วันอาทิตย์ที่ 21 มิถุนายน พ.ศ. 2552

อนาคตบนเส้นด้าย

รายงานโดย :ทีมข่าวอุตสาหกรรม:
วันอังคารที่ 16 มิถุนายน พ.ศ. 2552
เสียงคร่ำครวญจากธุรกิจเอสเอ็มอีที่ได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจซบ

และ ถูกซ้ำเติมด้วยปัญหาการแพร่ระบาดของ ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ ชนิดเอ 2009 เอช1เอ็น1 ในบ้านเรา เวลานี้ไม่ได้มีเฉพาะเอสเอ็มอีของคนไทยเท่านั้นที่เดือดร้อน

หากแต่เอสเอ็มอีสัญชาติญี่ปุ่นที่ทำธุรกิจอยู่ในไทยก็พลอยได้รับแรงสะเทือนไปด้วย จนต้องออกมาร้องผ่านสถานทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทย ช่วยเป็นสื่อกลางประสานขอความช่วยเหลือไปยังรัฐบาลไทย ออกหน้าคุยกับสถาบันการเงินในประเทศให้ช่วยปล่อยกู้ต่อลมหายใจทางธุรกิจ เพราะผู้ประกอบการเอสเอ็มอีญี่ปุ่นก็ประสบชะตากรรมเดียวกับ ผู้ประกอบการไทย

นั่นคือความยากลำบากในการเข้าถึงเงินกู้ อันเนื่องมาจากความเข้มงวดของสถาบัน การเงิน

ยิ่งเศรษฐกิจย่ำแย่ สถาบันการเงินก็ยิ่งเขี้ยวในการปล่อยกู้

เป็นเรื่องน่าเห็นใจสำหรับธุรกิจรายเล็ก ทุกกลุ่ม ไม่ว่าจะของไทยหรือของต่างชาติ โดยเฉพาะผู้ประกอบการไทยที่ออกมาร้องขอความช่วยเหลือเป็นนานสองนานแล้ว ความช่วยเหลือก็ยังไม่ตกถึงมือสักที ก็อนุมานได้ว่าความช่วยเหลือที่จะตกถึงมือเอสเอ็มอีญี่ปุ่น ก็คงจะแห้วรับประทานเช่นกัน

เอสเอ็มอีไทยถึงขนาดออกมาขีดเส้นตายตัวเองด้วยซ้ำไปว่า นับจากเดือนมิ.ย.เป็นต้นไป ไม่เกิน 8 เดือน ถ้าเศรษฐกิจไม่ฟื้น กลุ่มเอสเอ็มอีคงพับฐานหมด

ที่ประคองตัวได้อยู่ทุกวันนี้ ผลสำรวจ โดยมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ก็ระบุว่า อาศัยอยู่ได้ด้วยเงินออมเป็นส่วนใหญ่

คิดจากธุรกิจที่ทำการสุ่มสำรวจทั้งหมด มีแค่ 20% ที่มั่นใจว่าจะเอาตัวรอดจากวิกฤตครั้งนี้ไปได้

กระนั้นอาจสงสัยกันว่า ในเมื่อเห็นกับตาว่าเอสเอ็มอีไทยยังอาการร่อแร่ ถูกรัฐทิ้งขว้างไม่เหลียวแลถึงเพียงนี้ เหตุไฉนธุรกิจเอสเอ็มอีญี่ปุ่นถึงได้ออกมาร้องขอความช่วยเหลือในภาวะแบบนี้

ประมวลจากเหตุการณ์ก็พอจะจับ ทิศทางได้ไม่ยาก เนื่องจากทุกคนเริ่มมีความหวังขึ้นมาอีกครั้งกับนโยบายกู้เงินก้อนโต 8 แสนล้านบาท มากระตุ้นเศรษฐกิจ ผ่านสารพัดโครงการกว่า 6,000 โครงการ จึงน่าที่จะมีบางโครงการจัดสรรมาถึงกลุ่มเอสเอ็มอีบ้าง

แต่หากตรวจดูจากรายละเอียดที่รมว.คลังชี้แจงถึงการใช้เงินกู้ก้อนนี้ กลับไม่พบว่า มีส่วนไหนระบุไว้อย่างชัดเจนว่าจะจัดสรรมาถึงธุรกิจรายย่อย

เอาแค่ว่างบอุดหนุนของรัฐบาลผ่านสถาบันการเงินเพื่อปล่อยกู้ช่วยเหลือเอสเอ็มอีภาคธุรกิจท่องเที่ยวก่อนหน้านี้ 5,000 ล้านบาท ณ วันนี้ยังเป็นประเด็นถกเถียงกันไม่จบ

ตั้งแต่ต้นเดือนมิ.ย.ที่ผ่านมา ถึงวันนี้ ก็ยังไม่พบว่ามีเอสเอ็มอีท่องเที่ยวรายใดเข้าถึงเงินก้อนนี้ และไม่รู้ด้วยซ้ำว่าเงินก้อนนี้ไปอยู่ที่ไหน มีการจัดสรรจริงหรือไม่

ในเมื่องบเก่ายังหาร่องรอยไม่เจอ งบใหม่ก็หวังได้ยาก อาการเอสเอ็มอีก็ซมพิษเศรษฐกิจ และพิษไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 เข้าไปทุกที

เส้นตายที่กำหนดไว้ 8 เดือน เผลอๆ อาจจะอยู่ได้ไม่ถึงด้วยซ้ำไป

ถ้าไม่อยากให้ธุรกิจคนไทยล้มละลายจนหมดเกลี้ยงไปจากระบบ เห็นทีรัฐบาลคงต้องเผื่อแผ่งบให้ตกถึงมือกลุ่มเอสเอ็มอีบ้าง

หากเปรียบเทียบกับกลุ่มเกษตรกรที่ขอ เท่าไหร่ก็จัดสรรงบเติมให้ตลอด แม้จะตกหล่นไปอยู่กับพวกโกงกินซะมาก เหมือนอย่างที่นายกรัฐมนตรีก็ยอมรับว่า

เงินที่หว่านไปให้เกษตรกรผ่านโครงการ รับจำนำกว่าแสนล้านบาท ถึงมือเกษตรกรแค่ 20% ของงบประมาณที่ถูกผลาญไป

ในกลุ่มเอสเอ็มอีที่ขอแต่ละรอบ วงเงิน ก็จะอยู่แค่หลักพันล้านบาท แต่ก็ยังไม่ได้ สักรอบ ครั้งนี้น่าจะทบทวนการเกลี่ยงบให้ ทั่วถึงอีกสักรอบ ก่อนลงมือกู้จริง

เพราะงบ 8 แสนล้านบาทนั้น คนไทย ทุกคนเป็นหนี้ร่วมกัน จึงเป็นสิทธิอันชอบ ธรรมที่จะได้รับการเหลียวแลจากรัฐอย่าง เท่าเทียมกัน

http://www.posttoday.com/business.php?id=52446

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

ผู้ติดตาม

คลังบทความของบล็อก

เกี่ยวกับฉัน

รูปภาพของฉัน
ต้องรู้เท่าทันในการรับรู้ข่าวสารจากทุกแหล่งข่าว/ FACT - Freedom Against Censorship Thailand กลุ่มเสรีภาพต่อต้านการเซ็นเซอร์แห่งประเทศไทย http://facthai.wordpress.com/