วันอาทิตย์ที่ 21 มิถุนายน พ.ศ. 2552

ชง 4 ข้อคิดบวก "อภิสิทธิ์" ร่วมขับเคลื่อน เมืองไทยยั่งยืน

วันเสาร์ที่ 20 มิถุนายน พ.ศ. 2552
ท่ามกลางการแบ่งฝักแบ่งฝ่ายของเมืองไทย ที่มีแต่จะทำให้ภาพรวมของประเทศแย่ลงๆ เอกชน 600-700 ราย ได้ระดมความคิดในทางบวกออกมา 4 ข้อ

เพื่อจะช่วยขับเคลื่อนประเทศไทยไปสู่การเติบโตอย่างมีเสถียรภาพยั่งยืน รวมทั้งจะนำข้อเสนอดังกล่าวเสนอต่อนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ในงาน CEO Forum 2009 วันที่ 20 มิ.ย.นี้ ซึ่งทาง กลุ่มเซ็นทรัล รีเทล คอร์ปอร์เรชั่น (ซีอาร์ซี) จัดขึ้นเพื่อสร้างสัมพันธ์ กับ 6,500 ผู้ผลิตจำหน่าย หรือ ซัพพลายเออร์ ที่ค้าขายกับซีอาร์ซี 9 กลุ่มธุรกิจ กว่า 400 สาขาในเครือ คือ ห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัล ห้างโรบินสัน ห้างเซน ท็อปส์ ซูเปอร์มาร์เก็ต เพาเวอร์บาย ซูเปอร์สปอร์ต โฮมเวิร์ค บีทูเอส และออฟฟิศดีโป

ทศ จิราธิวัฒน์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ กลุ่มซีอาร์ซี เล่าถึงข้อเสนอดังกล่าวว่า จาก 6,500 ซัพพลายเออร์ ที่มีรายได้รวมกันกว่า 1.5 ล้านล้านบาท เกิดการจ้างงาน 1 ล้านคน โดยรายได้รวมที่เกิดขึ้นมาจากส่งออก 20% และเป็นการส่งออกภายใต้ยี่ห้อของไทยเอง

ด้วยพลังการบริโภคที่มากถึงปีละ 1.5 ล้านล้านบาทดังกล่าว ผู้ประกอบการได้ระดมความคิดเพื่อที่จะช่วยกันแก้ปัญหาความแตกแยกในประเทศไทย ที่เลือกฝักเลือกฝ่ายจนทำให้ประเทศรวมแย่ลง “ที่ผ่านมาทั้งรัฐและเอกชนไม่ค่อยได้ปรึกษาหาความร่วมมือกัน ระหว่างรัฐกับรัฐ รัฐกับเอกชน หรือเอกชนกับเอกชนเอง ต่างคนต่างทำไปตามข้างหรือฝ่ายที่ตนเองเลือก จึงทำให้เมืองไทยมีแต่แย่ลง ไม่เหมือนต่างประเทศที่เขาร่วมมือกัน ช่วยกันฟื้นเศรษฐกิจ จึงถึงเวลาแล้ว โดยเฉพาะช่วงนี้ที่จะร่วมกันทำให้ไทยเติบโตอย่างยั่งยืน”

ทั้งนี้ ข้อเสนอแรกที่จะให้นายกฯ คือ การเพิ่มรายได้ประชากร โดยเฉพาะคนต่างจังหวัด ประเด็นนี้สำคัญ ถ้าสามารถทำได้จะทำให้ประเทศได้รับผลดีเต็มๆ เพราะคนต่างจังหวัดสัดส่วนมากถึง 90% ของทั้งประเทศ ถ้าทำให้คนรายได้น้อย มีเงินเพิ่มขึ้น จะเกิดการใช้จ่าย ทำให้เศรษฐกิจหมุนเป็นมัลติพลาย เอฟเฟกต์ได้หลายครั้งกว่าคนรวย ซึ่งอาจจะเก็บรายได้ที่เพิ่มขึ้น นอกจากนี้ยังช่วยในแง่ของมิติทางสังคม

