าจะใช้อะไรก็ได้ที่คนไม่เห็นคุณค่ามาประยุกต์ อาจเป็นไม้ แผ่นโลหะบางๆ หรือเศษวัสดุจากโครง การทำป้ายของสถานที่ต่างๆ เช่น เศษหินอ่อนที่เขาตัดทิ้ง ซึ่งทำให้เกิดภาวะโลกร้อน ก็คิดกันต่อว่าจะนำสิ่งเหล่านี้กลับมาเป็นผลิตภัณฑ์ของบริษัทได้อย่างไร

ช่วงที่มีงานเยอะคือปลายปีและต้นปี แต่ถ้าช่วงไหนว่างจะออกไปช่วยสอนการแกะกระจกให้ชาวบ้าน โดยจะสอดแทรกเรื่องการดำรงชีวิตแบบพอเพียง ที่อ.เชียงดาว อ.แม่ริม อ.สันป่าตอง จ.เชียงใหม่ เข้าไปสอนนักโทษที่ใกล้จะพ้นโทษ และเข้าไปที่ค่ายทหารที่อ.ปาย จ.แม่ฮ่องสอน ด้วย มีคนสนใจเข้ามาขอคำแนะนำ

เตเล่าถึงความเปลี่ยนแปลงหลังก้าวเข้าสู่ระบบธุรกิจว่า "ชีวิตเปลี่ยนไปมากครับ ได้เรียนรู้วิธีการใช้ชีวิตร่วมกัน ที่ต้องใช้ความสามัคคีในการทำงาน ได้พัฒนาตัวเองให้มีศักยภาพมากขึ้น จากตอนแรกไม่รู้เรื่องธุรกิจ บัญชี แล้วต้องออกไปพบลูกค้า ทำให้เราสามารถพัฒนาด้านการพูด เป็นการเพิ่มความกล้าหาญให้กับตัวเอง นอกจากนี้ การทำธุรกิจสิ่งสำคัญคือความซื่อสัตย์ต่อลูกค้าและเพื่อนร่วมทีม"

ผู้สนใจผลงานติดต่อได้ที่ บริษัท "ฅนใจดี" วิทยาลัยเทคนิคเชียงใหม่ อ.เมือง จ.เชียงใหม่ โทร. 08-7188-6614 หรือคลิกที่ www.cmtc.ac.th

หน้า 24
http://www.matichon.co.th/khaosod/view_news.php?newsid=TURONWIzVXdNVEV3TURZMU1nPT0=&sectionid=TURNeE1RPT0=&day=TWpBd09TMHdOaTB4TUE9PQ==

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

ผู้ติดตาม

คลังบทความของบล็อก

เกี่ยวกับฉัน

รูปภาพของฉัน
ต้องรู้เท่าทันในการรับรู้ข่าวสารจากทุกแหล่งข่าว/ FACT - Freedom Against Censorship Thailand กลุ่มเสรีภาพต่อต้านการเซ็นเซอร์แห่งประเทศไทย http://facthai.wordpress.com/