ทศ

ที่ผ่านมารัฐทำได้ดีในการทำให้กรุงเทพฯ เมืองท่องเที่ยวต่างๆ เช่น ภูเก็ต สมุย เชียงใหม่ พัทยา เติบโต เห็นได้จากยอดขายของร้านในเครือในจังหวัดดังกล่าว แต่หลายจังหวัดกลับแย่ รายได้กระจายไม่ดี ขณะต่างประเทศมีการบริหารความเจริญให้กระจายไปหลายเมือง อย่างจีนไม่ใช่เจริญแค่เซี่ยงไฮ้ ปักกิ่ง กว่างโจว หรือเสิ่นเจิ้น เพราะรัฐและเอกชนทำงานร่วมกัน กำหนดการเติบโตของแต่ละเมืองอย่างครบวงจร ซึ่งเป็นแนวทางที่ไทยควรนำมาใช้

ข้อเสนอที่ 2 สนับสนุนการส่งออกยี่ห้อไทยหรือไทยแบรนด์ ส่งออกนับเป็นเรื่องสำคัญ แต่ไม่น่าจะถึง 60-70% ที่เป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจ อย่างที่พูดกัน เพราะยอดส่งออกต้องหักด้วยนำเข้า ถึงจะเหลือเป็นมูลค่าที่มาขับเคลื่อนเศรษฐกิจ แต่ทุกฝ่ายก็เห็นว่าการส่งออกเป็นเรื่องสำคัญ โดยเฉพาะการส่งออกไทยแบรนด์ ซึ่งผู้ค้าขายกับกลุ่มซีอาร์ซีมีกว่า 5,000 ยี่ห้อไทย ถ้าทำสิ่งนี้ได้ จะสร้างการเติบโตได้ระยะยาวและอย่างยั่งยืน มีเสถียรภาพ เห็นได้จากประเทศที่เจริญ เช่น ญี่ปุ่น ฝรั่งเศส สวิตเซอร์แลนด์ นอกจากนี้ตลาดจีน อินเดีย นับเป็นโอกาสของไทย เนื่องจากชอบสินค้าไทย แต่ผู้ผลิตไทยแบรนด์หลายรายอยากส่งออก แต่ไม่รู้จะทำอย่างไร

ข้อเสนอที่ 3 ส่งเสริมอุตสาหกรรมท่องเที่ยว นอกจากธรรมชาติ ศิลปวัฒนธรรมแล้ว 1 ใน 3 ที่ช่วยสนับสนุนการท่องเที่ยวจากการสำรวจ คือ ช็อปปิ้ง โดยเฉพาะประเทศที่รายได้น้อยแล้วกลับมามีเงินอย่างจีน อินเดีย กลุ่มดังกล่าวชอบมาเที่ยวเมืองไทย แต่เวลา ช็อปปิ้งจะไปประเทศอื่น จึงถึงเวลาที่จะลดภาษีนำเข้าสินค้าหรูแบรนด์เนมกลุ่มลักชัวรีแล้ว แม้เมื่อ 5-10 ปีก่อนการลดภาษีอาจกระทบสินค้าไทย แต่ขณะนี้เห็นแล้วว่าสินค้าไทยกับกลุ่มลักชัวรีเป็นคนละกลุ่ม เป้าหมาย และสุดท้ายข้อเสนอที่ 4 ความเชื่อมั่น การเมืองต้องนิ่ง จะช่วยสร้างความเชื่อมั่นอย่างมาก

http://www.posttoday.com/business.php?id=53142

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

ผู้ติดตาม

คลังบทความของบล็อก

เกี่ยวกับฉัน

รูปภาพของฉัน
ต้องรู้เท่าทันในการรับรู้ข่าวสารจากทุกแหล่งข่าว/ FACT - Freedom Against Censorship Thailand กลุ่มเสรีภาพต่อต้านการเซ็นเซอร์แห่งประเทศไทย http://facthai.wordpress.com/